สถานการณ์โลกในปัจจุบันโดยเฉพาะด้านพลังงานเปลี่ยนไปพอสมควร และเป็นเค้าลางให้เห็นแล้วว่า ประเทศที่มีแหล่งแร่เพื่อการผลิตรถ EV และพลังงานสะอาด จะเพิ่มบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แนวโน้มดังกล่าวทำให้ปีนี้ข่าวการพบแหล่งแร่ในยุโรปของสวีเดนกับนอร์เวย์ได้รับความสนใจ ขณะที่ข่าวกลุ่มทุนจีนทุ่มเงินจนชนะการประมูลทำเหมืองในโบลิเวีย แหล่งแร่ลิเทียมใหญ่สุดในโลกก็เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร

ล่าสุดมองโกเลียก็เป็นอีกประเทศที่ต้องจับตามองเช่นกันในยุคที่โลกตื่นตัวมุ่งหาแหล่งแร่ป้อนสายการผลิตรถ EV และพลังงานสะอาด พร้อมเริ่มหันหลังให้น้ำมัน

มองโกเลีย ถือเป็นแหล่งแร่อีกแห่งในเอเชียตะวันออก แม้ไม่มากเท่าจีนแต่ก็มีพอสมควร โดยข้อมูลของทางการมองโกเลียระบุว่า มีทองแดงอยู่ 61.4 ล้านตัน และแร่หายากต่าง ๆ อีก 3.1 ล้านตัน

บรรดากลุ่มแร่อย่างหลังนี่เองที่มองโกเลียหันมาให้ความสำคัญ เพราะอาจมีแร่อย่างลิเทียมหรือนิกเกิล ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV หรือแร่อื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิตนวัตกรรมยานยนต์นี้อยู่ด้วย

ท่ามกลางการรายงานว่าบริษัทยานยนต์สัญชาติเยอรมันก็เคยมาสำรวจ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำแร่จากมองโกเลียไปใช้ผลิตรถ EV

รองนายกรัฐมนตรี Amarsaikhan Sainbuyant ของมองโกเลีย กล่าวระหว่างเดินทางเยือนอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ว่า อุตสาหกรรมเหมืองสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เพราะคิดเป็น 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่ก็ติดอยู่ที่เทคโนโลยีด้านนี้ของมองโกเลียเองไม่ทันสมัย ดังนั้นจึงเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างเต็มที่ พร้อมตั้งเป้าส่งออกและทำเงินจากอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นอีกในอนาคต

ถ้อยแถลงดังกล่าวต้องจับตามอง เพราะไม่ใช่แค่เป็นการย้ำว่าอุตสาหกรรมเหมืองคือเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประเทศเท่านั้นแต่ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า มองโกเลียอยากให้ชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากยิ่งขึ้น

เพื่อลดทั้งการพึ่งพาและอิทธิพลของรัสเซียกับจีนอีก ซึ่งต่อไปจะช่วยให้ดินแดนของ เจง กิสข่าน เชื่อมต่อกับโลกได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามกันต่อในระยะยาวว่า จะทำสำเร็จได้แค่ไหนหรือรัฐบาลมองโกเลียจะใช้วิธีการใดและอย่างไร เพราะมองโกเลียเป็นประเทศไม่มีทางออกทางทะเล (Landlocked) โดยตอนบนติดรัสเซีย ส่วนตอนล่างก็ติดกับจีน

สถานการณ์มองโกเลียในปัจจุบันและอนาคตจากนี้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแม้เป็นประเทศปิดที่ถูกสองยักษ์ใหญ่ขนาบไว้แต่ก็เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ประชาชนจะออกมารวมตัวประท้วงเสมอหากไม่พอใจรัฐบาล

ซึ่งล่าสุดก็คือการประท้วงเมื่อปลายปี 2022 ให้จัดการกรณีธุรกิจเหมืองถ่านหินที่เกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งสร้างความเสียหายให้ประเทศถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 401,000 ล้านบาท)

ดังนั้นทุกความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมเหมืองต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อปลุกเศรษฐกิจหลังพ้นวิกฤตโควิด ไม่ต้องเผชิญวิกฤตหนี้แบบประเทศแถบเอเชียใต้ ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความกังวล และทำให้รัฐบาลครองความนิยมเพื่อบริหารประเทศได้ต่อไป/nikkei

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online