Orange ทำความรู้จัก 2 บริษัท “สีส้ม” ในต่างธุรกิจ ที่ดังระดับโลก

สีส้มเป็นสีโทนร้อนและโดดเด่นสะดุดตาซึ่งหลาย ๆ วงการนำไปใช้กัน โดยที่รู้จักกันมากสุดคือ สีชุดแข่งชุดที่หนึ่งของฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งโยงกับสีราชวงศ์Orange-Nassau และมีที่มาย้อนไปถึงเมืองOrangeในฝรั่งเศส

ส่วนในสถานการณ์โลก ก็มีการปฏิวัติสีส้มเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีปี 2004 ในยูเครน โดยสีส้มมาจากสีของพรรคฝ่ายค้านแกนนำการประท้วง ณ ขณะนั้น

และล่าสุดสีส้มยังเป็นสีของพรรคการเมืองในไทยที่ชนะการเลือกตั้งปี 2023 และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยผู้สนับสนุนพรรคนี้เรียกตัวเองว่า “ด้อมส้ม” อันอิงมาจาก Fandom รูปแบบการสนับสนุนดารานักร้องยุคนี้ ซึ่งชาวไทยเรียกกันสั้นๆ ว่า “ด้อม” นั่นเอง

ในแวดวงธุรกิจยังมีการนำสีส้มมาใช้เป็นสีบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส และบริษัทแอมป์-เครื่องดนตรีอังกฤษ ซึ่งทั้งสองบริษัทก็ใช้ชื่อเรียกเดียวกันตามคำในภาษาอังกฤษว่าOrangeอีกด้วย

 

Orange – ยักษ์โทรคมนาคมฝรั่งเศสสีแบรนด์สะดุดตา

Orangeเริ่มต้นจากปี 1988 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสยุคของประธานาธิบดี Francois Mitterrand แยก France Telecom ปีกโทรคมนาคมในกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อให้ไม่มีการผูกขาดและเกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม

Marcel Roulet

Marcel Roulet คือประธานบริษัท France Telecom คนแรก จากนั้นก็ได้เดินหน้าขยายกิจการซึ่งหนึ่งในนั้นคือการซื้อบริษัทในธุรกิจเดียวกันแห่งอื่น ๆ ในยุโรป จนไปเตะตาOrangeของอังกฤษเข้า

Orangeคือ Microtel เดิมที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อช่วงรีแบรนด์หลัง Hutchinson จากฮ่องกงเข้ามาซื้อกิจการเพื่อเพิ่มความสดใสและสะดุดตาให้กับบริษัท โดยหวังให้ชื่อแบรนด์กับชื่อบริษัทเรียกง่ายขึ้นด้วย  

ปี 1999 Mannesmann ของเยอรมนีเข้าซื้อกิจการของOrange และกุมภาพันธ์ปีถัดมา Vodafone ของอังกฤษก็ได้Orangeมาอยู่ใต้ชายคาผ่านการซื้อ Mannesmann ต่อมาอีกที

แต่สหภาพยุโรป (EU) บีบ Vodafone ให้ขายOrangeเพื่อลดการผูกขาดโดยเฉพาะในอังกฤษและสหราชอาณาจักร

พฤษภาคมปี 2000 France Telecom ก็ติดต่อเข้ามาซื้อกิจการของOrange โดยหลังได้ไฟเขียวจาก EU ดีลมูลค่า 37,000 ล้านยูโร (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) ก็เสร็จสิ้นในสิงหาคมปีเดียวกันนั่นเอง ขณะที่ France Telecom ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นOrangeและใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันถือเป็นบริษัทฝรั่งเศส ทำธุรกิจอยู่ในเกือบ 30 ประเทศ และมีพนักงานอยู่ราว 148,000 คน และช่วงหนึ่งเคยมาทำธุรกิจในไทยในชื่อ TA Orangeซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น True

 

Orange – แบรนด์แอมป์ที่เด่นสุดทุกเวทีคอนเสิร์ต

ข้ามมาในอุตสาหกรรมดนตรีก็มีอีกบริษัทที่ใช้ชื่อOrangeเช่นกัน โดยOrangeก่อตั้งในปี 1968 โดย Clifford Cooper เจ้าของห้องบันทึกเสียงเล็ก ๆ ชาวอังกฤษ ที่ผันตัวมาทำร้านขายแอมป์ ลำโพง และเครื่องดนตรีต่าง ๆ หลังห้องบันทึกเสียงไม่ทำกำไร

Clifford Cooper

ความที่เป็นร้านเล็ก ๆ ดีลเลอร์ในธุรกิจจึงไม่ส่งของมาขายในร้านของ Clifford Cooper เขาจึงใช้ความรู้ด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าสร้างลำโพงขึ้นมาขายในร้านตัวเอง และใช้สีส้มเป็นสีของผลิตภัณฑ์ เพราะเห็นว่าน่าจะโดดเด่นเมื่อวางอยู่ในร้าน และเห็นว่าสีของตู้แอมป์กับลำโพง แบรนด์อื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็เน้นสีดำเหมือนกันไปหมด

เข้าสู่ยุค 70 แอมป์และลำโพงOrangeเป็นที่รู้จักมากทั้งในกลุ่มแนวดนตรี Pop rock และ Funk ชื่อดังยุคนั้นทั้ง Fleetwood Mac และ Stevie Wonder นำไปใช้กัน แต่พอยุค 80 บริษัทก็ประสบปัญหาเพราะผลิตได้ไม่มากตามความต้องการ

Stevie Wonder

ดังกล่าวที่ลามถึงต้นยุค 90 โดย Gibson บริษัทแอมป์และกีตาร์ชื่อดังเข้ามาแก้ไขปัญหาให้โดยซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตให้ระหว่างปี 1993-1997 แต่กลายเป็นว่าขายไม่ดี จน Clifford Cooper กับลูกชายดึงสิทธิ์ในการผลิตกลับมา

Noel Gallagher

ประจวบเหมาะกับ Noel Gallagher มือกีตาร์ของ Oasis วงดังยุคนั้น สั่งผลิตและซื้อล็อตใหญ่ เพราะชอบเสียงของแอมป์และลำโพงที่เคยใช้ในอัลบัมชุดแรก ๆ ก็ช่วยให้Orangeกลับมาดังและขายดีอีกครั้ง

จากนั้น Orange ก็ทยอยฟื้นกลับขึ้นมา ถูกนำไปใช้มากขึ้น และโดดเด่นมากเมื่ออยู่บนเวทีคอนเสิร์ต

มือกีตาร์ Slipknot

ปัจจุบันข้ามไปได้รับความนิยมในกลุ่มวง Metal อย่าง Slipknot, Mastodon และ Sepultura โดยที่กลุ่มนักดนตรีรุ่นใหญ่อย่างวง Fleetwood Mac, Stevie Wonder และ Geddy Lee มือเบสวง Rush ที่ใช้มานานก็ยังใช้กันอยู่เป็นประจำ จนคุ้นตาคอดนตรี/theguardian, wikipedia, guitar, orange, orangeamps

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน