จุดเริ่มต้นของธุรกิจกับธุรกิจในปัจจุบัน อาจไม่ใช่ธุรกิจเดียวกันทั้งหมด
โตโยต้าและบราเดอร์ ก็เช่นกัน
เพราะทั้งสองธุรกิจนี้มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจเกี่ยวกับ “ผ้า” ด้วยกันทั้งคู่
เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ยนตรกรรมโตโยต้าที่เราเห็นทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดจากธุรกิจเครื่องทอผ้าของครอบครัวโทโยดะ
ซากิจิ โทโยดะ ผู้เป็นพ่อของคิอิจิโร โทโยดะ ผู้ให้กำเนิดรถยนต์โตโยต้า ประกอบธุรกิจเครื่องทอผ้า เริ่มต้นธุรกิจในปี พ.ศ. 2433 ในชื่อ TOYODA มีสินค้าตัวแรกคือเครื่องทอผ้าด้วยมือที่ทำจากไม้
ธุรกิจเครื่องทอผ้าของ ซากิจิ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องทอผ้าทั่วไป เพราะเขาได้คิดค้นนวัตกรรมการทอผ้าใหม่ ๆ ป้อนสู่วงการทอผ้าอย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องทอผ้าอัตโนมัติที่สามารถหยุดตัวเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทอ เครื่องทอผ้ารูปทรงวงกลมที่ให้การทอที่เร็วขึ้น และประหยัดพลังงาน เพราะกระสวยด้ายไม่ต้องวิ่งย้อนกลับไปมา
และนวัตกรรมทอผ้าของซากิจิ ได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ไว้อยู่เสมอ
เพราะสิทธิบัตรที่ซากิจิได้จดไว้ ในปี พ.ศ. 2471 เขาได้ขายสิทธิบัตรเครื่องทอผ้าอัตโนมัติให้กับบริษัท Platt Brothers & Co., Ltd. จากประเทศอังกฤษ และได้เงินกลับมามากถึง 100,000 ปอนด์
ด้วยเงิน 100,000 ปอนด์ที่ซากิจิได้รับ เขานำเงินก้อนนี้ไปให้กับ คิอิจิโร โทโยดะ ผู้มีความฝันที่จะสร้างรถยนต์ที่เป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น วิจัยและพัฒนารถยนต์เป็นของตัวเอง
จนกระทั่งในปี 2478 คิอิจิโร เปิดตัวรถยนต์รุ่น A1 และรถกระบะ รุ่น G1 เป็นโมเดลแรกขึ้นมาทำตลาดที่ประเทศญี่ปุ่นในชื่อแบรนด์ TOYODA
ซึ่งในช่วงแรก ธุรกิจรถยนต์ของ คิอิจิโร เป็นเพียงแผนกหนึ่งในบริษัท Toyoda Automatic Loom Works, Ltd ซึ่งเป็นชื่อบริษัทที่ซากิจิ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2469 เพื่อทำธุรกิจเครื่องทอผ้า
คิอิจิโร ใช้แบรนด์ TOYODA ทำตลาดรถยนต์ของตัวเองเพียง 1 ปี และได้เปลี่ยนชื่อเป็นแบรนด์ TOYOTA ในปี พ.ศ. 2478 ด้วยเหตุผลคือ คำว่า TOYODA เมื่อเขียนเป็นตัวญี่ปุ่นด้วยพู่กันจะต้องขีดเส้นถึง 10 ครั้ง และเลข 10 ในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า จู ที่มีเสียงพ้องกับคำว่า จูบุน ที่แปลว่า พอแล้ว
ส่วนชื่อ TOYOTA จะขีดเส้นเพียง 8 เส้น และเลข 8 เป็นสัญลักษณ์ Infinity ในภาษาอังกฤษ
และเขาได้นำแผนกรถยนต์โตโยต้าออกมาจากบริษัท Toyoda Automatic Loom Works, Ltd จัดตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ Toyota Motor Co., Ltd. ทำตลาดรถยนต์โดยเฉพาะ ก่อนที่จะเป็น Toyota Motor Corporation ทำธุรกิจยานยนต์ป้อนตลาดโลกในปัจจุบันภายใต้ชื่อโตโยต้าและเลกซัส
สำหรับประเทศไทยโตโยต้าเข้ามาเปิดธุรกิจในไทยอย่างเป็นทางการในปี 2505 ซึ่งนับถึงปีนี้โตโยต้าประเทศไทยครบรอบ 60 ปี แซยิดพอดี
ใน 9 เดือนแรกของปี 2565 โตโยต้าสามารถสร้างยอดขายได้ 208,619 คัน เติบโต 25.3% จากปีที่ผ่านมา และมีส่วนแบ่งตลาด 32.9% เป็นอันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์รวม อ้างอิงข้อมูลจากโตโยต้า
นอกเหนือจากโตโยต้า แบรนด์บราเดอร์ ยังเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้ชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจที่เกี่ยวกับผ้า นั่นก็คือจักรเย็บผ้า ในชื่อแบรนด์บราเดอร์
ธุรกิจบราเดอร์ที่เราเห็นในวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก มาซาโยชิ ยาซูอิ ลูกชายคนโตในตระกูล ยาซูอิ ได้รับมอบธุรกิจบริการซ่อมและจัดหาชิ้นส่วนประกอบจักรเย็บผ้า ที่ชื่อบริษัท Yasui Sewing Machine Co จากคาเนคิชิ ยาซูอิ ผู้เป็นพ่อ ในปี พ.ศ. 2468
หลังจากมาซาโยชิ รับช่วงต่อธุรกิจมาเป็นที่เรียบร้อย เขาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Yasui Brothers’ Sewing Machine Co. ในปีเดียวกัน
แทนที่มาซาโยชิจะทำธุรกิจบริการซ่อมและจัดหาชิ้นส่วนประกอบจักรเย็บผ้าในแบบเดิม ๆ เขากลับมองเห็นว่าจักรเย็บผ้าในประเทศญี่ปุ่นเป็นจักรนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น
จากจุดเริ่มต้นของความคิดนี้เอง มาซาโยชิ จึงมีแรงบันดาลใจที่จะผลิตจักรเย็บผ้าที่เป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นออกวางจำหน่ายใน พ.ศ. 2471 ภายใต้แบรนด์บราเดอร์ ในรูปแบบจักรเย็บแบบห่วงโซ่สำหรับการผลิตหมวกฟาง
หลังจากที่บราเดอร์ประสบความสำเร็จจากจักรเย็บผ้าตัวแรกที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากจุดแข็งความทนทานกว่าจักรเย็บจากประเทศเยอรมนี เขาได้ต่อยอดธุรกิจจักรเย็บผ้าไปยังจักรเย็บผ้าอื่น ๆ เช่น จักรเย็บผ้าสำหรับครัวเรือนแบรนด์แรกในญี่ปุ่น เนื่องจากจิสึอิชิ น้องชายมาซาโยชิและประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดยึดกระสวย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของจักรเย็บผ้าได้สำเร็จ
เมื่อจักรเย็บผ้าบราเดอร์คือธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้กับครอบครัว มาซาโยชิ จึงต่อยอดธุรกิจด้วยการปรับโครงสร้างบริษัท เปิดบริษัทใหม่ Nippon Sewing Machine Manufacturing Co. ผลิตจักรเย็บผ้าสำหรับอุตสาหกรรมเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม
รวมถึงจัดตั้งบริษัท Brother Sales, Ltd ดูแลด้านการขาย และขยายตลาดจักรเย็บผ้าไปยังต่างประเทศ
วันเวลาผ่านไปบราเดอร์ขยายไลน์ธุรกิจที่แตกต่างจากจักรเย็บผ้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เรียกว่าเครื่องพิมพ์ดอตเมทริกซ์ความเร็วสูงเครื่องแรกของโลกออกทำตลาดใน พ.ศ. 2514
ก่อนที่จะต่อยอดไปยังเครื่องพิมพ์ดีด และเครื่องพิมพ์ดีดบราเดอร์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบริษัท ในฐานะสินค้าเรือธงอีกตัวหนึ่งควบคู่ไปกับจักรเย็บผ้า
และบราเดอร์ยังมีการพัฒนาสินค้าอื่น ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เครื่องโทรสาร
อีกทั้งยังต่อยอดจากเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ สู่ธุรกิจเครื่องพิมพ์ที่เราเห็นในทุก ๆ วันนี้ ควบคู่ไปกับธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะจักรเย็บผ้าแบรนด์บราเดอร์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย บราเดอร์ เข้ามาในตลาดประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 ในชื่อบริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำหน่ายพรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร จักรเย็บผ้าและอื่น ๆ เพื่อสร้างอาณาจักรบราเดอร์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
เพราะธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ผ้า” คือจุดเริ่มต้นของโตโยต้าและบราเดอร์ ที่พาตัวเองเดินทางไปไกลจนเป็นธุรกิจที่เราเห็นกันชินตาในทุกวันนี้
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



