ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ซอฟต์พาวเวอร์ 3 แสนล้านบาท เชนใหญ่เผย ต่างประเทศ ภูมิศาสตร์ส่งผลสำคัญต่อการทำตลาด ควรสร้างการรับรู้ตั้งแต่ในประเทศ Copy-Paste คีย์สำคัญ เติบโตอย่างยั่งยืน แนะกลุ่มประเทศน่าขยายแฟรนไชส์
แฟรนไชส์ไทย
ซอฟต์พาวเวอร์ 3 แสนล้าน Copy – Paste คีย์สำคัญ |
|
มูลค่าตลาด/ล้านบาท | 300,000 |
อัตราเติบโต/ปี | 15-20% |
แฟรนไชส์ไทย/แบรนด์ | 650 |
เซกเมนต์แฟรนไชส์ไทย | |
อาหาร 33% | เครื่องดื่ม 25% |
การศึกษา 16% | ภาคบริการทั่วไป (อาทิ ส่งพัสดุ, ชำระบิล, ถ่ายเอกสาร และล้างรถ) 14% |
อื่น ๆ (อาทิ ค้าปลีก, ความงามและสปา) 12% | |
4 ประเทศ ครองธุรกิจแฟรนไชส์มากสุดในโลก | |
1. เกาหลีใต้ 4,800 แบรนด์ | 2. อินเดีย 3,922 แบรนด์ |
3. สหรัฐอเมริกา 3,400 แบรนด์ | 4. ไต้หวัน 3,300 แบรนด์ |
ที่มา: DITP, WFC และบริษัท จีโนซิส จำกัด/มิถุนายน 2566 |
ก่อนจะไปเก็บประเด็นน่าสนใจในงานเสวนา “การส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในตลาดต่างประเทศ” ของโครงการ Moving Forward : ส่งออกไทย ก้าวทันโลก ที่จัดโดย สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์
เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญ และให้คำปรึกษาด้านวางแผนกลยุทธ์ การเงินธุรกิจ และแฟรนไชส์ วิทยากรหลักผู้ดำเนินงานเสวนา
อธิบายคีย์เวิร์ดสำคัญบางส่วนในธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) แบบกระชับ เพื่อให้ผู้อ่านเก็บประเด็นต่าง ๆ ในงานเสวนานี้ได้แบบไม่ติดขัด
– แฟรนไชซอร์ (Franchisor) คือ บริษัทแม่ หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ขายแฟรนไชส์
– มาสเตอร์ แฟรนไชส์ (Master Franchise) คือ แฟรนไชส์ตัวแทนที่ได้รับสิทธิ์จากบริษัทแม่แต่เพียงผู้เดียว ให้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ และมีอำนาจบริหารงานสาขาทั่วประเทศแบบเบ็ดเสร็จ
– แฟรนไชซี (Franchisee) คือ เจ้าของกิจการแฟรนไชส์ ผู้ซื้อสิทธิ์ในการจำหน่าย และบริหารงานสาขา ตามรูปแบบที่แฟรนไชซอร์กำหนด
– ซับ แฟรนไชส์ (Sub-Franchise/Individual Franchise) คือ แฟรนไชซีรายย่อย และไม่มีสิทธิ์ที่จะขายแฟรนไชส์ต่อให้ผู้อื่น แบ่งเป็น
– ซิงเกิล แฟรนไชส์ (Single Franchise) คือ สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจได้เพียง 1 แห่ง
– มัลติ แฟรนไชส์ (Multi Franchise) คือ สิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจได้มากกว่า 1 แห่งขึ้นไป
– ซับ แอเรีย แฟรนไชส์ (Sub-Area Franchise) คือ ผู้ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาแฟรนไชส์ ภายใต้อาณาเขต และระยะเวลาที่กำหนด แต่เพียงผู้เดียว จากแฟรนไชซอร์ และสามารถที่จะขายซับแฟรนไชส์ต่อได้
เศรษฐพงศ์ กล่าวว่า อ้างอิงข้อมูลจาก World Franchise Council (WFC) มูลค่าธุรกิจแฟรนไชส์ทั่วโลก อยู่ที่ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์/ปี รวมธุรกิจแฟรนไชส์ประมาณ 2 ล้านแห่ง และสร้างการจ้างงานกว่า 19 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
การทำงานของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศ มีกลยุทธ์ประเมินตลาด 6 ข้อหลัก 1. เลือกประเทศที่รู้จักเรา, 2. มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน, 3. มีแหล่งซัปพลายเออร์จำนวนเพียงพอ เช่น วัตถุดิบท้องถิ่น หรือการขนส่งสินค้า
4. มีแรงงาน และมีศักยภาพในการเรียนรู้, 5. มีทำเลในการเปิดสาขาแฟรนไชส์ได้จำนวนมาก และ 6. มีกฎระเบียบ หรือข้อกำหนดที่เราสามารถรับมือได้ เช่น กฎหมายแฟรนไชส์ ระเบียบในการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะ แฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศ เป็นธุรกิจที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการนำเงินส่งกลับเข้าประเทศ ทั้งทางตรง (ยอดขาย) และทางอ้อม (รับรู้ และมาใช้บริการที่สาขาในไทย)
DITP เสริมว่า คีย์หลักสำคัญในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ มีความคล้ายกันในหลายประเทศ คือต้องหาแฟรนไชซี ซึ่งเป็นคู่ค้า หรือพันธมิตรท้องถิ่นที่เหมาะสม และเชื่อใจกัน เพราะการลงทุนทำแฟรนไชส์ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงินคืนได้อย่างรวดเร็ว
แฟรนไชซี ต้องเต็มใจที่จะทำงานร่วมกันอย่างหนักกับแฟรนไชซอร์ หรือ มาสเตอร์ แฟรนไชส์ ทั้งเรื่องบริหารจัดการสาขารายวัน, การตลาด, สินค้าคงคลัง และโลจิสติกส์ เป็นต้น
ประเทศแนะนำ สำหรับเข้าไปขยายแฟรนไชส์ไทย อาทิ CLMV เข้าถึงได้ง่าย เพราะพฤติกรรมการเสพสื่อใกล้เคียงกับไทย และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อระบบโลจิสติกส์
มาเลเซีย มีฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทยมากที่สุด เดือนม.ค.-เม.ย. 2566 อยู่ที่ 1.32 ล้านคน สิงคโปร์ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทำให้เป็นตลาดที่แบรนด์แฟรนไชส์ให้ความสำคัญในการไปจัดกิจกรรมการตลาด สร้างการรับรู้
ไต้หวัน มีค่าครองชีพ และระบบเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย ฟิลิปปินส์ ตลาดใหญ่ที่มีฐานประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค และมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้านอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นทำเลสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์
ฐิติ สุวรรณศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ต่างประเทศ ในเครือ บมจ. ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก หรือโออาร์ เล่าประสบการณ์การทำงานในฐานะเชนแฟรนไชส์รายใหญ่ของไทย อย่าง แฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งเริ่มเปิดสาขาแรกในต่างประเทศ ปี 2555 ณ ลาว ต่อเนื่องไปยังกัมพูชา ในปี 2556
สาขาปัจจุบันของคาเฟ่ อเมซอน ในไทย ประมาณ 4,000 สาขา และต่างประเทศ 400 สาขา รวม 11 ประเทศ แบ่งเป็นใช้เมล็ดกาแฟนำเข้าจากไทย 9 ประเทศ และ ลาวกับกัมพูชา ที่ใช้เมล็ดกาแฟในประเทศ
แรกเริ่มบริษัทเน้นสร้างการรับรู้แฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอนในต่างประเทศ ด้วยการอาศัยเปิด และทำตลาดในเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station
ผ่านมากว่า 11 ปี บริษัทมี มาสเตอร์ แฟรนไชส์ ที่ทำงานภายใต้บริษัทลูกของเครือโออาร์ อยู่ใน CLMV และมีมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ในประเทศโอมาน ผ่านการให้สิทธิ์แก่ กลุ่มบริษัทโอมานออยล์ เอส.เอ.โอ.ซี (โอโอซี)
ประเทศท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาค อย่าง ญี่ปุ่น คาเฟ่ อเมซอน มีซิงเกิล แฟรนไชส์ 1 สาขา ณ เมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โดย แฟรนไชซี ต้องการเปิดเพื่อสร้างงานให้คนในหมู่บ้าน หลังประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และเตรียมเปิด ซิงเกิล แฟรนไชส์ สาขาที่ 2 ปลายปี 2566 ที่จะเน้นไปทาง Commercial เต็มรูปแบบ
การทำธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในประเทศกับต่างประเทศต่างกันค่อนข้างเยอะ เพราะในไทยสาขาเยอะ ผู้บริโภครับรู้แบรนด์กันอยู่แล้ว
การทำธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศ CLMV ทำตลาดใกล้เคียงกับไทยได้ ด้วยเหตุผลข้างต้นจาก DITP แต่ไกลออกไปจากไทยตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ อาทิ จีน หรือฟิลิปปินส์ ก็ต้องเน้นไปที่การทำตลาดแบบอื่น ๆ อาทิ สินค้า Home Use หรือเสิร์ฟเมนูท้องถิ่น
หัวใจสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะเซกเมนต์อาหาร และเครื่องดื่ม คือการรักษามาตรฐานของร้านสาขาได้แบบ Copy-Paste โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ อาทิ จัดตั้งทีมตรวจสอบคุณภาพ
ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แบรนด์ ตำมั่วและเขียง เสริมว่า ปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ 13 แบรนด์ แบ่งเป็น 2 ฝั่งหลัก อาหารญี่ปุ่น (อาทิ AKA และ On the table) และ อาหารไทย (อาทิ ตำมั่ว และเขียง)
บริษัทดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศมาแล้ว 16 ปี แบรนด์แรกที่เริ่มทำ คือ ตำมั่ว ณ เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว
แบรนด์ที่อยู่ในธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ ตำมั่ว, เขียง, AKA, On the table, ลาวญวณ และ tummour the original thai food
แบรนด์ที่อยู่ในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศ อาทิ AKA, On the table, และตำมั่ว ปีนี้เตรียมเปิดตัว แฟรนไชส์เขียง แห่งแรกในประเทศมาเลเซีย
การทำธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศ ต้องเริ่มสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั้งคนไทย และต่างชาติ ตั้งแต่ในประเทศก่อน เพราะธรรมชาติของนักลงทุน หรือแฟรนไชซี มักเข้ามาศึกษาตลาดของประเทศต้นทางแฟรนไชซอร์ก่อนเสมอ
ทั้งการทำตลาดในประเทศ กับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ นักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางแฟรนไชซี ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโปรโมต ได้มากกว่าการไปทุ่มงบในประเทศต้นทางของแฟรนไชซี
อนึ่ง ทุกประเทศที่แบรนด์แฟรนไชส์ไทยไปทำธุรกิจ ควรตั้งเป้าการทำมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ให้ได้ เพราะสามารถรักษาคุณภาพแบบ Copy – Paste ได้สะดวกกว่าการทำธุรกิจแบบซับ แฟรนไชส์ ต่างจากธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศที่จะกลับด้านกัน
อย่างไรก็ตาม มาสเตอร์ แฟรนไชส์ ที่เริ่มต้นจากซับ แฟรนไชส์ และซับ แอเรียแฟรนไชส์ ก็เวิร์กกว่าการทำธุรกิจแบบมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ทันที เพราะสามารถศึกษากันไป และสร้างรากฐานความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแรงกว่า
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ