วัตสัน ความท้าทายที่ต้องเจอในวันที่อายุเลยวัยเบญจเพสแล้ว (วิเคราะห์)

ในปีนี้ ร้านสุขภาพและความงามที่ชื่อว่าวัตสัน มีอายุมากถึง 26 ปี ในประเทศไทย เลยวัยเบญจเพสมาเป็นที่เรียบร้อย

ในวัยเบญจเพสของวัตสัน เป็นช่วงเวลาที่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย และวัตสันพาตัวเองผ่านวัยเบญจเพสและความท้าทายจากโควิด-19 ผ่านกลยุทธ์ O+O (Offline + Online) เชื่อมโยงช่องทางการขายสินค้าผ่านออนไลน์และหน้าร้านเข้าด้วยกัน ผ่านบริการแชตแอนด์ช้อป ที่ลูกค้าสามารถแชตไปสอบถามโปรโมชั่น สั่งซื้อสินค้า พร้อมบริการส่งถึงบ้าน หรือรับที่สาขา, บริการช้อปสินค้าผ่านเว็บไซต์วัตสัน, อีมาร์เก็ตเพลส

ตลอดจนจับมือกับ SkinX แพลตฟอร์มพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับยาที่สั่งจ่ายผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ที่วัตสัน และเรามองว่าการที่วัตสันดึงให้ลูกค้า SkinX เข้ามาที่ร้านวัตสันได้ โอกาสที่พวกจะเดินดูสินค้าอื่น ๆ และซื้อกลับไปจะมีเพิ่มขึ้น

และยังขยายสาขาปีละ 50 สาขา รองรับการเติบโตในอนาคต

จนปัจจุบันลูกค้าวัตสันที่ใช้จ่ายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ มากกว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าเฉพาะหน้าร้านถึง 3 เท่า

แม้วัตสันจะได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่ลดลงก็ตาม

เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของวัตสันก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด กับช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่โควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย

วัตสันมีรายได้รวม และผลกำไรที่ลดลง

ในปี 2562 วัตสันมีรายได้รวม 19,475.78 ล้านบาท กำไร 1,831.87 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 18,373.41 ล้านบาท กำไร 1,659.58 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 16,633.67 ล้านบาท กำไร 1,203.00 ล้านบาท

โดยรายได้ของวัตสันส่วนใหญ่ยังมาจากช่องทางหน้าร้านเป็นหลัก

ในปี 2564 สมาคมค้าปลีกไทย มองตลาดสุขภาพและความงามในปี 2564 เติบโต 1.5 เท่า

การเติบโตของตลาดสุขภาพและความงามในปี 2564 มาจากสินค้าดูแลสุขภาพ  และการป้องกันดูแลตัวเองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงสินค้ากลุ่มเส้นผมที่มีการเติบโตจากคนทำสีผมที่บ้านมากขึ้น

สำหรับตลาดสุขภาพและความงามในครึ่งปีแรก 2565 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น และเชื่อว่าอีกครึ่งปีที่เหลืออยู่ตลาดจะเติบโตอย่างชัดเจน

การเติบโตของตลาดครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์สุขภาพและความงาม ต่างอัดแคมเปญการตลาดต่าง ๆ เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินผู้บริโภคที่เริ่มให้มากที่สุด จากการเห็นโอกาสการเติบโต

ประกอบกับแบรนด์ร้านสุขภาพและความงามต่างเห็นโอกาสและเปิดเกมการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินผู้บริโภคเช่นกัน

และวัตสันจะทำอย่างไรที่จะพาตัวเองสร้างการเติบโตในปีที่ 26 บนความท้าทายของผู้บริโภคชาวไทยที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น

 

พสิษฐ์ มั่นคงขันติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ วัตสัน ประเทศไทย ได้บอกกับเราในงาน วัตสัน ประเทศไทย เปิดวิสัยทัศน์ครึ่งปีหลัง 2565 ว่า

ความท้าทายในทุก ๆ ปีของวัตสันคือ ผู้บริโภคมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น อยากได้สินค้าที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้น

และวัตสันต้องก้าวข้ามความท้าทายนี้ด้วยการหาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มให้มากที่สุด

ทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็น Core Target และกลุ่มอื่น

ผู้บริหารวัตสันให้ข้อมูลว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18-39 ปี จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่กินสัดส่วนถึง 50% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเข้ามาเป็นลูกค้าวัตสันจากภาพลักษณ์ของแบรนด์ สินค้า แคมเปญโปรโมชั่น และการทำตลาดในรูปแบบต่าง ๆ

แต่กลุ่มที่อยู่วัตสันมานานตั้งแต่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ที่เริ่มมีอายุมากขึ้นตามอายุของแบรนด์วัตสัน เป็นกลุ่มที่มีความท้าทายในการรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ให้ไปซื้อสินค้าจากที่อื่น

เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่สินค้าที่จำหน่ายในวัตสันอาจจะไม่เหมาะกับคนกลุ่มนี้เท่าไรนัก

ความท้าทายนี้ทำให้เราเห็นวัตสันนำสินค้าที่เหมาะกับความต้องการ เช่น วิตามินเสริมอาหารที่เหมาะสำหรับวัย โปรตีนสำหรับผู้สูงอายุ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เข้ามาจำหน่ายในวัตสันมากขึ้น

นอกจากกลุ่มลูกค้าที่เติบโตมากับวัตสันแล้ว ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือกลุ่มลูกค้าเดิมที่เคยเป็นลูกค้าประจำ จะห่างหายไปในช่วงที่คลอดลูก และจะกลับมาใหม่เมื่อลูกโต

เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของครอบครัวที่มีลูกแรกเกิดจะใช้ไปกับสินค้าของทารกเป็นหลัก และร้านวัตสันไม่มีสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มนี้

ในปัจจุบันร้านวัตสันสามารถรองรับสินค้าได้เพียง 7,000 SKU โดยเฉลี่ย ทำให้ไม่สามารถวางสินค้าได้มากพอเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม

ความท้าทายที่จะรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้พสิษฐ์จึงเลือกนำสินค้าแม่และเด็กมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของตัวเองที่สามารถวางสินค้าจำหน่ายใน SKU ที่มากแค่ไหนก็ได้ตามต้องการ ซึ่งในปัจจุบันช่องทางเว็บไซต์วัตสันมีสินค้ามากกว่า 15,000-16,000 SKU

นอกเหนือจากความท้าทายที่กล่าวมา วัตสันยังมองเห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน

ประกอบด้วย

ขยายไปยังกลุ่มผู้ชายผ่านเครื่องสำอาง ด้วยการเปิดตัวแป้งฝุ่นโปร่งแสงและลิปสำหรับผู้ชายภายใต้แบรนด์ DERMACTION PLUS BY WATSONS เข้ามานำร่องเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทยเป็นประเทศแรก จำนวน 4 SKU

เหตุผลที่วัตสันเลือกทำตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย มาจากการมองเห็นสกินแคร์ในกลุ่มผู้ชายมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มผู้ชายยังมีความสนใจที่จะใช้เครื่องสำอางมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ซีรีส์วายได้รับความนิยม

ผู้บริหารวัตสันให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันกลุ่มผู้ชายค้นหาคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายถึง 30% ของการหาในเซกเมนต์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

และที่ผ่านมายังไม่มีเครื่องสำอางเจาะกลุ่มผู้ชายเท่าไรนัก ทำให้ผู้ชายจำเป็นต้องใช้แป้งเด็ก หรือเครื่องสำอางของผู้หญิงแทน

นอกเหนือจากการมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ใหม่ ๆ ในกลุ่มลูกค้าผู้ชาย

วัตสันยังมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตผ่านการขยายสาขาให้ครอบคลุมยิ่งกว่าเดิม

เพราะพิสิษฐ์มองว่าหน้าร้านเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าให้กับลูกค้าผ่านการเข้ามาจับดูสินค้า และทดลองสินค้าตัวอย่าง

ในปีนี้วัตสันมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 50 สาขา เพื่อให้ร้านวัตสันมีเครือข่ายสาขาเกือบ 700 สาขาทั่วประเทศ ลงไปในระดับอำเภอ จากการมองเห็นผู้บริโภคในระดับอำเภอมีความสนใจในสินค้าสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้น

แม้จะขยายสาขาลงลึกในระดับอำเภอแต่การขยายสาขาของ วัตสัน ยังคงไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด มีจังหวัดอุทัยธานี และหนองบัวลำภูที่ยังไม่สามารถเข้าไปเปิดสาขาได้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ไม่มีห้างหรือศูนย์การค้า

ทำให้ผู้บริหารวัตสันอาจเลือกพื้นที่ในตลาดสาขาในอนาคตแทน

อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนสาขาของวัตสันในประเทศไทย พิสิษฐ์ตั้งเป้าหมายขยายได้มากถึง 1,000 สาขาภายใน 7 ปีเพื่อให้วัตสันสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมพื้นที่ที่สุด

I-

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online