ความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจาก “ทีม” โดย รวิศ หาญอุตสาหะ
“ความคิดสร้างสรรค์” ทักษะที่ดูจับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่ทุกที่
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักการตลาด
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกลยุทธ์
ไม่ว่าคุณจะเป็นดีไซเนอร์
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำงานร้านอาหาร
ทุกอาชีพล้วนพึ่ง “ความคิดสร้างสรรค์”
แต่เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์แล้ว หลายคนอาจจะนึกถึงแค่งานศิลปะ งานที่ต้องออกแบบ หรือวาดเขียนออกมา แต่แท้จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์เป็นมากกว่านั้น หากคุณเป็นนักการตลาด คุณก็อาจจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการดีไซน์แคมเปญการตลาดที่ทัชใจคน หากคุณเป็นนักกลยุทธ์ คุณก็สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาผ่านการคิดนอกกรอบ หรือแม้แต่คุณเป็นคนทำงานร้านอาหาร คุณก็สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโฟลว (flow) การทำงานภายในร้านหรือคิดโปรโมชั่นที่โดนใจคน
แต่แน่นอนว่าความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่ใช่สิ่งหรือทักษะที่เมื่อคิดจะมีก็สามารถมีได้เลย แต่ต้องอาศัยเวลา ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ด้วย
และสำหรับบริษัทแล้ว การที่พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ก็คงจะส่งผลดีต่อตัวบริษัทเองไม่น้อย ทั้งได้ไอเดียใหม่ ๆ มาปรับใช้กับธุรกิจ และอาจดีขนาดที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ชีวิตคน
แต่ภายในบริษัทเอง ก็มักจะมี “กับดัก” ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำอะไรแปลกใหม่ ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วบริษัทจะสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ เราต้องมี “Psychological Safety” หรือพื้นที่ปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน
Psychological Safety บ่อเกิดของ Creativity
Frederik Pferdt, Chief Innovation Evangelist ของ Google เคยมาพูดคุยร่วมกับ Tim Brown, CEO ของ IDEO ใน Creative Confidence Series ถึงวิธีการที่พวกเขาใช้ในการสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร โดยสิ่งที่พวกเขาพูดถึงคือเรื่องการสร้าง Psychological Safety ให้เกิดขึ้นในองค์กร
ก่อนที่จะไปถึงตัวอย่างองค์กรที่มี Psychological Saftey ผมอยากอธิบายถึงคำคำนี้สั้นๆ ก่อน “Psychological Safety” หรือพื้นที่ปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน คือ การที่สมาชิกในทีมหรือในองค์กร มีความสบายใจที่จะพูดหรือนำเสนอไอเดียโดยปราศจากความกังวล จากการที่สมาชิกในทีมคนอื่น ๆ นั้นมีความเชื่อใจกันและเปิดรับความเห็นโดยปราศจากอคติ
Google ก็เป็นหนึ่งองค์กรที่มีการทำโปรเจกต์เพื่อศึกษาเรื่องของ Psychological Safety โดยเฉพาะ โดยใช้เวลากว่า 2 ปีใน 280 ทีมในบริษัท ซึ่งพวกเขาก็ได้เห็นถึงความแตกต่างบางอย่างระหว่างทีมที่มี Psychological Safety และทีมที่ไม่มี
โดยทีมที่มี Psychological Safety แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่คนในทีมจะมีความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า เมื่อต้องการลองทำอะไรใหม่ ๆ หรือนำเสนอไอเดียต่าง ๆ ในที่ประชุม และพวกเขามักจะลงแรงอย่างเต็มที่ในงานของพวกเขา
นอกจากนี้ Google ยังค้นพบอีกว่า การที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ภายในทีม หลักสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าคนในทีมนั้นมีการสื่อสารกันอย่างไรมากกว่า จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) มีการสื่อสารกันอย่างเปิดเผย โปร่งใส และซื่อสัตย์ และการที่จะสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้ จะต้องมี “ผู้นำ” ที่เป็นโรลโมเดลในการทำให้พวกเขาเห็นถึงความเชื่อมั่นต่อกันภายในทีม
ความแตกต่างระหว่าง Psychological Danger และ Psychological Safety
Psychological Danger
- กลัวที่จะยอมรับความผิดพลาด
- โทษกันไปมา
- ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง
Psychological Safety
- กล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด
- เรียนรู้จากความผิดพลาด
- ทุกคนกล้าที่จะออกความคิดเห็น
- มีการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีการตัดสินใจที่ดีกว่า
เวลา “เล็ก ๆ” ที่สร้างผลลัพธ์อย่างมหาศาล
เช่นเดียวกันกับทาง IDEO บริษัทชั้นนำด้าน Design Thinking ที่มีการให้ความสำคัญกับ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นอันดับต้น ๆ ก็มีการโฟกัสในการสร้างความเชื่อใจและสร้างความสัมพันธ์ภายในทีมให้ดีขึ้น ผ่านการสร้าง “โมเมนต์” เล็ก ๆ ขึ้นมา ที่นับว่าเป็นประเพณีขององค์กรไปแล้ว
IDEO มีสิ่งที่เรียกว่า Tea Time Ritual หรือประเพณีดื่มชาภายในออฟฟิศ ปกติในการทำงาน เวลาส่วนมากคนในทีมก็ทำงานแยกกัน ทำให้องค์กรขาดคอนเนกชั่นระหว่างคนในทีมไป ทาง IDEO จึงมี Tea Time ขึ้นมาทุก ๆ วันพุธ โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที เมื่อถึงเวลาพนักงานในทีมแต่ละคนก็พักจากการทำงานของตัวเอง และมาร่วมพูดคุย ปฏิสัมพันธ์กับคนในทีม พร้อมมีชาและขนมให้รับประทานด้วยกัน
แต่ด้วยเวลาเพียงเล็กน้อยนี่แหละที่ทำให้พนักงานแต่ละคนมีโอกาสได้มาพบปะเจอหน้ากัน ได้มี Small Talks ระหว่างกันนอกจากเรื่องงาน ซึ่งเมื่อทำไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกถึงคอนเนกชั่นและความเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกคีย์สำคัญที่ทำให้องค์กรนั้นเกิด Psychological Safety และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของ “ความคิดสร้างสรรค์”
ดังนั้น องค์กรไหนอยากที่จะพัฒนาพนักงานและนำองค์กรสู่อะไรใหม่ ๆ เราอาจจะต้องหันกลับมามองวัฒนธรรมขององค์กรก่อน ว่าตอนนี้เรามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อพวกเขาหรือยัง ถ้ายังก็อาจจะลองหากิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ สร้างความเห็นอกเห็นใจและความเชื่อใจกันให้เกิดขึ้นภายในทีม เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอแล้วเราก็จะค่อย ๆ เริ่มเห็นความร่วมมือกันและความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้นจากตัวของพนักงานเอง
เรื่อง: รวิศ หาญอุตสาหะ
อ้างอิง:
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ