จากไร่อ้อยในที่ดินแปลงแรกจำนวน 7 ไร่ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ของพ่อจื้อไฉ่- แม่ฟ้า เซี่ยงว่อง บิดา – มารดาของ 8 พี่น้อง ครอบครัว “ว่องกุศลกิจ” ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากมณฑลกว่างตง สาธารณรัฐประชาชนจีน
จากกิจการหีบอ้อยและเคี่ยวน้ำเชื่อมส่งขาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน กลายเป็นโรงงานน้ำตาลทรายแห่งแรก ในปี 2499
ผ่านความยากลำบาก ขยัน อดทน ต่อสู้ ในวิกฤตการณ์ต่างๆ จนปัจจุบันกลุ่มมิตรผลทำงานร่วมกับเกษตรกรมากถึง 3 แสนราย บนพื้นที่เพาะปลูกอ้อยถึง 2 ล้านไร่ มีโรงงานผลิตน้ำตาลที่ทันสมัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศถึง 8 แห่ง
กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 4 ของโลก มียอดรายได้เมื่อสิ้นปี 2559 89,758 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,630 ล้านบาท
ความ “พอเพียง” ที่ยิ่ง “เพิ่มพูน”
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผลกล่าวว่า มิตรผลประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเพราะน้อมนำหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ ผ่านปรัชญาองค์กร ใน 4 เรื่องหลักคือ มุ่งในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ตั้งอยู่ในความเป็นธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม
ส่วนปรัชญาของครอบครัวที่ถูกส่งต่อจากรุ่นแรกถึงรุ่นที่ 2 คือต้องซื่อสัตย์ ขยันและอดทน
“เมื่อก่อนเรายากจนมาก เรียกว่าครอบครัวเราแทบไม่มีเสื้อผ้าให้ลูกใส่ด้วยซ้ำไป แต่ด้วยความมุ่งมั่นประหยัด และพัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทเลยเติบโตขึ้นมา พร้อมๆกับการยึดหลักปฏิบัติสำคัญที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาความพอเพียงคือการเป็นคนดีคุณธรรม”
อิสระ กล่าวว่านอกจากการเป็นคนดี ความรู้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการทำธุรกิจ และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มมิตรผล ผ่านวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ของประเทศในปี 2540 (วิกฤต ต้มยำกุ้ง) มาได้
ก่อนปี 2540 กลุ่มมิตรผลกำลังโลดแล่นอยู่บนเส้นทางของความหวาน มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ถึง 5 แห่ง ในจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น สุพรรณบุรี กาฬสินธ์ รวมทั้ง ที่มลฑลกว่างสีประเทศจีนด้วย
“ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุกครอบครัวทุกบริษัท ใช้เงินแบบไม่ถูกต้อง คือใช้เกินตัวเช่น ใครชวนไปลงทุนอะไรก็ไป ทั้งที่ไม่มีความรู้พอ เห็นแค่ตัวเลขกำไรในอากาศ ด้วยความที่เศรษฐกิจ มันเติบโตมาก มิตรผลก็เหมือนกันเราไปกู้เงินต่างประเทศมาโดยไม่กลัวเรื่องความเสี่ยง เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ เลยเป็นหนี้จากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1.4หมื่นล้านบาท ”
ในปีนั้นไม่มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันปีใหม่ ในโรงแรมหรูเหมือนทุกปี แต่เปลี่ยนไปจัดบนชั้นดาดฟ้าของอาคารพนักงานแทน แน่นอนไม่มีใครกล้าถามถึงเรื่องโบนัส แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ใจพนักงานอย่างมากๆ คือไม่เพิ่มความเดือดร้อนให้พนักงานเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยการเอาคนออก
ถึงแม้มิตรผลจะขาดทุนจนล้นพ้นตัว แต่ไม่มีนโยบายปลดคนเลยแม้แต่คนเดียว กลับใช้ช่วงเวลานั้นจัดอบรมบุคลากรมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยจัดมาก่อน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ใช้เป็นอาวุธ ในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปพร้อมๆกับองค์กร
เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของมิตรผล ที่ถ้าบริหารจัดการไม่ดี อาจจะต้องเจอกับคำว่าล้มละลาย
ปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีน้ำตาลส่งออก ส่งผลให้รายได้หลักที่มาจากการส่งออกหายไปถึง 70%
อิสระ เคยเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ฟ้า” ว่าพอส่งออกได้บริษัทก็ฟื้นตัวได้เร็ว เพราะจากเดิมอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทกลายเป็น 50 บาท บวกกับผลประกอบการในเมืองจีนที่เคยขยายตัวไปก่อนหน้านั้น ส่งรายได้เข้ามาช่วยทำให้สถานการณ์บริษัทดีขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถปลดหนี้สิน 14,000 ล้านบาทภายในเวลา 5 ปี
สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยความรู้
ในปี 2540 มิตรผลยังได้ตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ในนาม บริษัทมิตรผลวิจัยพัฒนา อ้อยและน้ำตาล จำกัด รวมทั้งร่วมกับกรมอาชีวะศึกษาพัฒนาหลักสูตร การทำไร่อ้อยให้ นักเรียนระดับปวช. ปวส. เปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวไร่อ้อยเข้ามาเรียนด้วย
อิสระกล่าวว่า
“องค์กรจะโตและเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและแข่งกับผู้เล่นรายอื่นๆได้ เรื่องของความรู้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ดังนั้นจึงได้ให้ความสำคัญในเรื่อง R&D มาอย่างต่อเนื่อง และงานวิจัยนั้นจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานหรืององค์กรอื่นๆ ได้ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์และใช้ได้จริงสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด”
มิตรผลยังเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องนวัตกรรมตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ มีการจัดประกวดผลงานทางด้านนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสร้างจุดต่างจากคู่แข่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี 2547 ยังได้นำนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ โดยเลือกใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม หรือ GIS (Global Information System) ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด มาใช้วางแผนการจัดการการปลูกอ้อยของชาวไร่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การวางแผนก่อนปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวเพื่อเข้าหีบอ้อย และผลิตเป็นน้ำตาล
ปัจจุบันมิตรผลยังมีระบบการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม (The Mitr Phol ModernFarm System) ซึ่งเป็นองค์ความรู้และทักษะในการบริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Knowledge & Skill) และเทคโนโลยีสนับสนุนการทำไร่อ้อยที่ทันสมัย (Technology Support)
การพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทสามารถ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ภายใต้โครงการ From Waste to Value “ ไร้ของเหลือทิ้ง เปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า” โดยสามารถนำชานอ้อยไปผลิตไม้ปาติเกิล หรือนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งเอากากน้ำตาลหมักยีสต์เพือผลิตเป็นเอทานอล จนเป็นผู้ผลิตเอทานอล รายใหญ่ของเอเชีย ส่วนกากน้ำตาลหมักยีสต์ ส่วนที่เหลือเอามาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อกลับเอาไปใช้ในไร่ด้วย
“ร่วมกันอยู่ ร่วมเจริญ”
นอกจากการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสร้างเส้นทางสีเขียว ผ่านโครงการ From Waste to Value แล้ว ปัจจุบันมิตรผลยัง มีชาวไร่อ้อยกว่า 2 ล้านไร่ ที่ต้องดูแล ผ่านแนวคิด “ ร่วมกันอยู่ ร่วมเจริญ” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
แนวคิดนี้หมายถึงทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงงานน้ำตาล ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น เกษตรกร พนักงาน ลูกค้า ชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องต้องไปด้วยกัน
การดูแลชุมชนสิ่งแวดล้อม ในทุกๆโรงงานที่มิตรผลไปตั้งอยู่ การดูแล ช่วยเหลือชาวไร่อ้อย อย่างเช่นโครงการ มอบแสงสว่างให้ดวงตา แสงสว่างให้ชีวิตแก่ชาวไร่และประชาชนผู้มีปัญหาทางสายตากว่า 600 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงานของกลุ่มมิตรผล เป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเ นื่อง
“การที่จะเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้จะต้องมีอะไรหลายๆอย่างเป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญคือ องค์ประกอบเรื่องสังคมซึ่งเป็นสิ่งละเอียดอ่อนอย่างมากในปัจจุบัน องค์กรไหน เป็นอย่างไร ดูแลสิ่งแวดล้อมและ สังคมในเรื่องต่างๆ หรือเปล่า เขาควรจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนอย่างไร ซึ่งเรื่องแบบนี้เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากๆ”
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม คือนวัตกรรมด้านการบริหารการจัดการไร่อ้อย ตามแบบฉบับของกลุ่มมิตรผล ที่ได้รับการพัฒนามาจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาส ตามแบบประเทศผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลชั้นนำของโลก โดยนำมาพัฒนาต่อยอดและสร้างคุณค่าขึ้นอีกระดับให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและวิถีชีวิตภูมิปัญญาในการทำไร่อ้อยของประเทศไทย โดยช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมศักยภาพการแข่งขันด้านอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยในระยะยาว
โครงการ ‘ทำตามพ่อ’ คือการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่การประยุกต์ใช้ พร้อมตั้งเป้าหมายสร้าง “ศูนย์ปลูก เพ(ร)าะ สุข” 70 แห่ง ภายในปีพ.ศ. 2560 ก่อนขยายผลสู่ 700 และ 7,000 ครัวเรือนต้นแบบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และสร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน
อิสระ ย้ำว่า คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง จริงๆ แล้วมันไม่ได้หมายความว่าพอเพียง แต่หมายถึงการเพิ่มพูนด้วย เพราะว่าถ้ารู้จักประมาณตน มีการสร้างภูมิคุ้มกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีองค์ความรู้ และจริยธรรม ด้วย
“ผมมั่นใจว่าจริยธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ ธุรกิจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



