ราว 3-4 ปีมานี้ ขณะที่โลกตกอยู่ใต้สถานการณ์โควิด มีความเคลื่อนไหวด้านนวัตกรรมคมนาคมอย่างหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองอย่างมาก เพราะถ้าเป็นไปตามเป้าการสัญจรไปมาตามเมืองใหญ่จะเทคออฟสู่ยุคใหม่ทันที

e-VTOL

แท็กซี่บินได้ ซึ่งเป็นอากาศยานพลังงานไฟฟ้าขึ้น-ลงแนวตั้ง (e-VTOL) คือนวัตกรรมดังกล่าว โดยท่ามกลางข่าวการเดินหน้าพัฒนาของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี และอากาศยาน เข้ามามีส่วนร่วม ก็มีประเด็นที่ทำให้นวัตกรรมนี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

เพราะมีการตั้งเป้านำ e-VTOL มาใช้ในสองอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Olympic ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส กับ World Expo ในญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าด้านหนึ่งจะช่วยโปรโมตสองอีเวนต์ใหญ่ต่างซีกโลก ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็จะถือเป็นการซ้อมใหญ่ เพื่อนำไปสู่การใช้ตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกในอนาคต

 

ฝั่งยุโรปชิงเทคออฟก่อนในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

ลำพังแค่แผนการจัด Olympic ในกรุงปารีสปี 2024 ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ทยอยออกมา อย่างแข่งศิลปะบังคับขี่ม้าที่สนามหน้าวัง Versailles วอลเลย์บอลชายหาดหน้าหอ Eiffel และลู่วิ่งบนแม่น้ำ แถมพิธีเปิดก็ยังใช้ขบวนเรือยาวสุดลูกหูลูกตาอีก

แต่ในงาน Amsterdam Drone Week ในเนเธอร์แลนด์เมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่จะทำให้คนทั่วโลกอยากร่นเวลาการกลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกหน 2 ในรอบ 100 ปีของเมืองหลวงฝรั่งเศสให้เร็วขึ้น เพราะจะมีการนำ e-VTOL มาใช้ด้วย

Groupe ADB บริษัทฝรั่งเศสที่ดูแลโครงการนี้เผยว่า จะใช้ e-VTOL 5 ลำ ให้บริการใน 3 เส้นทาง เช่น Charles de Gaulle สนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ของประเทศ ไปยัง Le Bourget สนามบินขนาดเล็กกว่าทางตอนเหนือของกรุงปารีส

 สนามบิน Charles de Gaulle

และช่วงปลายปี 2023 จะมีการทดสอบก่อนเพื่อชาวเมืองได้สัมผัสกัน และสร้างความคุ้นเคย โดยถ้าเป็นไปตามแผน ก็จะได้นำโครงการที่เรียกกันว่า Tesla of the Sky มาใช้ใน Olympic และ Paralympic ในปี 2024 ต่อไป ซึ่งจะถือเป็นการนำ e-VTOL มาใช้ในเมืองใหญ่ และงานระดับโลก เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

ส่วนอนาคตก็จะมานำใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วน โดยเฉพาะทางการแพทย์ อย่างการพาผู้ป่วยโรคหัวใจที่อาการกำเริบจนเข้าขั้นวิกฤตไปโรงพยาบาล

 

เอเชียตามมาติด ๆ แต่เล่นใหญ่และจัดเต็มกว่า

ทั้งที่เคยเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกด้านนวัตกรรม แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเจ็บปวดกับการต้องตามหลังเพื่อนบ้านร่วมทวีปเอเชีย โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้ จนนำไปสู่การยกเครื่องครั้งใหญ่ตั้งแต่ฐานราก

อย่างการเพิ่มคณะด้านนวัตกรรมตามมหาวิทยาลัย และค่ายรถญี่ปุ่นพร้อมใจกันตั้งซีอีโอใหม่ โดยพอถึงปี 2025 แผนยกเครื่องเหล่านี้จะเริ่มเห็นผลบ้าง พร้อมงานใหญ่ที่จะมีฝูงนวัตกรรมการเดินทางขึ้นบิน เพื่อย้ำความมุ่งมั่นแผนยกเครื่อง

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผนึกกำลังกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องวางแผน นำ e-VTOL มาใช้ในงาน World Expo ปี 2025 ที่ Osaka ใน 8 เส้นทาง เช่น จากสนามบินไปถึงสถานที่จัดงาน และจากสนามบินไปยังย่านใจกลางเมือง เพื่อให้สอดรับและฉายภาพแห่งอนาคตตรงกับธีมงานที่ว่า การออกแบบสังคมแห่งอนาคตเพื่อชีวิตของเรา  

ความน่าสนใจของโครงการดังกล่าวในญี่ปุ่น ยังอยู่ที่บริษัทใหญ่ ๆ ระดับประเทศ อย่าง Toyota ANA และ Japan Airlines ต่างเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ

และหลังจากมีข่าวโครงการนี้ออกไปไม่นาน Park24 บริษัทผู้ให้บริการลานจอดรถรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เริ่มพัฒนาลานจอด e-VTOL ในเมืองใกล้กับสถานที่จัดงาน เพราะเชื่อว่าคงจะทำเงินได้พอสมควร และยังช่วยโปรโมตบริษัทไปในตัวตลอด 6 เดือนของงาน World Expo ครั้งนี้ด้วย

หากทั้งหมดเป็นไปตามแผน การนำ e-VTOL มาใช้ทั้งใน Olympic ที่ฝรั่งเศส ปี 2024 และ World Expo ที่ญี่ปุ่นในปีต่อมา ฝั่งยุโรปก็จะขึ้นนำไปก่อนกับนวัตกรรมการเดินทางนี้ และออกตัวสำหรับการพัฒนาเป็นธุรกิจหรือทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนได้ก่อน

โดยปารีสเองจะถือเป็นหนึ่งในเมืองหลวงใหญ่ของโลกที่มีทางเลือกในการเดินทาง เพราะนอกจาก e-VTOL แล้วกรุงปารีสยังกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างรถกระเช้าอีกด้วย แต่เสียดายที่จะแล้วเสร็จในปี 2025 จึงไม่ทันได้ใช้ใน Olympic

ส่วนฝ่ายเอเชีย แม้ตามหลังแต่ก็ไม่ถือว่าล้าหลังมากนัก เพราะทดแทนด้วยเส้นทางบินมากกว่าตามแผนที่ผู้จัดงาน World Expo ได้ประกาศไป

และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีความเคลื่อนไหวมากมายที่ให้ฝั่งยุโรปประมาทไม่ได้ออกมา เช่น Jeju เมืองเกาะท่องเที่ยวชื่อดังของเกาหลีใต้จะนำ e-VTOL มาใช้

ตามด้วย Air Asia ได้ลงทุนในโครงการ e-VTOL เพื่อนำมาใช้ในมาเลเซียและประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN ภายในปี 2025 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2050 เอเชียจะเป็นตลาดใหญ่สุดของ e-VTOL โดยจะมีบินให้บริการอยู่มากถึง 161,000 ลำ คิดเป็น 51% ของตลาด/theguardian, nikkei



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online