JD Central ไม่ได้ไปต่อ ส่งผลกับ ตลาดอีคอมเมิร์ซ 2566 อย่างไร ?

เก็บของกลับบ้านอีกหนึ่ง สำหรับ JD Central กับการประกาศยุติบริการในวันที่ 3 มีนาคม 2566 หลังจากที่เคยมีข่าวลือมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

การถอนตัวของ JD Central ถือเป็นรายที่ 2 ของอีมาร์เก็ตเพลสข้ามชาติรายใหญ่ในไทย ที่ถอนตัวออกจากตลาดหลังจาก 11 Street  ในปี 2561

และทำให้ตำนานอีมาร์เก็ตเพลส JSL เหลือเพียง SL คือ Shopee และ Lazada ที่ยังคงขับเคี่ยวอยู่ในตลาดดึงดูดเม็ดเงินลูกค้าในประเทศไทย

แต่เป็นการขับเคี่ยวที่เริ่มหยุดเผาเม็ดเงินเพื่อดึงดูดลูกเข้ามาในแพลตฟอร์ม และหันมาสร้างการเติบโต ลดอัตราขาดทุน สร้างผลกำไรมากขึ้น

ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาด้านการระดมทุนจากนักลงทุน ที่เริ่มระดมทุนได้น้อยลง จากการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจ

และอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ทั้งสองรายในประเทศไทย มีฐานลูกค้า และร้านค้าอยู่ในมือจำนวนมหาศาล ที่จะสามารถสร้างการเติบโตไปข้างหน้าได้โดยไม่ต้องห้ำหั่นเผาเงินดึงลูกค้าเข้าระบบ สร้างประสบการณ์ในการใช้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

และตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นการเติบโตที่ลดลงจากผู้บริโภคที่เข้ามาในระบบอีคอมเมิร์ซอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย จากข้อจำกัดในการเดินทาง เว้นระยะห่างทางสังคม

 

ในปี 2562 ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 165,000 ล้านบาท

ปี 2563 มูลค่า 396,000 ล้านบาท เติบโต 140%

ปี 2564 มูลค่า 693,000 ล้านบาท เติบโต 75%

และปี 2565 มูลค่า 900,900 ล้านบาท เติบโต 30%

ข้อมูลนี้อ้างอิงจาก Priceza

 

แม้อีมาร์เก็ตเพลสจะมีสัดส่วนมูลค่าที่สูงในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

แต่ตลาดนี้มีความท้าทายจากการแข่งขันที่สูง

ทั้งการแข่งขันจากโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่แบรนด์นำสินค้ามาขายผ่านช่องทางนี้ด้วยตัวเอง และการขายสินค้าผ่านพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

การแข่งขันของแพลตฟอร์มฟูดเดลิเวอรี ที่เปิดบริการควิกคอมเมิร์ซ ที่ส่งสินค้าในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

รวมถึงการแข่งขันของแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสด้วยกัน ที่ปรับตัวเข้าถึงผู้บริโภคอยู่เสมอ

เช่น การเปิดฟีเจอร์ Live Commerce ดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาดู Live ขายสินค้าด้วยอารมณ์ผ่อนคลายจนอารมณ์ร่วม CF ซื้อสินค้าโดยไม่รู้ตัว

การให้ความสำคัญกับการดึงแบรนด์เปิดร้านในรูปแบบ Official Store ในแพลตฟอร์ม สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า รับประกันของแท้ จากแบรนด์ขายเอง

ซึ่งการรับประกันของแท้ 100% เป็นจุดขายที่ JD Central สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งนับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวสู่ตลาดไทย

และนอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลดับเบิลเดย์ แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ ยังให้ความสำคัญกับโฆษณา สร้างการรับรู้ ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าในแพลตฟอร์ม

อ้างอิงจาก Nielsen ในปีที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณาตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน

เม็ดเงินโฆษณาในเซกเมนต์อีมาร์เก็ตเพลส มีมูลค่า 2,473 ล้านบาท เติบโต 12% จากช่วงเดียวกันในปี 2564

แบ่งเป็นเม็ดเงินจาก Lazada 1,135 ล้านบาท และ Shopee 1,125 ล้านบาท

ซึ่งการลงโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นเหมือนการสร้าง Awareness ให้กับผู้บริโภคจดจำและคิดถึงแพลตฟอร์มตัวเองเป็นแพลตฟอร์มแรกเมื่อคิดจะซื้อสินค้าเป็นอย่างดี

แม้ที่ผ่านมา JD Central จะมีการเติบโตด้านรายได้ แต่การแข่งขันในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสไทยมีการแข่งขันกันสูง

เมื่อดูที่ รายได้ของ JD Central ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นับตั้งแต่ปี 2560 ที่เริ่มทำตลาดในประเทศไทย พบว่ามีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

2560    รายได้ 0.52 ล้านบาท ขาดทุน 3.80 ล้านบาท

2561    รายได้ 458.42 ล้านบาท ขาดทุน 944.12 ล้านบาท

2562    รายได้ 1,284.83 ล้านบาท ขาดทุน 1,342.61 ล้านบาท

2563    รายได้ 3,491.69 ล้านบาท ขาดทุน 1,375.51 ล้านบาท

2564    รายได้ 7,443.36 ล้านบาท ขาดทุน 1,930.44 ล้านบาท

 

ซึ่งเป็นไปได้ว่า JD Central ยังไม่เห็นโอกาสที่จะสร้างผลกำไรในระยะสั้น ประกอบกับตลาดมีการแข่งขันสูง จึงขอถอนตัวออกจากตลาดไปก่อน

ส่วนอีมาร์เก็ตเพลส อย่าง Shopee มีรายได้ย้อนหลัง เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่มีการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ปี 2560 รายได้ 139.76 ล้านบาท ขาดทุน 1,404.20 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 165.30 ล้านบาท ขาดทุน 4,113.96 ล้านบาท

ส่วนปี 2562 รายได้ 1,986.02 ล้านบาท ขาดทุน 4,745.72 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้ 5,812.79 ล้านบาท ขาดทุน 4,170.17 ล้านบาท

และปี 2564 รายได้ 13,322.18 ล้านบาท ขาดทุน 4,972.56 ล้านบาท

 

ส่วน Lazada เป็นอีมาร์เก็ตเพลสที่เริ่มมีกำไรจากการประกอบธุรกิจ

ปี 2560 รายได้ 1,757.21 ล้านบาท ขาดทุน 568.27 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 8,162.77 ล้านบาท ขาดทุน 2,645,23 ล้านบาท

ต่อมาปี 2562 รายได้ 9,413.22 ล้านบาท ขาดทุน 3,707.37 ล้านบาท

ส่วนปี 2563 รายได้ 10,011.77 ล้านบาท ขาดทุน 3,988.77 ล้านบาท

และปี 2564 รายได้ 14,675.29 ล้านบาท กำไร 226.89 ล้านบาท

ล่าสุดปี 2565 รายได้ 20,675.45 ล้านบาท กำไร 413.08 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี การแข่งขันของธุรกิจยังคงต้องดำเนินต่อไป ท่ามกลางการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการแข่งขันกันสูงของผู้ให้บริการในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

เพราะตลาดนี้มีโอกาสจากผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ที่สามารถซื้อได้ 24 ชั่วโมง X 7 วัน

ส่วนผู้บริโภคจะซื้อผ่านช่องทางไหนขึ้นอยู่กับความชอบในแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์โดนใจผู้บริโภคที่สุด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online