ตลาด Printer A3 มีความสำคัญแค่ไหนกับ Brother ? (วิเคราะห์)
ตลาดพริ้นเตอร์เปลี่ยนไปมาก
โดยเฉพาะช่วงสองปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตจากตลาดลูกค้าโฮมยูสที่ซื้อเครื่องพริ้นเตอร์ไปใช้ตามบ้านมากขึ้นเพื่อตอบสนองการทำงานในรูปแบบ Work from Home และ Learn From Home การเติบโตของโฮมยูส
และตลาดโฮมยูสนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดพริ้นเตอร์ในปีที่ผ่านมามียอดจำหน่ายมากถึง 700,000 เครื่อง เท่ากับปี 2563
แม้ตลาดโฮมยูสคือโอกาสของการเติบโตของตลาด แต่อุปสรรคที่ไม่สามารถทำให้ตลาดพริ้นเตอร์เติบโตได้คือปัญหาขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องพิมพ์
ทำให้พริ้นเตอร์ที่มีอยู่ในตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการเท่าไรนัก
ส่วนในปีนี้ตลาดพริ้นเตอร์ยังคงมีโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มตลาดองค์กรที่จะกลายเป็นโอกาสที่สำคัญให้ตลาดพริ้นเตอร์สามารถเดินหน้าต่อไปได้
การเปลี่ยนแปลงของตลาดพริ้นเตอร์ในปีนี้ ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ได้บอกกับเราว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มองค์กร ที่เปลี่ยนจากการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสารมาเป็นเครื่องพริ้นเตอร์
เหตุผลที่องค์กรเปลี่ยนจากเครื่องถ่ายเอกสารมาเป็นพริ้นเตอร์มาจากที่ผ่านมาองค์กรส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมในการเช่าเครื่องถ่ายเอกสารมาใช้งานในส่วนกลางของออฟฟิศ และเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้องค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากทำงานที่สำนักงาน เป็นการทำงานในรูปแบบ Work From Home เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม
และการทำงานในรูปแบบ Work From Home ทำให้องค์กรเห็นว่าการเช่าเครื่องถ่ายเอกสารมาใช้ในสำนักงานเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากสัญญาการเช่าเครื่องส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการเหมาจ่ายเป็นจำนวนแผ่นกระดาษที่ถูกใช้งานผ่านเครื่องถ่าย ซึ่งถือเป็น Fixed Cost ทุกเดือน แม้เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องนั้นจะไม่ถูกใช้งาน หรือใช้งานในอัตราที่ต่ำกว่าจำนวนแผ่นที่เหมาจ่ายก็ตาม
และเมื่อหมดสัญญาองค์กรส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้งานถ่ายเอกสารในรูปแบบเฮฟวี่ยูสเซอร์จึงมีความต้องการเปลี่ยนจากเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นเครื่องมัลติพริ้นเตอร์ A3 เพื่อใช้งานที่ส่วนกลางทดแทนเครื่องถ่ายเอกสาร
เหตุผลที่องค์กรซื้อเครื่องพริ้นเตอร์ A3 มาใช้แทนเครื่องถ่ายเอกสาร เนื่องจากการใช้งานเครื่องถ่ายเอกสาร 4-5% เป็นการพริ้นต์ผ่านกระดาษ A3
และใช้เครื่องพริ้นเตอร์ขนาดเล็กใช้งานตามแผนกต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัส และเมื่อเครื่องพริ้นเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งเสีย หรือมีปัญหาจากการใช้งานยังมีเครื่องอื่นทดแทนได้
เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตามที่กล่าวมา ธีรวุธจึงมองเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดพริ้นเตอร์ A3 และได้เปิดตัวเครื่องพริ้นเตอร์ A3 จำนวน 4 รุ่นเข้ามาจับตลาด ประกอบด้วยรุ่น MFC-J2340DW, MFC-J2740DW, MFC-J3540DW และ MFC-J3940DW ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 8,990-18,990 บาท สามารถพริ้นต์ ถ่ายเอกสาร และสแกนได้
เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักออกแบบ Architecture, SME ใช้ทำป้ายโฆษณาและงานพิมพ์อื่น ๆ, พีอาร์ เอเยนซี และองค์กรที่ซื้อเครื่อง A3 ใช้สำหรับงานบัญชี และงานพีอาร์ในองค์กร เป็นต้น
และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยฟีเจอร์ MAXIDRIVE ที่ช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่หัวพิมพ์และเพิ่มศักยภาพการพิมพ์ให้เร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบันเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทของบราเดอร์มีอัตราการพิมพ์ที่เร็วที่สุดในตลาดที่ 28 ภาพต่อนาที
และ AUTO DETECTION ที่คอยตรวจสอบเครื่องอยู่เสมอว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในส่วนใด และหากตรวจพบเครื่องก็จะทำการบำรุงรักษาให้ทันที
รวมถึงฟีเจอร์สั่งพิมพ์ผ่านอีเมล และมีแอปพลิเคชัน BROTHER MOBILE CONNECT ที่มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ มากมาย สามารถเก็บประวัติการสแกนเอกสารเพื่อให้ผู้ใช้งานนำไปบันทึก ส่งต่อ หรือสั่งพิมพ์ได้อีกโดยไม่ต้องสแกนซ้ำใหม่อีกครั้ง พร้อมดูระดับหมึกคงเหลือในเครื่องโดยบอกเป็นจำนวนแผ่นที่ยังคงสามารถพิมพ์ได้
สำหรับ ตลาด Printer A3 ในปีที่ผ่านมามียอดจำหน่าย 20,000 เครื่อง และคาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโต 10% หรือมียอดจำหน่าย 22,000 เครื่อง
ส่วนการแข่งขันในตลาดอิงค์เจ็ท A3 มีคู่แข่งในตลาด A3 ในปัจจุบันมีคู่แข่งในตลาด 4 แบรนด์หลักได้แก่ บราเดอร์ เอปสัน แคนนอน และเอชพี
โดยบราเดอร์เป็นผู้นำในตลาดอย่างต่อเนื่องมา 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ที่บราเดอร์นำอิงค์เจ็ทขนาด A3 เข้ามาทำตลาดเป็นรายแรกของโลก
ปัจจุบันบราเดอร์มีส่วนแบ่งตลาด 49% นับจากมกราคม-มิถุนายน 2565
การเปิดตัวอิงค์เจ็ทพริ้นเตอร์ขนาด A3 บราเดอร์คาดหวังว่าจะสร้างยอดขายในกลุ่ม A3 เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันรายได้ให้เติบโต 10% ในปีปฏิทินนี้
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายได้ของบริษัทบราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) ในช่วงที่ผ่านมามีผลประกอบการตามปีปฏิทินบราเดอร์ (เริ่ม เมษายน-มีนาคม) ดังนี้
2563 รายได้รวม 2,284.73 ล้านบาท กำไร 142.17 ล้านบาท
2564 รายได้รวม 2,251.62 ล้านบาท กำไร 173.16 ล้านบาท
2565 รายได้รวม 2,181.84 ล้านบาท กำไร 134.84 ล้านบาท
โดยปีปฏิทิน 2565 บราเดอร์มีรายได้มาจากกลุ่มลูกค้า SME สัดส่วน 50% โฮมยูส 30% และองค์กร 20%
–
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ