สลัดแฟคทอรี่ จากธุรกิจครอบครัว ย่านเมืองทองธานี สู่แบรนด์ในเครือ CRG ที่มุ่งยอดขาย 700 ลบ. ในตลาดร้านอาหารเพื่อสุขภาพ 5 พัน ลบ. ด้วยการเปิด 9 สาขาใหม่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล-เซ็นทรัล พัทยา ชูคอนเซ็ปต์ ผักสลัดอินทรีย์จากเกษตรกรไทย และเมนูเพื่อสุขภาพที่รับประทานได้บ่อยในชีวิตประจำวัน
ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ หรือ สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) ในเครือ Central Restaurants Group (CRG) เผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีการเปิดสาขาใหม่ทั้งหมด 12 สาขา
ยอดขายทั้งปีอยู่ที่ 438 ล้านบาท โต 70% YoY ทั้งหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สัดส่วนรายได้จากการมานั่งรับประทานที่ร้านเพิ่มอยู่ที่ 70% และเดลิเวอรี 30%
และบริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร (Non-Restaurant) ที่หันมาเริ่มทำอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา 18 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่เป็นแหล่งรายได้หลัก คือ น้ำสลัด ซึ่งบริษัทมีโรงงาน 1 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี ที่เป็นครัวกลางส่งวัตถุดิบให้กับสาขาต่าง ๆ และรับจ้างผลิต (OEM) น้ำสลัดมาตรฐานสากล
แผนการดำเนินงาน ปี 2566
ปิยะ เผยว่า โมเดลร้านอาหารของบริษัทในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ไซซ์ 1. ร้านขนาดใหญ่ (Full Shop) เสิร์ฟรวม 300 เมนู, 2. ร้านขนาดกลาง (Compact) เสิร์ฟรวม 210 เมนู และ 3. ร้านขนาดเล็ก (Kiosk) ที่เน้นให้บริการรูปแบบซื้อกลับ หรือ Grab & Go
ซึ่งแผนการดำเนินงาน ปี 2566 บริษัททุ่มงบลงทุนและทำการตลาดรวม 70 ล้านบาท ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ 9 สาขา เน้นอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และโฟกัสที่ร้าน Full Shop เป็นหลัก
ทั้งเป็นปีแรกที่จะมีการไปเปิดสาขาใหม่ในต่างจังหวัด 1 สาขา ณ เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช (Central Festival Pattaya Beach) วันที่ 12 เมษายน 2566 พร้อมเสิร์ฟเมนูที่มีเฉพาะสาขานี้เท่านั้น โดยใช้วัตถุดิบอาหารทะเลจากท้องถิ่น
ตลอดจนมีแผนรีโนเวตใหญ่สาขาเดิม 4 สาขา เริ่มนำร่องแล้วที่สาขาแรกของบริษัทที่ เมืองทองธานี ก่อนตามด้วยสาขาที่ ศรีสมาน, อารีย์ และสายไหม
ซึ่งจะส่งผลให้จบปี 2566 บริษัทจะมีร้านสลัดแฟคทอรี่ 39 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 30 สาขา, นนทบุรี 5 สาขา, ปทุมธานี 2 สาขา, สมุทรปราการ 1 สาขา และ พัทยา 1 สาขา
ตั้งเป้ายอดขาย ปี 2566 อยู่ที่ 700 ล้านบาท และส่วน Non-Restaurant อีก 50 ล้านบาท รวมเติบโต 40% YoY
ปีนี้ยังมีความพิเศษตรงที่เป็นการครบรอบ 10 ปี ของแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ ก่อนเติบโตขึ้นอย่างมากหลังได้เข้ามาร่วมทุน (Joint Venture) กับ CRG เมื่อปี 2562
ซึ่งก่อนหน้าเข้ามา Joint Venture กับ CRG สลัดแฟคทอรี่ ยังเป็นเพียงธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่มีอัตราเติบโตอยู่ปีละ 1-2 สาขาใหม่ และกระจุกตัวอยู่ตามชานเมืองรอบนอกของกรุงเทพฯ
โดยบริษัทจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้บริโภคเป็นพิเศษ ฉลองการอยู่ด้วยกันมาครบ 10 ปี ผ่านการออกกลยุทธ์, แคมเปญ และกิจกรรมใหม่ ๆ อาทิ ปรับโฉมหน้าเว็บไซต์ของสลัดแฟคทอรี่ ให้มีการแสดงจำนวนแคลอรีของแต่ละเมนูชัดเจน ทั้งลูกค้ายังสามารถคัสตอมเมนูผักสลัดได้แบบ DIY พร้อมคำนวณแคลอรีของออเดอร์นั้นให้ทันที
ด้านวัตถุดิบที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคของร้านอาหารเพื่อสุขภาพ อย่าง ผักสลัดอินทรีย์ บริษัทจะยังมีการรับซื้อกับเกษตรกรทั่วประเทศไทยเช่นเดิม โดยมีบางรายที่อยู่กับบริษัทมาตั้งแต่เริ่มตั้งร้านวันแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ทั้งจะขยายเวลาเปิดให้บริการ รองรับดีมานด์กลับมารับประทานในร้านที่เพิ่มขึ้นจากการคลี่คลายของโควิด-19, ปรับเมนูหน้าร้านใหม่ให้มีมากถึง 250 เมนูขึ้นไป โดยนอกจากอาหารประเภทผักสลัดแล้ว บริษัทจะเพิ่มความหลากหลายของเมนูที่มีเนื้อสัตว์ และแซนด์วิช ทั้งใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นด้วย
และจะมีการชวนลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายสูง (Top Spender) มาเข้าร่วม เชฟส์เทเบิ้ล (Chef’s Table) สุดพิเศษที่ช่วยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรไปในตัว ทั้งจัดงานแสดงดนตรีในร้านสาขา Full Shop อีกด้วย
ตลาดร้านอาหารในไทย 4.1 แสน ลบ.
คาเฟ่บัลลังก์แชมป์ 3 หมื่น ลบ. |
||
มูลค่ารวมตลาดร้านอาหารในไทย ปี 2565 | 410,000 ล้านบาท (โต 14% YoY) | |
3 เซกเมนต์ใหญ่สุด | ||
ร้านคาเฟ่-เครื่องดื่ม | 30,000 ล้านบาท | |
ร้านอาหารญี่ปุ่น | 25,000 ล้านบาท | |
ร้านอาหารบริการด่วน (QSR) ที่มีไก่เป็นเมนูหลัก | 25,000 ล้านบาท | |
* ปี 2565 ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ มีอัตราการเติบโตมากถึง 60% YoY โดยมีมูลค่ารวมในตลาดร้านอาหาร อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท | ||
ที่มา: เก็บข้อมูลร้านอาหารในไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหลัก โดย CRG, มีนาคม 2566 |
ส่วนของภาพรวม ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Salad) ปี 2565 มีแชร์อยู่ในตลาดร้านอาหารในไทย อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 60% YoY
โดยในมุมของการทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพในไทย บริษัทมองว่าไม่มีการแข่งขันกันอย่างชัดเจนขนาดนั้น เพราะแต่ละรายก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป อาทิ บางร้านมีแบบบุฟเฟต์ ซึ่งเหมาะไปรับประทานเป็นกลุ่มใหญ่
บางร้านเหมาะสำหรับมื้อพิเศษในวันสำคัญของเรา หรือคนที่เรารัก และยิ่งมีหลายร้านก็ยิ่งสร้างทางเลือกการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ส่วน สลัดแฟคทอรี่ เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่มีเมนูอาหารให้เลือกหลากหลาย และราคาเข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับมารับประทานได้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน และบริษัทให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพของอาหาร และการบริการภายในร้าน มากกว่ามองเรื่องการเติบโตทางมูลค่าแบรนด์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับทอป 3 ของตลาดนี้อยู่แล้ว
นอกจากนั้น ตลาดร้านอาหารเพื่อสุขภาพยังมีผู้เล่นแอบแฝงที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของร้านเชนใหญ่ อย่าง ร้านระดับท้องถิ่น ที่ทำด้วยความรักและซื่อสัตย์กับคนในชุมชน ซึ่งสามารถเก็บฐานลูกค้าในละแวกร้านได้เกือบหมด
แน่นอนว่าด้วยสายพานการผลิตที่มีมาตรฐานสากล และเซอร์วิสที่มีความพร้อมมากกว่าของร้านเชนใหญ่ ทั้งตราบใดที่ผู้บริโภคยังมีความตื่นตัวเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะยังมีโอกาสให้กับร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ได้เติบโตอยู่เสมอ
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



