กระบวนการควบรวมล่าช้าไปจากเดิมจากการเลื่อนเวลาพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับดีลนี้ของ กสทช. ที่ควรจะได้รับคำตอบและความชัดเจนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายใน 90 วันหลังจากทรูและดีแทคยื่น Filling และแผนธุรกิจต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565
แต่ในวันนี้ภาพความชัดเจนและเงื่อนไขการควบรวมยังคงไม่ได้รับความชัดเจนจาก กสทช. ทำให้ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ซิกเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป บริษัทแม่ดีแทค จับมือกันออกมาเล่าถึงวัตถุประสงค์การควบรวมกิจการทรูและดีแทคกับสื่อมวลชนอีกครั้ง
เพื่อที่จะเล่าถึงทิศทางของทรูและดีแทคที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ กสทช. ออกมาแจ้งเงื่อนไขที่ทรูและดีแทคต้องปฏิบัติตามเมื่อการควบรวมบรรลุผล
การที่ศุภชัยใช้คำว่าเงื่อนไขแทนคำว่าอนุมัติการควบรวมจาก กสทช. เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้ศุภชัยแจ้งว่า ตาม พ.ร.บ. ควบรวมธุรกิจปี 2561 ทรูและดีแทคสามารถควบรวมกิจการได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กสทช.
เพียงแต่ กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวกต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งทรูและดีแทคยินดีที่จะหารือเพื่อปรับและทำตามเงื่อนไข
แม้การควบรวมทรูและดีแทคไม่ต้องขออนุมัติจาก กสทช.
แต่ดีลนี้ก็ไม่สามารถควบรวมได้ทันทีเนื่องจากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการควบรวมตามอำนาจที่ กสทช. มีอยู่ ซึ่งถ้าเกิดข้อโต้แย้งขึ้นจะต้องไปพิจารณาต่อในศาลปกครอง ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
ซึ่งความล่าช้าในครั้งนี้มาจากการเปลี่ยนผ่านของคณะ กสทช. และคาดการณ์ว่า กสทช. จะมีข้อสรุปเงื่อนไขการควบรวม ภายในเดือนกันยายน 2565
และเมื่อถึงวันนี้ทรูและดีแทคจะเดินหน้าควบรวมกิจการต่อไปจนบรรลุผล
แม้วันนั้นจะไม่มาถึง แต่ศุภชัยและซิกเว่ ได้ให้เหตุผลการควบรวมนี้สำเร็จจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการแข่งขันในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่
1. สองบริษัทที่ไม่แข็งแกร่งด้านการเงินลงทุน จะมีพลังและความสามารถนำเทคโนโลยีสูง และศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตลาดในอนาคตมาให้บริการได้
ศุภชัยกล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมารายได้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากวอยซ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้ส่งข้อความแทบไม่มีเหลือ
การลดลงของรายได้นี้มาจากสนามการแข่งขันโทรคมนาคมเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือไม่ได้แข่งกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น
แต่เป็นการแข่งขันกับผู้ประกอบการด้านดิจิทัลมีเดียและอื่น ๆ ระดับโลกเข้ามาแข่งขันร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม
เมื่อมองไปที่รายได้ของดีแทคในไตรมาสแรกของปี 2565
ทรูมีรายได้รวม 35,138 ล้านบาท ขาดทุน 1,617.08 ล้านบาท
ดีแทคมีรายได้รวม 20,131 ล้านบาท กำไร 822 ล้านบาท
สิ่งเหล่านี้ทำให้ทั้งสององค์กรมีศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงไปเรื่อย ๆ แต่มีการลงทุนที่สูงจากการลงทุนเครือค่าย เทคโนโลยีเพื่อให้บริการกับลูกค้า บนแลนด์สเคปที่เปลี่ยนไป
โดยเฉพาะการลงทุน 5G ดีแทคมีเงินในการลงทุนลดน้อยลง และคลื่นความถี่ไม่พอ ทรูมีคลื่นความถี่และการลงทุน 5G มหาศาล แต่เป็นการลงทุนที่ก่อหนี้ ทำให้การลงทุนไม่เต็มที่อย่างต่อเนื่อง
บนศักยภาพที่ถดถอยลงบนแลนด์สเคปที่เปลี่ยนไป ศุภชัยจึงมองว่าการควบรวมจะทำให้ทรูและดีแทคมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น บริการที่ดีขึ้น บนเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันกับผู้เล่น OTT Over-The-Top หรือการสื่อสารภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตที่จะเข้ามา Disrupt ตลาดโทรคมนาคมได้
โดยจุดเด่นของแพลตฟอร์ม OTT คือไม่ต้องลงทุนด้านเครือข่ายเอง
นอกจากนี้ การควบรวมยังทำให้ทรูและดีแทคมีความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสถานีฐานที่มีร่วมกัน 49,800 สถานีฐาน และเครือข่ายมาให้บริการร่วมกันได้ และเมื่อมีการลงทุนในด้านต่าง ๆ จะเป็นการลงทุนเพื่อใช้ร่วมกัน
2. ฐานลูกค้าอาจไม่ชนะเอไอเอส และไม่สามารถผูกขาดด้านราคา เพราะมี กสทช. เป็นผู้กำหนดเพดาน
หลายคนอาจมองว่าเมื่อการควบรวมกิจการสำเร็จบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะมีฐานลูกค้าชนะผู้นำอันดับหนึ่งอย่างเอไอเอส
เพราะไตรมาส 1/2565 ที่ผ่านมา
ธุรกิจทรูมูฟเอชของทรู มีฐานลูกค้า 32.6 ล้านราย
ดีแทคมีฐานลูกค้า 19.1 ล้านราย
เมื่อนำลูกค้าทั้งหมดมาบวกรวมกันจะมีลูกค้า 51.7 ล้านราย
ส่วนเอไอเอสมีฐานลูกค้า 42.8 ล้านราย
แต่ความจริงแล้วศุภชัยบอกกับเราว่าในแต่ละปีทรูและดีแทคจะมีลูกค้าที่ย้ายค่ายระหว่างกันประมาณ 30% ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ทำการย้ายค่ายเป็นที่เรียบร้อยระบบจะเก็บลูกค้ากลุ่มนั้นเป็นเวลา 90 วัน ตามข้อกำหนดของ กสทช.
เท่ากับว่าเมื่อหักลบลูกค้ากลุ่มนี้ออกบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีฐานลูกค้าใกล้เคียงกับเอไอเอส
สำหรับการแข่งขันด้านราคา ศุภชัยให้ความเห็นว่าเมื่อควบรวมเป็นที่เรียบร้อย การแข่งขันจะไม่สามารถผูกขาดด้านราคาได้ เนื่องจาก กสทช. มีเพดานราคาค่าบริการพื้นฐานกำหนดอย่างชัดเจนเช่นกัน
3. ไม่มีใครถือหุ้นใหญ่ ทีมบริหารเลือกจากความเหมาะสม
เมื่อการควบรวมสำเร็จผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายจะมีสัดส่วนถือหุ้นเพียง 30% เป็นการถือหุ้นที่ไม่มีใครถือหุ้นใหญ่ และการเลือกผู้บริหารจะเลือกจากความเหมาะสม และไม่มีการคัดเลือกพนักงานออกแต่อย่างใด
4. ตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ตอัปไปเป็นแชมเปี้ยน
หลังจากที่ทั้งสองจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นที่เรียบร้อย ซิกเว่บอกว่าภายใต้บริษัทใหม่นี้จะมีการนำเงิน 7,300 ล้านบาท มาเป็นกองทุนสนับสนุนสตาร์ตอัปไทย เพื่อพาสู่ระดับโลก เพื่อนำพาประเทศไทยเป็นแชมเปี้ยนดิจิทัลในภูมิภาคนี้
และการลงทุน 7,300 ล้านบาท ศุภชัยเสริมว่าเป็นเพียงการลงทุนเบื้องต้นที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเห็นศักยภาพของสตาร์ตอัปไทยและเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
แต่ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีสตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์นเพียง 3 ราย ได้แก่ Bitkub, Ascend และ Flash Express จากยูนิคอร์น 49 รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และการลงทุนในสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่าง ๆ มาลงทุนที่ไทยเพียง 3% จากมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,200 ล้านดอลลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2564
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ภาพการควบรวมของทรูและดีแทคยังคงไม่ชัดเจน จาก กสทช. และอาจจะประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถควบรวมได้สำเร็จ
และถ้าไม่มีการควบรวมเกิดขึ้นผู้บริหารทั้งสองมองว่ายังคงทำธุรกิจต่อไป แต่ศักยภาพการลงทุนจะน้อยลง เพราะศักยภาพการลงทุนยังทับซ้อนเหมือนเดิม
และถ้าควบรวมกันได้สำเร็จทั้งคู่จะมีศักยภาพในการแข่งขันที่แข็งแกร่งมากแค่ไหน ก็คงต้องดูกันต่อไปยาว ๆ
เพราะอย่างน้อยวันนี้เอไอเอสผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจเดียวกันมีรายได้ในไตรมาสแรก 2565 มากถึง 45,278.97 ล้านบาท กำไร 6,311.54 ล้านบาท
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



