สายมู กับธุรกิจท่องเที่ยวไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไร ? (วิเคราะห์)
พระพรหมเอราวัณทำรายได้ให้กับการท่องเที่ยว 3-4 พันล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากราบไหว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงที่นิยมมาประเทศไทยเพื่อกราบไหว้พระพรหมเอราวัณจำนวนมาก
และการท่องเที่ยวสายมูมีมานานในประเทศไทย ที่สามารถสร้างความถี่ให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยถี่ขึ้น เพราะการกราบไหว้บูชา สามารถทำได้บ่อย ๆ ทั้งไหว้ขอพร ไหว้แก้บน ไหว้วันเกิด ไหว้เพราะรู้สึกจิตตก และอื่น ๆ
วรวุฒิ อุ่นใจ กูรูด้าน SME บอกเล่าถึงเรื่องราวการสร้างตลาดการท่องเที่ยวสายมู จากการมองเห็นโอกาสหลังประเทศไทยกลับมาเติบโตด้านการท่องเที่ยวอีกครั้ง
สำหรับมุมมองของวรวุฒิมองว่าประเทศไทยสามารถนำเอาสายมู มาเป็นเครื่องมือดึงแทรฟฟิกนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวฝั่งเอเชีย ที่มีความเชื่อในสายมูจำนวนมาก
และเมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วจะเกิดการท่องเที่ยวต่อ รับประทานอาหารสตรีทฟู้ด ช้อปปิ้งสินค้า กระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ในประเทศได้
เพราะ GDP การท่องเที่ยวไม่ได้มีส่วนประกอบแค่เพียงการนำเงินจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเท่านั้น ซึ่งถ้ามองในมุมนี้เพียงมุมเดียว GDP จากการท่องเที่ยวจะมีเพียง 7-8% เท่านั้น
แต่เมื่อมองลึกลงไป GDP จะประกอบด้วย C + I + G + (X – M). C
C แรกคือ Consumption การบริโภค การใช้จ่ายของประชาชน
I Investment การลงทุนภาคเอกชน
G Government Spending การลงทุนของภาครัฐ
X Export การส่งออก
M Import การนำเข้า
ซึ่งการท่องเที่ยวสามารถตอบโจทย์ GDP ด้าน Consumption เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะเกิดการใช้จ่ายในประเทศ
เกิดการได้ดุลการค้าจากการนำเงินต่างประเทศเข้ามาในไทย หรือจัดอยู่ในกลุ่ม Export
และเกิดการลงทุนของภาคเอกชน ที่จะขยายธุรกิจรองรับนักท่องเที่ยว ภาครัฐที่จะวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับประชาชนในประเทศ และนักท่องเที่ยว
ถ้ารวมทั้งหมดนี้จะสามารถสร้าง GDP การท่องเที่ยวได้ 15%
นอกจากนี้ การท่องเที่ยว สายมู นอกเหนือการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นชื่ออยู่เดิมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งเทศและไทยแล้ว
ยังสามารถวางกลยุทธ์ต่อยอดไปยังโอกาสการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ได้
วรวุฒิยกตัวอย่าง เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีหลวงพ่อโสธร ที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากราบไหว้บูชาปีละประมาณ 6 ล้านคนแล้ว
แต่ความท้าทายของจังหวัดฉะเชิงเทราคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้หลวงพ่อโสธรเป็นที่เรียบร้อย จะเดินทางกลับโดยไม่ค่อยแวะท่องเที่ยวในสถานที่อื่น ๆ ในฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทราจึงสร้างพระพิฆเนศขึ้นมาสองแห่ง ด้วยจุดขายพระพิฆเนศองค์นอนที่ใหญ่ที่สุดที่วัดสมาน และมีตลาดนัดริมน้ำรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
และสร้างอุทยานพระพิฆเนศองค์ยืนขึ้นมา ในรัศมีห่างกันประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวสายมู ที่เดินทางมากราบไหว้บูชาหลวงพ่อโสธรให้เดินทางต่อเพื่อกราบไหว้พระพิฆเนศ
เหตุผลที่สร้างพระพิฆเนศเพราะต้องการลิงก์ความเชื่อไปกับหลวงพ่อโสธร ที่มีละครรำแก้บน เพราะพระพิฆเนศเป็นเทพศิลปะและการแสดง
การดึงดูดนักท่องเที่ยวสายมูของฉะเชิงเทราผ่านจุดหมายปลายทางกราบไหว้ที่ต่อยอดจากหลวงพ่อโสธร ใช้เวลาในการใช้เวลา 10 ปีสร้าง GDP ให้จังหวัดเติบโต จนปัจจุบันมีร้านค้าชุมชนที่วัดสมาน 600 ร้าน และสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวสายมูในฉะเชิงเทรา 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวสายมู เป็นหนึ่งในแนวทางที่วรวุฒิมองว่าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศได้ส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวในรูปแบบธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อของไทย
และในปีนี้ ททท. คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากถึง 40 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
และการท่องเที่ยวสายมูเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ขับเคลื่อนนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



