มุมมองต่อญี่ปุ่นของคนทั่วโลกส่วนใหญ่เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะจากประเทศชั้นนำในเอเชียที่เดินหน้าปฏิรูปให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตก จนเป็นเบอร์ต้น ๆ ด้านเทคโนโลยีอยู่หลายทศวรรษ
และยังเป็นต้นแบบของการฟื้นตัวพร้อมกลับสู่เวทีโลกได้หลังย่อยยับจากสงคราม ทว่าในปัจจุบัน ญี่ปุ่น กลับตามหลังเกาหลีใต้กับจีน ด้านนวัตกรรม
ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ ฮิโระคาเสะ โคเระเอดะ ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหญ่ยังเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกองทุนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อให้ไม่ถูกเกาหลีใต้ทิ้งห่างไปมากกว่านี้
ทว่าก็ยังมีธุรกิจบางอย่างในญี่ปุ่นที่ไม่ได้เป็นกบในหม้อต้ม โดย Tower Records Japan (TRJ) เชนร้านซีดีและสื่อบันเทิงที่แยกตัวเป็นเอกเทศ นานก่อนที่บริษัทแม่ในสหรัฐฯ จะล้มละลาย ยังคงอยู่รอดได้ในปัจจุบัน ทั้งที่การฟังผ่านสตรีมมิ่งคือรูปแบบการฟังเพลงของคนยุคนี้ ไม่ใช่ฟังจากซีดีเหมือนในอดีต
TRJ เริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2011 ที่ อิคุโอะ มิเนะวากิ ขึ้นมาเป็นประธาน โดยเขาสั่งให้พนักงานของทั้งกว่า 80 สาขา เขียนโน้ตบนกระดาษแปะลงไปบนซีดีออกใหม่แล้วถ่ายภาพโพสต์ขึ้นสื่อโซเชียล เพื่อเป็นการโปรโมตเน้นไปที่แฟนคลับของศิลปิน
แนวทางดังกล่าวที่ถูกเสริมด้วยของแจกแถมและสินค้าต่าง ๆ ของศิลปิน รวมไปถึงธีมคาเฟ่ ไปได้สวย เพราะญี่ปุ่นมีวงไอดอลอยู่มากมาย และแฟน ๆ (หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า Fandom และกร่อนเหลือแค่คำหลังแล้วในภาษาไทยว่า ด้อม) ก็พร้อมสนับสนุนวงหรือศิลปินคนคนโปรด วงโปรด ผ่านการซื้อซีดี ไม่ว่าจะออกมากี่แผ่นกี่ชุดก็ตาม
พร้อมกันนี้ชาร์ตเพลงในญี่ปุ่นก็ปรับมาแสดงความนิยมของเพลงผ่านสื่อโซเชียลด้วย เพื่อสะท้อนพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภค
มาซาฮิโตะ ฮาเซกาว่า หัวเรือใหญ่ฝ่ายค้าปลีกของ TRJ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวทำให้ต้นสังกัดนำเทรนด์อยู่ครึ่งก้าว
จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดทำให้ TRJ กลายเป็นที่ที่ต้องไปของแฟนเพลง โดยเฉพาะกลุ่มแฟนเพลงวงไอดอลของญี่ปุ่น และปัจจุบัน TRJ ยังให้ความสำคัญกับเพลง K-pop ที่มีด้อมเหนียวแน่น
TRJ สาขา ชิบูย่า อันเป็นสาขา Flagship ถึงขนาดมีชั้นหนึ่ง (จากทั้งหมด 9 ชั้น) ที่ยกให้เป็นชั้นของ K-pop ไปเลย
จากการปรับตัวดังกล่าวจึงกล่าวได้ว่า พลังด้อมทั้งของวงไอดอลญี่ปุ่น กลุ่มนักร้อง-วง K-pop และแฟนเพลงกลุ่มอื่น ๆ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อ TRJ ในปัจจุบัน ที่ CD เปลี่ยนไปเป็นไอเทมเสริมในการฟังเพลง และยอดผลิตลดลงไปเกินครึ่งจากเมื่อราว 10 ปีก่อน
จากนี้ TRJ น่าจะยังคงเติบโตต่อไปได้ ผ่านพลังด้อมของแฟนเพลงกลุ่มต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป จนน่าจะเปลี่ยนสโลแกนจาก No Music No Life เป็น No Fandom No TRJ/nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



