หลังปิดประเทศอยู่นาน ญี่ปุ่นก็เปิดประเทศครั้งใหญ่จนนำมาสู่การฟื้นฟูและปฏิรูปในสมัยเมจิ พร้อมผลักดันต่อเนื่องให้ประเทศก้าวหน้าแซงเพื่อนบ้านร่วมทวีปเอเชียแทบทั้งหมด
แม้ถัดมาเกิดสะดุดครั้งใหญ่จนต้องกลับมาทบทวนตัวเองช่วงสงครามโลกที่สองและยังเป็นแผลเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ญี่ปุ่นก็ยังกลับสู่เวทีโลกได้อีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1964 และใส่เกียร์เดินหน้าตลอดมาถึงยุค 80 กับ 90
ความสำเร็จของญี่ปุ่นยุค 80 และ 90 ยืนยันได้จากสินค้าเทคโนโลยีแบรนด์ญี่ปุ่นมากมายที่พากันดาหน้าตีตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเพลงขนาดพกพา Soundabout รุ่น Walkman ของ Sony
เครื่องเล่นเกมขนาดพกพา Gameboy ของ Nintendo และนาฬิกาข้อมือดิจิทัลของ Casio รวมไปถึงกลุ่มแบรนด์รถญี่ปุ่น อย่าง Toyota และ Honda
ทว่าปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศล้าหลังทางเทคโนโลยี ถูกเพื่อนบ้านในเอเชียที่เคยอยู่ใต้ปกครอง อย่างเกาหลีใต้และจีนแซงหน้าไปแล้ว
หลักฐานคือบริษัทของเกาหลีใต้อย่าง Samsung และบริษัทของจีนอย่าง Alibaba ที่แซงหน้าบริษัทญี่ปุ่นในธุรกิจเดียวกันไปแล้ว
ล่าสุดมีหลักฐานยืนยันอีกว่า ญี่ปุ่นยิ่งถูกทิ้งห่าง โดยตามผลการศึกษาของ IMD สถาบันบริหารด้านการพัฒนาในสวิตเซอร์แลนด์ ชี้ว่าปีนี้อันดับความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลระดับโลกของญี่ปุ่นร่วงอีก ลงไปอยู่อันดับที่ 29 ลงจากอันดับ 28 ในปี 2021 และอันดับ 27 ในปี 2020
นัยสำคัญในการร่วงต่อเนื่องของญี่ปุ่น คือการตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก อันได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ซึ่งปีนี้อยู่ในอันดับที่ 8, 11 และ 17 ตามลำดับ นอกจากนี้ อันดับที่ 29 ในปีนี้ของญี่ปุ่นยังร่วงลงไปอยู่เกือบครึ่งล่างของจำนวนประเทศที่ติดอันดับทั้ง 63 ประเทศอีกด้วย
Nikkei สื่อดังของญี่ปุ่นวิเคราะห์ผ่านทัศนะของผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีในประเทศและสภาพการณ์ในปัจจุบันว่า นี่เป็นความจริงสุดเจ็บปวดที่ต้องยอมรับและจะอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป
เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลยญี่ปุ่นจะกลายเป็นเหมือนกบในหม้อต้มที่หลงผิดคิดว่าน้ำในหม้ออุ่น แต่เมื่อรู้ตัวว่าน้ำร้อนก็ไม่มีแรงกระโดดหนีเสียแล้ว จนที่สุดนอนตายกลายเป็นกบต้มในหม้อนั่นเอง
ความล้าหลังทางดิจิทัลของญี่ปุ่นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการยังยึดติดกับเทคโนโลยีรุ่นเก่า ไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การยังใช้ระบบอาวุโสในการบริหารบริษัท และการที่บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีแผนกดิจิทัลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่กลับให้บริษัทภายนอกมาจัดการดูแลแทน
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นสังคมผู้สูงอายุ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลน้อยมาก แถมผู้เชี่ยวชาญยังอยู่ในภาวะขาดแคลน ทั้งที่เป็นประเทศใหญ่และเคยมีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมาก่อน
ท่ามกลางการประเมินของกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งเรียกรวมว่า METI ที่ว่าในปี 2030 ญี่ปุ่นจะต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากถึง 450,000 คน
ความล้าหลังทางดิจิทัลของญี่ปุ่นถึงขนาดที่ Nikkei เรียกญี่ปุ่นว่ายังเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีแบบแอนะล็อกนี้ ยังมาจากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ผลักดันการแก้ไขอย่างจริงจัง
อดีตนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ ที่ตั้งหน่วยงานด้านดิจิทัลเพื่อหวังยกเครื่องกิจการด้านนี้ของประเทศเมื่อกันยายนปี 2021 ก็ลาออกจากตำแหน่งหลังจากนั้นไม่นาน
นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ
และยังคาดกันว่าโครงการ Digital Garden City Nation ของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งตั้งเป้าสร้างงานด้านดิจิทัล 2.3 ล้านตำแหน่งในอีก 5 ปีจากนี้ ก็คงคืบหน้าไปอย่างล่าช้า เพราะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณามากมาย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าญี่ปุ่นจะพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดยถ้ายิ่งช้า จะไม่ใช่ถูกเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกทิ้งห่าง และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะอาจทำให้การส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ ล่าช้าอีกเมื่อประเทศเผชิญปัญหาใหญ่ครั้งต่อไป
เหมือนในสถานการณ์โควิดที่มีรายงานว่าญี่ปุ่นยังใช้แฟกซ์ในการพิมพ์ข้อมูลออกมา ทำให้รับมือได้อย่างล่าช้า ตรงข้ามกับไต้หวันที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนสกัดการระบาดอย่างได้ผลและได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ญี่ปุ่นเผชิญความวุ่นวายเมื่อเทคโนโลยีเก่าหมดอายุ แบบที่ Microsoft ปิดเบราว์เซอร์ Internet Explorer ไปเมื่อกลางปี เพราะแทบไม่มีผู้ใช้อีกแล้ว และออกมาเตือนก่อนหน้านั้นหลายเดือน
แต่บริษัทและหน่วยงานราชการในญี่ปุ่นกลับชะล่าใจ ไม่แก้ไขแต่เนิ่น ๆ จนกลายเป็นภาระใหญ่ให้บริษัท IT ต้องมาตามย้ายเบราว์เซอร์ให้อีกหลายเดือนต่อมา/nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ