เชื่อได้เลยว่าหลายคนน่าจะรู้จัก IKEA (อิเกีย) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านชื่อดังระดับโลกที่เริ่มต้นมาจากบริษัทสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์เล็ก ๆ ในชนบทของประเทศสวีเดน เพราะเป็นแบรนด์ที่มอบทั้งดีไซน์ที่สวยงามและความสะดวกสบายให้แก่ผู้คนทั่วโลก
ที่สำคัญ IKEA ไม่ได้โด่งดังแค่เฟอร์นิวเจอร์เท่านั้น แต่ยังโด่งดังในเรื่องอาหารอีกด้วย เห็นได้จากปัจจุบันเราเห็นผู้คนจำนวนมากนิยมรีวิวหรือเอ่ยถึงอาหารและขนมของ IKEA ผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดียเป็นประจำ สิ่งนี้ทำให้ความสำเร็จของ IKEA มีมากกว่าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์นั่นเอง
รู้หรือไม่ว่า IKEA สามารถทำเงินได้มากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปีจากการขายอาหารอย่างเดียว ทำให้ยอดขายอาหารของ IKEA คิดเป็น 6% ของรายได้ทั้งหมด และเติบโต 8% ต่อปีตั้งแต่ปี 2016 นอกจากนี้ IKEA ยังเป็นผู้ขายอาหารรายใหญ่อันดับที่ 10 ถ้าไม่นับรวมแบรนด์ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงติดอันดับ 1 ใน 50 ห่วงโซ่อาหารชั้นนำทั่วโลก
ทำไม IKEA ถึงเริ่มขายอาหาร
แท้จริงธุรกิจอาหารของ IKEA ที่เริ่มต้นในปี 1958 เป็นกลยุทธ์ที่คิดมาอย่างดีเพื่อกระตุ้นยอดขายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากร้านของ IKEA มักตั้งอยู่ในเขตชานเมืองและห่างไกลจากที่ตั้งของร้านอาหารทั่วไป ดังนั้น แนวคิดเริ่มต้นคือการจัดหาอาหารให้กับลูกค้าในร้าน เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องออกไปรับประทานอาหารกลางวันหรือรับประทานของว่างข้างนอก
ซึ่งแนวคิดนี้มาจาก Ingvar Kamprad (อิงวาร์ คัมพราด) ผู้ก่อตั้ง IKEA ที่คิดว่าหากลูกค้ากำลังหิวอยู่ พวกเขาจะซื้อของน้อยลง ทำให้ร้านอาหารของ IKEA ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กำไร แต่เป็นการหลอกล่อลูกค้าด้วยอาหารแสนอร่อยและราคาย่อมเยา ก่อนที่พวกเขาจะจบลงด้วยการซื้อเฟอร์นิเจอร์กลับบ้านต่อไป หรือกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจเข้ามาซื้อของในร้าน IKEA มากขึ้น
กลยุทธ์นี้ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะ 30% ของลูกค้าของ IKEA ทั่วโลกเป็นลูกค้าที่มาเพื่อรับประทานอาหารเป็นหลัก ส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์จากลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ IKEA เป็นหลักเพิ่มประมาณ 5-15%
เริ่มต้นธุรกิจอาหารเป็นตัวเอง
IKEA เริ่มเปิดธุรกิจอาหารในปี 1958 โดยเริ่มจากกาแฟและอาหารเย็น แต่ในเวลาต่อมา IKEA ได้ให้บริการอาหารว่าง อาหารตามสั่ง ขนม และอาหารแช่แข็งเพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากธุรกิจอาหารของ IKEA ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี
โดยส่วนมากเมนูของ IKEA จะเป็นอาหารสแกนดิเนเวียนอย่าง Meatball (มีตบอล) ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งในแต่ละปี IKEA ขาย Meatball ได้ประมาณหนึ่งพันล้านชิ้น หรือ English Breakfast (อาหารเช้าแบบอังกฤษ) ของ IKEA ก็มีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น สิ่งนี้ทำให้อาหารใน IKEA ได้รับความชื่นชอบจากผู้คนนั่นเอง
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของธุรกิจอาหารของ IKEA กระตุ้นให้ผู้บริหารของ IKEA ลองเปิดร้านอาหารป๊อปอัปเพียงอย่างเดียวในพื้นที่หลายแห่งในปี 2017 ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน ปารีส และออสโล แต่ถึงแม้ร้านป๊อปอัปของ IKEA จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ IKEA ก็ยังคงตัดสินใจเหมือนเดิมที่ไม่มีแพลนเปิดร้านอาหาร IKEA โดยเฉพาะ
IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นคู่แข่งที่ร้านอาหารคาดไม่ถึง
เมื่อค้นหาแบรนด์เครือข่ายอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก หลายคนคงเจอ KFC, Burger King, McDonald’s หรือแบรนด์อื่น ๆ แต่เมื่อค้นหาไปเรื่อย ๆ อาจพบแบรนด์หนึ่งที่แปลกตา นั่นก็คือ IKEA เนื่องจากรายได้จากการขายอาหารของ IKEA ทั้งหมดนั้นมากพอจน IKEA สามารถถูกจัดว่าเป็นแบรนด์ร้านอาหารเครือข่ายได้
โดยในปี 2018 IKEA มีลูกค้าร้านอาหารกว่า 650 ล้านคนจาก 50 ประเทศทั่วโลก และในปี 2019 จากผลสำรวจ พบว่า IKEA สามารถทำเงินจากอาหารได้มหาศาลจนขึ้นเป็นอันดับ 6 ในแบรนด์ร้านอาหารเครือข่ายของโลก
และถึงแม้ IKEA จะไม่มีแพลนเปิดร้านอาหารโดยเฉพาะ แต่ IKEA ก็จริงจังกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมากไม่แพ้ธุรกิจหลักอย่างเฟอร์นิเจอร์เลยทีเดียว ในบางประเทศ IKEA ไม่ได้ทำแค่ร้านอาหารเล็ก ๆ ในร้านเฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ เช่น ในปี 2018 IKEA สาขาหนึ่งในประเทศอินเดียได้สร้างความฮือฮาจากการเปิดร้านอาหารขนาดใหญ่ที่จุคนได้ถึง 1,000 คน ซึ่งสิ่งนี้เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นการเพิ่มกระแสความนิยมของเฟอร์นิเจอร์ IKEA แล้ว ยังทำให้ชาวอินเดียชื่นชอบ IKEA มากขึ้นไปอีกเท่าตัว ด้วยอาหารคุณภาพและราคาไม่แพง รวมไปถึงที่นั่งมากมายให้เลือกนั่งรับประทาน
การตั้งราคาอาหารที่ถูกของ IKEA เป็นหนึ่งในกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสินค้าใน IKEA ราคาไม่แพง เพราะจากบทความของ Business Insider เว็บไซต์ข่าวการเงินและธุรกิจชื่อดังของอเมริกา ได้ระบุว่าปกติผู้คนไม่ได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์เป็นประจำ จึงทำให้บอกไม่ได้ว่าเหล่าเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ตรงหน้านั้นราคาแพงหรือถูก แต่สำหรับอาหารที่ซื้อในชีวิตประจำวันจะสามารถเปรียบเทียบราคาได้ทันที
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ IKEA ตั้งราคาอาหารและขนมให้ถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ เพราะต้องการให้ลูกค้ามองแบบเหมารวมว่าร้านนี้ขายของถูกและตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ที่มา:
https://www.businessinsider.com/heres-how-ikea-manipulates-your-spending-2015-6
https://buildd.co/marketing/ikea-food-effect
https://www.devonlive.com/news/uk-world-news/ikea-sells-meatballs-reason-cheap-7188375
https://www.cnbc.com/2019/10/05/psychology-behind-ikeas-huge-success.html
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



