ชัดเจนแล้วว่าสถานการณ์โควิดได้ผ่านไปแล้ว และโลกการทำงานได้พ้นช่วงปรับตัว แต่ยังมีอีกปัญหาให้ต้องกังวล ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยกัน เพราะสมาชิกรุ่นใหม่สุดของทุกออฟฟิศกำลังเผชิญกับความเครียดมหาศาล
การสำรวจความคิดเห็นและข้อมูลจากรายงานมากมายในแวดวงการทำงานเป็นไปทิศทางเดียวกันว่า Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี คือกลุ่มที่เครียดสุดในทุกบริษัท หลังต้องแบกรับความเครียดมากมายหลายด้าน
ไล่ตั้งแต่การปรับตัวให้เข้ากับบรรดาพนักงานรุ่นพี่ ๆ คือ Millennials (หรือ Gen Y), Gen X และ Babyboom หลังคนรุ่นตนต้องเรียนแบบออนไลน์มานานสืบเนื่องจากภาวะล็อกดาวน์มาราว 2-3 ปี
ต่อด้วยการทำงานมาได้ไม่เท่าไรก็มาเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ จนบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลกพากันปลดพนักงาน และหวั่นว่าบริษัทต้นสังกัดจะประกาศปลดคนงาน จนตนต้องตกงาน ทั้งที่ก็เพิ่งทำงานมาได้ไม่นาน
อีกเรื่องที่ Gen Z กังวลคือ วิกฤตเศรษฐกิจ เพราะกลัวว่าเงินเดือนระดับเริ่มต้นในฐานะคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน (First jobber) อาจไม่กับพอกับการฝ่าปัญหาข้าวยากหมากแพง
ส่วนข่าวเชิงลบต้นตอของงวิกฤต ทั้งปัญหาข้าวยากหมากแพง สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรป และการปลดพนักงานล็อตใหญ่ที่ท่วมสื่อก็เป็นต้นเหตุให้ Gen Z เครียดเช่นกัน
และเรื่องสุดท้ายที่ทำให้ Gen Z เครียดคือ สังคมการทำงานยุคปัจจุบัน ที่เป็นแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างทำงานในออฟฟิศกับทำอยู่ที่บ้าน (Work from home) แม้ถือว่ายืดหยุ่นและเป็นไปตามสะดวก
แต่เพราะสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ Gen Z จึงไม่ทราบถึงความรู้สึกจริง ๆ ของเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า จนไม่ทราบว่างานที่ส่งไปนั้นถูกใจจริง ๆ หรือไม่ และพลาดโอกาสให้รุ่นพี่หรือหัวหน้าได้สอนงานอีกด้วย
ภาวะที่ปัญหามากมายประดังเข้ามาไม่หยุดหย่อนนี้เรียกว่า Permacrisis โดยข้อมูลของบริษัทประกันภัย Cigna ที่สำรวจผ่านกลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานทั่วโลก ระบุว่า กลุ่ม Gen Z 91% ที่เครียดจากสังคมการทำงานในปัจจุบัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทุกช่วงวัยที่ 84%
ส่วนการสำรวจความคิดเห็นของวัยทำงานในสหรัฐฯ เมื่อตุลาคมปี 2022 ระบุว่า 34% ของคนวัยทำงานทุกช่วงวัยเครียดจากปัญหาที่รุมเร้าในปัจจุบัน และคิดว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้คงจะทำให้ไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง
แต่ Gen Z เครียดกับปัญหานี้มากกว่านั้น โดย 59% ของกลุ่มนี้คิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจคงกระทบอย่างมากจนไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง
มาที่เรื่องความมั่นใจในการทำงานคน Gen Z ก็มีน้อยสุด โดยตามการสำรวจของสำนักข่าว BBC ระบุว่า Gen Z 43% เท่านั้นที่มั่นใจเต็มที่ในการทำงาน ตามหลังคนทำงานกลุ่ม Gen Y, Gen X และ Babyboomer ที่ 59% มั่นใจเต็มที่ในการทำงาน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ Gen Z อยากลาออกไปหางานใหม่มากสุด โดยตามการสำรวจของกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐฯ ระบุว่า Gen Z มากถึง 77% ที่อยากหางานใหม่
ปัญหา Gen Z เผชิญความเครียดจาก Permacrisis เป็นเรื่องที่คนรุ่นพี่ ๆ ในออฟฟิศต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ผ่านการสอบถาม และให้คำปรึกษา ก่อนที่ Gen Z จะลาออกไป
เพราะตามคาดการณ์ของกลุ่มประเทศองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า เมื่อถึงปี 2025 กลุ่ม Gen Z จะครองสัดส่วน 27% หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของคนวัยทำงานทั่วโลก ดังนั้น อนาคตโลกการทำงานและเศรษฐกิจจึงอยู่ในมือพวกเขา/bbc
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ