TTF 2023 เผยภาพรวมท่องเที่ยวและบริการของไทยปีนี้ พบ ภาคใต้ครองจุดหมายยอดฮิตของ นทท. จีน, ตลาดแรงงานคุณภาพขาดแคลน ตัวแปรหลักฟื้นท่องเที่ยว และธุรกรรมโรงแรมสะพัด 1.2 หมื่น ลบ. กลับไปแตะค่าเฉลี่ย 10 ปี 

บิล บาร์เน็ต (Bill Barnett) กรรมการผู้จัดการ C9 Hotelworks หัวเรือใหญ่ในการจัดงาน Thailand Tourism Forum 2023 (TTF 2023) เผยว่า สำหรับ TTF 2023 งานสัมมนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปีที่ 12 ของการจัดงานนี้

ถูกนำเสนอในคอนเซ็ปต์ Innovation in Hospitality ที่มุ่งเน้นประเด็นความสำคัญ ปัญหา และสร้างแรงบันดาลใจในอนาคต รวมถึงแนวคิดการปรับตัวของการท่องเที่ยวไทย และสร้างภูมิทัศน์ด้านการบริการแบบใหม่

เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อาทิ การสร้างแบรนด์ ดีไซน์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และเวลเนส ซึ่งมีผู้แทนจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเข้าร่วมถึง 800 คน ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพ

ซึ่ง บิล บาร์เน็ต เริ่มด้วยประเด็นความท้าทายสำคัญประการหนึ่ง ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทยปี 2023 ที่ต้องให้ความสำคัญคือ “คนทำงาน” หลังแรงงานด้านการท่องเที่ยวกว่า 1.45 ล้านคน ได้หายไปในช่วงวิกฤตโควิด-19

ดังนั้น พันธกิจของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ คือจะต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ และนำคนที่ดีและเก่งที่สุด กลับคืนสู่อุตสาหกรรมได้อย่างไร และต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นหรือไม่ ทั้งถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาคโรงแรมในประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง

โดยผู้บรรยายหลักของงาน TTF 2023  ไม่ว่าจะเป็น พราวพุธ ลิปตพัลลภ  กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำประเด็นคนทำงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการว่า โควิด-19 เป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าของที่พักรู้ว่าควรดูแลบุคลากรของคุณอย่างไร ซึ่งเป็นความท้าทายของการเป็นเจ้าของโรงแรมหลังจากนี้

 ส่วนประเด็น การสร้างภูมิทัศน์ใหม่ด้านการบริการด้วยแบรนด์ วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า ต้องเกิดจากการผสานรวมผลิตภัณฑ์และแบรนด์เป็นนวัตกรรมหลักสำหรับอนาคต อย่างในบริษัท มันคือทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสร้างความสุข คนทำงานทุกคนต่างค้นหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ และบริษัทเชื่อว่า จำเป็นต้องมองหาความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ

เพื่อสร้างโครงการที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งรวมเข้ากับจุดหมายปลายทาง และการนำชุมชนท้องถิ่นมาสู่ประสบการณ์โรงแรม ควรเป็นการเดินทางของลูกค้าแบบบูรณาการ

ขณะที่ภาพรวมจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ในประเทศไทย Jesper Palmqvist ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบริษัทวิจัยตลาดอุตสาหกรรมโรงแรม หรือ STR GLOBAL เผยว่า หลังคาดการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะเข้ามาในประเทศไทย ปี 2566 มากถึง 25 ล้านคน เป็นชาวจีน 5 ล้านคน

พบว่าอ้างอิง อัตราการเข้าพัก (Occupancy) ในช่วง 90 วันข้างหน้า เริ่มนับจากวันที่ 2 มกราคม 2566 ประเทศไทยมีดีมานด์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566

5 จุดหมายยอดฮิตที่มีอัตราเติบโตของยอดจองห้องพักจากนักท่องเที่ยวจีน เมื่อเทียบกับยอดการเข้าพักช่วงวันหยุดยาวหรือไฮซีซันของนักท่องเที่ยวจีน วันที่ 28 กันยายน – 9 ตุลาคม ดังนี้

 

ภาคใต้แชมป์

จุดหมาย นทท. จีน ปี 2023

จองห้องพักแน่นยาวถึง ก.พ. นี้

จุดหมาย % เติบโตยอดจองห้องพัก
ภาคใต้ 75%
กรุงเทพฯ 70%
พัทยา 70%
ชะอำ 50%
หัวหิน 50%
* % เติบโตอ้างอิงจากอัตราการเข้าพัก 90 วันข้างหน้า เริ่มนับ 2 ม.ค. 66 เทียบกับ ช่วงไฮซีซั่นของ นทท. จีน
ที่มา: STR GLOBAL

 

ทั้งคาดว่า ยอดเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีนจะไต่ระดับขึ้นตามอัตราฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย ปี 2566 แม้จะยังไม่โดดเด่นเท่าช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนนี้ แต่ก็เห็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ด้านมูลค่าการทำธุรกรรมของโรงแรมในไทย รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริการที่ปรึกษาและบริหารสินทรัพย์ด้านโรงแรมของ JLL Hotels & Hospitality Group เผยว่า ภาพรวมมูลค่าการทำธุรกรรมของโรงแรมในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ตอบรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

โดยมูลค่าการทำธุรกรรม หรือซื้อ-ขายโรงแรมในไทยย้อน 6 ปีหลังสุด ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด จนถึงคาดการณ์ ปี 2023 จะกลับไปอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยมาตรฐาน 10 ปีก่อนเกิดโควิด-19 หรือ 2010-2019 ที่ 12,000 ล้านบาท ดังนี้

 

ธุรกรรมโรงแรมในไทย

ปี 2023 แตะค่าเฉลี่ย 10 ปี 1.2 หมื่น ลบ.

รับอุตฯ ท่องเที่ยว-บริการฟื้นตัว

ปี ค.ศ. มูลค่าการทำธุรกรรม/ล้านบาท
2018 21,000
2019 6,300
2020 1,900
2021 12,300
2022 10,400
2023 (คาดการณ์) 12,000
* ค่าเฉลี่ยมูลค่าธุรกรรมโรงแรมในไทย ปี 2010-2019 อยู่ที่ 1.2 หมื่นลบ.
ที่มา: JLL Hotels & Hospitality Group

 

ขณะที่การรับมือกับการดิสรัปชัน และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโรงแรมและการจัดจำหน่าย ลิซ เพอร์กินส์ (Liz Perkins) รองประธานอาวุโส การจัดการรายได้และบริการเชิงพาณิชย์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฮิลตัน (Hilton) เผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างเทคโนโลยีและผู้คน กุญแจสำคัญคือการผสานทางกายภาพ และดิจิทัลให้สำเร็จ เพื่อสร้างการเดินทางที่ราบรื่น

ในช่วงโควิด-19 ฮิลตันลงทุนในเทคโนโลยีอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ฮิลตันแนะนำกุญแจดิจิทัลสำหรับการเช็กอินแบบด่วนพิเศษ ลูกค้ายังสามารถไปที่แผนกต้อนรับส่วนหน้าได้ แต่สิ่งที่ฮิลตันทำแตกต่างออกไป คือการให้ทางเลือกแก่ลูกค้า

ปิดท้ายด้วย การทบทวนวัฒนธรรมการออกแบบของไทย โฮ เหริน ยัง (Ho Ren Yung) รองประธานอาวุโสแบรนด์และการขาย กลุ่มบันยันทรี (Banyan Tree Group) เผยว่า นวัตกรรมมาจากข้อจำกัด กลุ่มบันยันทรี สร้างแนวคิดพูลวิลล่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหารีสอร์ตของกลุ่มฯ ที่ไม่ได้อยู่ริมชายหาด และตอนนี้กลุ่มฯ กำลังนำเสนอห้องพักที่ไม่มีผนังหรือประตู เพื่อนำธรรมชาติเข้ามาเติมเต็มในการพักผ่อนที่ดีที่สุดอีกด้วย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online