ดองกิ เห็นอะไรในสีลม ถึงเปิดสาขาขนาดเล็ก 24 ชั่วโมงที่ธนิยะ

ดองกิ สาขาธนิยะ พลาซา เป็นสาขาแห่งที่ 7 ของดองกิประเทศไทย หลังจากที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2562

ดอง ดอง ดองกิ สาขาที่ธนิยะ พลาซา เริ่มเปิดให้บริการต้นปี 2566 เป็นสาขาที่มีขนาดเล็กที่สุดของดองกิ ประเทศไทย ด้วยพื้นที่ขนาด 1,200 ตร.ม. เล็กกว่าสาขาปกติที่มีพื้นที่เฉลี่ย 2,000-3,000 ตร.ม.

และยังเป็นสาขานำร่องโมเดลพื้นที่ขนาดเล็กในประเทศไทย ที่ดองกิอาจใช้เป็นต้นแบบในการเปิดสาขาอื่น ๆ ในอนาคต

ตัดเรื่องของอนาคตไปก่อน

เรามาดูกันหน่อยว่า การที่ดองกิยอมปรับโมเดลสโตร์ ลดขนาดพื้นที่ เพื่อเปิดสาขาในธนิยะ พลาซา และให้บริการ 24 ชั่วโมง เพราะอะไร และดองกิเห็นอะไรในธนิยะ

 

1. สีลม เป็นพื้นที่ไม่เคยหลับใหล

ถนนสีลมได้ชื่อว่าเป็น CBD (Central Business District) ศูนย์กลางย่านธุรกิจที่เชื่อมต่อทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และเอ็มอาร์ที

ในแต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในสถานีศาลาแดงเฉลี่ยประมาณ 80,000 คน และใช้บริการรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีสีลมเฉลี่ยประมาณ 50,000 คนต่อวัน

มีอาคารสำนักงาน 43 แห่ง ที่รวมพนักงานออฟฟิศมากถึง 350,000 คน

มีศูนย์การค้า 3 แห่ง

โรงพยาบาล 3 แห่ง

และมีสวนสาธารณะอย่างสวนลุมพินีอยู่ใกล้ ๆ ที่รองรับผู้คนในแต่ละวันโดยเฉลี่ย 100,000-150,000 คน

ซึ่งถ้ามองไปที่แทรฟฟิกย่านสีลม ในแต่ละวันจะมีคนที่เดินทางผ่านพื้นที่แห่งนี้โดยเฉลี่ย 700,000 คนในวันธรรมดา และ 500,000 คนในวันหยุดและวันเสาร์อาทิตย์ ข้อมูลทั้งหมดนี้อ้างอิงจากสีลมเอจ ที่เคยให้ไว้เมื่อต้นปี 2565

นอกจากนี้ สีลมยังเป็นแหล่งไนต์ไลฟ์ที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่ง ด้วย ร้านกินดื่ม ผับบาร์ และสถานบันเทิงจำนวนมาก

สิ่งเหล่านี้ประกอบกันทำให้สีลมเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยหลับใหล เมื่อเทียบกับพื้นที่ CBD ย่านอื่นๆ และกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจของดองกิ ในการขยายเปิดสาขาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ในสีลม เพราะอย่างน้อยก็สามารถสร้างรายได้จากโพเทนเชียลที่เราได้กล่าวมา

2. ธนิยะ พลาซา มีจุดเด่นที่ Unique

ในแต่ละวันธนิยะ พลาซา มีแทรฟฟิกเฉลี่ย 3,000-5,000 ราย แม้จะดูเหมือนแทรฟฟิกที่ไม่มากนัก

แต่ธนิยะ พลาซาน่าสนใจในเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นชาวญี่ปุ่น คนไทย และนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้เข้ามาใช้บริการที่เป็นชาวญี่ปุ่น ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของดองกิ ที่เป็นรีเทลจากญี่ปุ่น

มีพื้นที่เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สามารถเชื่อมต่อจากบีทีเอสเข้ามาใช้บริการในธนิยะ พลาซาได้ทันที

และในช่วงที่ผ่านมาธนิยะ พลาซา ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโฉมตัวเองใหม่ ให้เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ที่มีความทันสมัยดึงดูดผู้ใช้บริการมากขึ้น

และเรามองว่าหลังจากที่ดองกิ มาเปิดสาขาในธนิยะ พลาซา ดองกิจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนแทรฟฟิกธนิยะ พลาซาให้เติบโตในฐานะแม่เหล็กชั้นดี ที่ดึงลูกค้าเข้ามาจับจ่ายด้วยเช่นกัน

ถ้ามองไปที่กลยุทธ์การตลาดของดองกิ สาขา ธนิยะ พลาซา ที่เป็นสาขาที่เล็กที่สุดของดองกิ ประเทศไทย

ดองกิสาขานี้วางกลยุทธ์คัดเฉพาะสินค้ายอดนิยมจากสาขาอื่น ๆ มารวมกันเพื่อให้บริการ และมีการเน้นสินค้าที่เป็นโซนโมบายฟู้ดที่มีเมนูกลางวันและกลางคืน เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนทำงาน และคนในย่านสีลมที่ต้องการความรวดเร็วในการรับประทาน

และมีการนำ Sen Sen Sushi ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของดองกิ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในฮ่องกง มาเปิดที่สาขาธนิยะ พลาซา และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจดองกิในประเทศไทย หลังจากที่ดองกิเปิดตัวสาขาแรกที่ทองหล่อในปี 2562 และตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้ครบ 20 สาขาในปี 2568

ผ่านการขยายสาขาปีละ 3 สาขา

แต่เพราะโควิด-19 ทำให้เกมขยายสาขาของดองกิต้องหยุดไป และเริ่มกลับมาวางเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มปีละ 3 สาขาอีกครั้งในปัจจุบัน

และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเปิดสาขาไม่ต่ำกว่า 12 สาขา

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดองกิ มองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไปยังโลกโมไบล์มากขึ้นทำให้ยังปรับแผนการตลาดสื่อสารผ่านแอปดองกิ ด้วยการให้กลุ่มลูกค้ามารีวิวสินค้ากันเอง รวมถึงมีข้อมูลสินค้าให้สแกนว่าสินค้าประเภทนี้มีการใช้งานอย่างไร มีจุดเด่นอะไร

เพราะเพนพอยต์ของดองกิ คือผู้บริโภคบางกลุ่มไม่รู้ว่าสินค้าของดองกิสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง และมีจุดเด่นด้านไหน เช่น หอมญี่ปุ่นสามารถนำไปประกอบอาหารในรูปแบบไหน หรือหม้อที่มีราคาสูงมีจุดเด่นอะไร เป็นต้น

สำหรับรายได้ของดองกิ ประเทศไทย ย้อนหลัง 3 ปี ดองกิ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้บริหารดองกิมองว่าจุดเด่นของดองกิ คือรีเทลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่คนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างดี

ในปี 2563 ดองกิมีรายได้รวม 727.85 ล้านบาท ขาดทุน 146.67 ล้านบาท                     

ปี 2564 1,067.07 ล้านบาท ขาดทุน 113.16 ล้านบาท

ปี 2565 1,614.87 ล้านบาท กำไร 2.64 ล้านบาท

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยปีปฏิทินของดองกิใช้ปีปฏิทินญี่ปุ่น เริ่มเมษายน-มีนาคม

สำหรับประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งใน 6 ประเทศที่ดองกิเปิดสาขาในเอเชีย ที่สร้างการเติบโตให้กับดองกิเอเชีย

มีรายได้รวมกันดังนี้

 

2564 501,000 ล้านเยน หรือประมาณ 131,694 ล้านบาท

2565 690,000 ล้านเยน หรือประมาณ 181,375 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การขยายสาขา ดองกิ ประเทศไทย ถือเป็นมูฟเมนต์ที่สร้างความน่าสนใจให้กับตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่คนไทยยังไม่สามารถเดินทางไปญี่ปุ่นได้อย่างเสรีเหมือนในอดีต

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online