จากสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยในประเทศไทยที่ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และจะก้าวสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ในอีก 9 ปีข้างหน้า รวมถึงอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานในปัจจุบันที่มีแนวโน้มลดน้อยลง
สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบและสร้างปัญหาในหลายประเด็น โดยหนึ่งในประเด็นปัญหาที่ควรรีบวางแผนเตรียมรับมือ คือ “การที่ผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุมีเงินออมไม่เพียงพอในช่วงชีวิตหลังเกษียณ”
Marketeer มีโอกาสได้พูดคุยกับ “สาระ ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าว รวมถึงบทบาทของเมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะบริษัทประกันที่ใกล้ชิดกับชีวิตคนไทย
“เรื่องสังคมผู้สูงวัยในไทย จริง ๆ เกิดขึ้นนานแล้ว คนที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณควรเป็นวัยที่มีเงิน มีการออมเงินตั้งแต่เริ่มทำงานสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นในสังคมไทยสำหรับคนที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณส่วนใหญ่ คือ ไม่มีเงิน หรือมีเงินออมไม่เพียงพอ”
“เมืองไทยประกันชีวิต เป็นบริษัทของคนไทยได้เล็งเห็นถึงปัญหาและพร้อมที่จะทำเพื่อสังคม โดยจะใช้ความชำนาญและองค์ความรู้ทั้งหมดเท่าที่มี เพื่อให้เกิดผลดีต่อสังคมให้มากที่สุด”
Financial Literacy หรือ ความรู้ความเข้าใจหรือทักษะทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออม และการบริหารจัดการความเสี่ยงการลงทุน ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
“หนึ่งในแนวทางสำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ คือ จะต้องทำให้คนมีความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เมืองไทยประกันชีวิตได้ทำมาโดยตลอด โดยให้ความรู้ทางการเงินทั้งพนักงานผู้บริหารทุกระดับและสังคม ในขณะเดียวกันได้กระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนหันมาออมเงินหรือวางแผนเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น”
สาระกล่าวต่อ “ในฐานะที่เราเป็นบริษัทประกันที่ดูแลใกล้ชิดกับคน และมีความชำนาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์การวางแผนและบริหารความเสี่ยงในแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่เรื่องการคุ้มครองความเจ็บป่วยที่มาจากปัญหาสุขภาพหรืออุบัติเหตุ การออม ไปจนถึงการลงทุน ถ้าทุกคนเข้าใจและรู้จักใช้ หลักประกันนี้เข้ามาบริหารจัดการในชีวิต ก็จะช่วยทำให้มีวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งจะเกิดประโยชน์ระยะยาวต่อไปจนถึงวัยเกษียณได้”
“ผมมองเห็นและเชื่อมาโดยเสมอว่า คนทุกคนไม่ต้องการเป็นภาระผู้อื่น ดังนั้นสิ่งที่เราจะช่วยได้ คือ จะทำอย่างไรให้เขาสามารถยืนหยัดด้วยตนเอง พึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระใครอื่น ทั้งช่วงหลังเกษียณและช่วงก่อนเกษียณที่ยังสามารถทำงานสร้างรายได้อยู่ในปัจจุบัน”
“ประกันไม่ใช่เรื่องมรดก แต่หมายรวมถึงทุนสำรองชีวิตด้วย บางคนอาจจะมีสวัสดิการ มีฐานะการเงินที่ดี แต่แทนที่จะเก็บเงินไว้รักษาตัวยามเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว สู้แบ่งเงินบางส่วนมาจ่ายเบี้ยประกันเพื่อดูแลคุ้มครองเรื่องสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ประกันบางประเภทถือเป็นเครื่องมือทางการเงิน หรือเป็น Financial Instrument ที่ช่วยเรื่องบำนาญและการลงทุนในเวลาเดียวกัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ องค์ความรู้ทางด้านการเงินที่ เมืองไทยประกันชีวิต พยายามกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อเป็นรากฐานในการพึ่งตนเองได้เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ”
“ที่ผ่านมาเราได้ทำโปรแกรมให้ความรู้ด้านการเงินกับเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ให้เรียนรู้เรื่องการเงิน การออม และการประกัน โดยมีอาสาสมัครที่เป็นพนักงานของเมืองไทยประกันชีวิตไปให้ความรู้”
“อย่างเมื่อก่อนมีโครงการ ‘Fast Program’ และโครงการ ‘Young Financial Star Competition’ ที่ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม”
แต่สาระมองว่าสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและเริ่มทำให้เกิดผลได้เลย คือ การให้ความรู้กับคนในองค์กร เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและจับต้องได้
“เรามีโปรแกรม internal ของตัวเอง ที่ให้ความรู้กับคนในองค์กรทั้งพนักงานและตัวแทนประกันในเรื่อง Financial Literacy ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบประกัน เพื่อให้ตระหนักถึงการออมและการวางแผนการเกษียณ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการเงินอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังรวมถึงการดูแลป้องกันตัวเอง จัดการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อในอนาคตแม้เขาจะเกษียณแล้ว แต่ก็ยังสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญหากบริษัทฯ สามารถพัฒนาให้เขาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้ด้วย ผมว่าจะเกิดประโยชน์ให้กับตัวเขาได้มากกว่า เพราะสามารถส่งต่อให้ผู้อื่นมีความรู้ทักษะทางการเงินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตัวแทนประกันเกิดความยั่งยืนในเส้นทางอาชีพ”
“เมืองไทยประกันชีวิต เป็นองค์กรที่มีจำนวนพนักงานและตัวแทนที่ค่อนข้างมาก ถ้าพนักงานและตัวแทนประกันได้เริ่มลองวางแผนหรือเริ่มมีความรู้ทางการเงิน อาจจะส่งให้กลายเป็น Sandbox ในเรื่องการส่งเสริมให้คนมี Financial Literacy มากขึ้น และอาจกลายเป็นต้นแบบที่ยกระดับนำไปใช้ในวงกว้างมากขึ้นได้”
Reskill ติดอาวุธให้คนในองค์กร
การให้ความรู้ด้านการเงินคือเรื่องสำคัญก็จริง แต่เมื่อโลกหมุนเร็ว mindset และความรู้ใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นตลอดเวลาด้วย ทักษะที่เคยมีในอดีตอาจตกรุ่นได้เร็วกว่าที่คิด สาระจึงเห็นว่าการ reskill เพิ่มทักษะใหม่ คือเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการติดอาวุธให้กับพนักงานและตัวแทนนอกเหนือจากความรู้ด้านการเงิน
“โลกหมุนเร็วมากและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์โควิด ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เรื่องของเทคโนโลยีเข้ามีบทบาทมากขึ้น บางเนื้องานหายไป แต่คนไม่จำเป็นต้องหายตามไปด้วย ตราบใดที่เขายังเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องใหม่ที่เรียนรู้เพิ่มเติม อาจใกล้เคียงกับพื้นฐานความรู้ความชำนาญที่มีอยู่เดิมก็เป็นได้”
“องค์กรในต่างประเทศมีการเตรียมความพร้อมของพนักงานก่อนเกษียณ ให้สามารถประกอบอาชีพหรือมีทักษะอื่นได้ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของ digital skill และอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)”
ที่ผ่านมา เมืองไทยประกันชีวิต ส่งเสริมให้พนักงานของเรามีความรู้ที่มากขึ้น ทั้งความรู้ในธุรกิจหลักขององค์กร อย่างเช่น การประกัน รวมถึงทักษะใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทคโนโลยี ที่สาระเน้นย้ำว่า “การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีไม่มีเรื่องอายุเป็นข้ออ้าง”
“ตอนนี้องค์กรต้องการคนที่มีทักษะเรื่องข้อมูลทั้ง data analytics (การวิเคราะห์ข้อมูล) และ data science (การหา insight จากข้อมูล เพื่อตอบคำถามสิ่งที่เกิดขึ้น) จึงมีนโยบายส่งพนักงานให้เข้าอบรมเรียนรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ มีการให้ทุนกับพนักงาน เรียนรู้การทำ Online Live Event และ Virtual Event เพื่อสามารถปรับตัวให้ได้ท่ามกลางยุค New Normal อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับ SkillLane สถาบันออนไลน์ที่มีคอร์สเพิ่มทักษะต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อหวังว่าทักษะความรู้ที่พนักงานได้เรียนรู้เพิ่มเติมจะสามารถนำไปใช้ต่อยอดหลังเกษียณได้”
“อย่างไรก็ตาม ภายใต้การสร้างองค์ความรู้ด้านการเงินและการ reskill ยังมีปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น การสื่อสารไปยังพนักงานทุกระดับ การที่พนักงานบางส่วนไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ติดอยู่ใน Comfort Zone และการที่จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายในองค์กรร่วมมือกันทำอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียว เป็นสิ่งที่ปัจจุบันแทบจะทุกองค์กรพยายามผ่านไปให้ได้
สาระทิ้งท้ายว่า “ทุกวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนโดยยึดหลักของ ESG ทั้งนี้เมืองไทยประกันชีวิตในฐานะบริษัทประกัน มีตัว G (Governance) ที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งด้วยกฎหมาย ที่กำกับดูแลอยู่ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับตัว E (Environment) หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ Net Zero Project ที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”
“แต่สิ่งที่เราเน้นให้น้ำหนักมากที่สุดคือตัว S หรือ Social เพราะบริษัทประกันเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับคนและสังคม เราจึงให้ความสำคัญกับตัว S หรือเรื่องสังคมมาก เพราะมีอีกหลายสิ่งที่เราในฐานะบริษัทประกันอยากจะมุ่งทำและพัฒนาต่อเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน”
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



