ตลาดกระดาษทิชชู่ แค่แผ่นบางๆ แต่รายได้ไม่ธรรมดา (วิเคราะห์)
เราไม่ขอถามว่าคุณใช้ทิชชู่แบรนด์ไหน
แต่เราอยากถามคุณว่าคุณเคยเห็นทิชชู่แบรนด์มายด์ เทนเดอร์ พินน์ ที่ขายตามร้านทุกอย่าง 20 บาท และร้านทั่ว ๆ ไปบ้างไหม
เราว่าคุณเคยเห็นวางอยู่ตามร้านอาหาร โต๊ะทำงานเพื่อน หรือแม้แต่ในบ้านคุณเอง ที่มีไว้ใช้แทนทิชชู่แบรนด์หลัก เพราะรู้สึกถูกกว่า และอื่น ๆ ในเหตุผลแบบฉบับของคุณ
แต่คุณรู้ไหมว่า กระดาษทิชชู่ห่อละ 20 บาทที่คุณใช้อยู่ มีรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท
กระดาษทิชชู่แบรนด์ที่เรากล่าวมาทั้งมายด์ พินน์ เทนเดอร์ เป็นหนึ่งในแบรนด์ทิชชู่ของบริษัท ริเวอร์โปร์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด
บริษัทที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตกระดาษทิชชู่รายแรกในไทย
เราขอเล่าสักนิดกว่า ในอดีต ประเทศไทย ยังผลิตทิชชู่ใช้เองไม่ได้ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาโดยตลอด
จนในปี 2509 หจก. อุตสาหกรรมกระดาษแม่น้ำ ได้นำเครื่องจักรผลิตกระดาษทิชชู่เข้ามาผลิตเองในประเทศไทย เพื่อทดแทนการนำเข้า
และขยายธุรกิจกระดาษทิชชู่ออกมาตั้งเป็นบริษัท ริเวอร์โปร์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน ริเวอร์โปร์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ทำ ตลาดกระดาษทิชชู่ ทั้งกลุ่ม Consumer และ Professional
ในกลุ่ม Consumer ประกอบแบรนด์ มายด์ เทนเดอร์ พินน์ และกระดาษอเนกประสงค์แมกซ์ที่เน้นกลุ่มงานครัวโดยเฉพาะ
ซึ่งแบรนด์ในกลุ่ม Consumer ทั้งหมดนี้ ใช้กลยุทธ์การตลาด 3 แนวทางได้แก่
1. แยกแบรนด์ตามดีไซน์แพ็กเกจ เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความชอบในแพ็กที่แตกต่างกันไป
โดยเฉพาะแบรนด์มายด์และเทนเดอร์ที่มีการนำคาแรกเตอร์การ์ตูนมาดีไซน์แพ็กเกจ
แบรนด์มายด์มีการนำคาแรกเตอร์โดราเอมอน มาดีไซน์เป็นแพ็กเกจ
แบรนด์เทนเดอร์นำคาแรกเตอร์นกทวิตตี้ และกระต่ายบักส์ บันนี มาดีไซน์เป็นแพ็กเกจ
การนำคาแรกเตอร์การ์ตูนมาดีไซน์เป็นแพ็กเกจ เรามองว่าสร้างจุดขายที่แตกต่างจากทิชชู่ในตลาดและทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นแพ็กเกจที่สดใส สามารถวางไว้บนโต๊ะและอื่น ๆ เพื่อใช้งานได้โดยไม่รู้สึกว่าเชย และยังเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับในคาแรกเตอร์นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
2. ความคุ้มค่าด้านราคา
เรามองว่ากระดาษทิชชู่ในกลุ่ม Consumer มีการตั้งราคาจำหน่ายที่ถูกกว่าทิชชู่แบรนด์หลัก เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น จาก Value for Money โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ไม่ยึดติดกับแบรนด์ และมองว่าทิชชู่คือกระดาษที่ช่วยเช็กสิ่งสกปรกและซับน้ำเท่านั้น
3. ช่องทางกระจายสินค้าตามร้าน
ทิชชู่เช่นแบรนด์มายด์ เทนเดอร์ และพินน์ มีการขายผ่านช่องทางร้าน 20 บาท และร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งเรามองว่าเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เน้น Value for Money ได้เป็นอย่างดี และการขายผ่านช่องทางเหล่านี้แทบจะไม่มีแบรนด์คู่แข่งมาเปรียบเทียบเหมือนกับการขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีแบรนด์ให้เลือกเปรียบเทียบเป็นจำนวนมาก และมีการแข่งขันกันเรื่องโปรโมชั่น ณ จุดขาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคอีกด้วย
ส่วนกลุ่ม Professional ทำตลาดภายใต้แบรนด์ River Pro ได้แบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Economy Medium และ Special เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านทิชชู่ที่แตกต่างไป
ทั้งทิชชู่ม้วนใหญ่สำหรับห้องน้ำ
ทิชชู่เช็ดมือ
ทิชชู่สำหรับใช้ในร้านอาหาร ห่อช้อนส้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ มีการรับจ้างผลิตทิชชู่ให้กับเฮาส์แบรนด์ของบิ๊กซีอีกด้วย
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ริเวอร์โปร์ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ มีผลประกอบการดังนี้
ปี 2561 รายได้ 1,711.71 ล้านบาท กำไร 0.64 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,700.83 ล้านบาท กำไร 25.67 ล้านบาท
และปี 2563 รายได้ 1,472.24 ล้านบาท กำไร 85.31 ล้านบาท
ซึ่งเรามองว่ารายได้ที่ลดลงในปี 2563 ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่หายไปในกลุ่ม Professional ที่มีความต้องการใช้กระดาษทิชชู่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่าง ๆ ที่ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น และออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง และการหายไปของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย
I-
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ