ราคาลิเทียม แพง ส่งผลอย่างไรต่อตลาดยานยนต์พลังงานสะอาด (วิเคราะห์)
Benchmark Market Intelligence บริษัทอังกฤษด้านที่ปรึกษาและข้อมูลของลิเทียมเพื่อนำไปใช้การผลิตแบตเตอรี่ เผยว่า มิถุนายนปีนี้ราคาลิเทียมขึ้นมาอยู่ที่ 62,000 ดอลลาร์ (ราว 2 ล้านบาท) ต่อตันแล้ว
เพิ่มขึ้นจาก 10,000 (ราว 362,000บาท) ต่อตันเมื่อช่วงมกราคม ท่ามกลางความต้องการแร่สำคัญชนิดนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจากการขยายตัวของตลาดรถ EV และความจำเป็นต่อกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกด้วย
โลกกำลังเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดซึ่งอุตสาหกรรมที่จริงจังต่อเรื่องนี้มากสุดคือยานยนต์ เห็นได้จากค่ายรถทุกค่ายต่างก็ทยอยลดการผลิตรถใช้น้ำมัน
และหันไปผลิตรถ EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีค่ายรถ EV ทั้งจากประเทศซีกโลกตะวันตกและของจีนผุดขึ้นมากมาย โดยมี Vinfast จากเวียดนาม เป็นน้องใหม่ที่ประมาทไม่ได้
ผู้บริโภคก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มารวมกันยอดขายรถ EV ทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้น จาก 2,200,000 คันในปี 2019 เพิ่มเป็น 3,200,000 คันในปีต่อมา และปี 2021 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 6,300,000 คัน พร้อมการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2030 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 26,700,000 คัน
สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ค่ายรถต้องเร่งพัฒนาและผลิตรถ EV ออกสู่ตลาดเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น จนส่งผลสืบเนื่องให้ลิเทียม หนึ่งในแร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่ รถ EV เป็นที่ต้องการมากขึ้น และ ราคาลิเทียม แพงขึ้นมา
ตามข้อมูลของบริษัท Benchmark Market Intelligence ระบุว่า เมื่อเมษายนที่ผ่านมาราคาลิเทียมเคยพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 78,000 ดอลลาร์ (ราวเกือบ 3 ล้านบาท) ต่อตัน แม้มิถุนายนที่ผ่านมาลงมาอยู่ที่ 62,000 ดอลลาร์ (ราว 2 ล้านบาท) ต่อตันแล้ว แต่ก็เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจาก 10,000 ดอลลาร์ (ราว 362,000 บาท) ต่อตันเมื่อช่วงมกราคม
ราคาที่พุ่งพรวดดังกล่าวยังมาจากลิเทียมมีความสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั้งอุปกรณ์สื่อสารระบบ 5G เครื่องกักเก็บพลังงาน และอุปกรณ์ทำความเย็นไปจนถึงยานอวกาศ
นี่จึงหมายความว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องแย่งชิงลิเทียมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้นในอนาคต ราคาลิเทียมคงจะแพงขึ้นไปอีก และยังส่งผลสืบเนื่องให้ราคารถ EV แพงขึ้นตามไปด้วย
สิ่งที่ต้องจับตามองจากนี้คือความเคลื่อนไหวของทั้งค่ายรถและบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตแล้ว คงต้องหันไปลงทุนในเหมืองลิเทียมด้วย เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและรับประกันว่าจะมีลิเทียมป้อนกระบวนสายพานการผลิตอยู่เสมอ
ทว่าค่ายรถ และบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงบริษัทเหมืองก็ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะกับรัฐบาลประเทศที่มีลิเทียมอยู่ เช่น ชิลี โบลิเวีย เซอร์เบีย โมแซมบิกและคองโก ที่แม้อยากทำเงินจากแร่ดังกล่าวแต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะการทำเหมืองลิเทียมใช้น้ำในปริมาณมาก และยังปล่อยสารพิษ เช่น บอแร็กซ์ โพแทสเซียม และแมงกานีส สู่แหล่งน้ำอีก
ซ้ำร้ายบางประเทศที่อุดมไปด้วยลิเทียม เช่น คองโก ก็ยังมีปัญหาใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเหมือง
อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ บทบาทและความเคลื่อนไหวของจีนต่อตลาดลิเทียม เพราะแม้มีแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศอยู่ แต่จีนมีเทคโนโลยีในการนำลิเทียมไปผลิตเป็นแบตเตอรี่ที่ก้าวหน้า
CATL ของจีนยังเป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV รายใหญ่ของโลกและบริษัทร่วมทุนของ CATL ก็เพิ่งปิดดีลใหญ่ มูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,266 ล้านบาท) ซื้อลิเทียมจากเหมืองใหญ่ในโมแซมบิกอีกด้วย /aljazeera, statista, dw
–
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ