กินอาหาร 3 มื้อต่อวัน มีที่มาจากไหน และจำเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

เคยสงสัยไหมว่าทำไมมนุษย์เราถึงต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ เพราะตั้งแต่เด็กจนโตเราก็คุ้นชินกับการกิน 3 มื้อมาโดยตลอด ซึ่ง BBC สำนักงานยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักรได้เผยว่า การกินอาหารให้ครบ 3 มื้อควรเริ่มตั้งแต่เช้าและให้เสร็จภายในเวลาก่อน 15.00 น.ในแต่ละวัน เพราะจะช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานสอดคล้องกับนาฬิการ่างกาย โดยส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก รวมไปถึงสามารถป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปในสมัยก่อน ในยุคที่เรายังเป็นมนุษย์ถ้ำที่หาอาหารด้วยวิธีล่าสัตว์ ก็คงไม่มีมนุษย์คนไหนที่รับประทานอาหารตามมื้อเช้า กลางวัน และเย็นอย่างในปัจจุบันแน่นอน หรือตามที่นักประวัติศาสตร์ Caroline Yeldham (แคโรไลน์ เยลด์แฮม) ได้เผยว่าชาวโรมันมักกินอาหารมื้อเดียว เพราะถือว่าการกินอาหารมากกว่า 1 มื้อเป็นรูปแบบหนึ่งของความตะกละ แล้วถ้าอย่างนั้นการกินอาหารครบ 3 มื้อมาจากไหน และทำไมถึงต้องเป็น 3 มื้อ

จุดเริ่มต้นของการกินอาหาร 3 มื้อ

การกินอาหาร 3 มื้อเริ่มต้นขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคที่มนุษย์ทำงานกันอย่างเป็นระบบเวลามากขึ้น เมื่อเทียบกับยุคเกษตรกรรม เนื่องจากมีการกำหนดเวลาการทำงาน จึงทำให้เกิดการกำหนดเวลาในการกินอาหารขึ้นมาเป็นมื้อเช้า กลางวัน และเย็น เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานมากขึ้นนั่นเอง

ซึ่งนักประวัติศาสตร์ Abigail Carroll (อบิเกล แคร์โรลล์) ผู้เขียน Three Squares: The Invention of the American Meal ได้เผยว่าในสมัยก่อน ชาวพื้นเมืองอเมริกันใช้ระบบการกินแบบหิวเมื่อไหนก็กินตอนนั้น แต่เมื่อชาวยุโรปเข้ามาในแผ่นดินได้มองว่าการกินแบบไม่ได้กำหนดเวลาเป็นการกระทำที่ไม่ดีงาม การกินอาหาร 3 มื้อจึงได้เกิดขึ้นมาแทนการหิวเมื่อไหนก็กินตอนนั้นนั่นเอง

การกินอาหาร 3 มื้อนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 17 โดยทุกชนชั้นในสังคมได้เริ่มมีการกินอาหารมื้อเช้าขึ้น ส่วนรูปแบบอาหารจะแตกต่างกันไปตามฐานะทางสังคม อย่างที่เชฟ Clarissa Dickson Wright (คลาริสซ่า ดิกสัน ไรท์) ได้กล่าวว่าหลังจากฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กาแฟ ชา และอาหารต่าง ๆ ก็เริ่มปรากฏขึ้นบนโต๊ะของชนชั้นสูง และเมื่อการกินอาหาร 3 มื้อแพร่หลาย จึงเกิดคำพูดที่ว่า มื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญ

เนื่องจากในช่วงระหว่างปี 1920-1930 รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยนั้นมีการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนรับประทานมื้อเช้าก่อนไปโรงเรียน เพื่อจะได้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนมากกว่าความหิว ส่งผลให้ความเชื่อนี้ได้ถูกส่งต่อมาเรื่อยจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ส่วนมื้อกลางวันในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทางการจะกำหนดเวลาให้ 1 ชั่วโมงในการกลับบ้านเพื่อไปกินข้าว หรือหาซื้ออาหารกลางวันกิน ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้น ทำให้มีการสร้างโรงอาหารขึ้นมา เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลความปลอดภัยของผู้คนมากขึ้น

และสำหรับมื้อเย็นในช่วงศตวรรษที่ 19 ถือว่าเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูง จึงนิยมทำอาหารเย็นอย่างอลังการอย่างใน Fanny Cradock (แฟนนี่ แครดด็อค) รายการทำอาหารที่ให้แม่บ้านมาแข่งทำอาหารเย็นกัน จนรายการนี้เป็นกระแสดังในปี 1970 เลยทีเดียว

แท้จริงแล้วกินอาหารกี่มื้อต่อวันถึงดีที่สุดสำหรับสุขภาพเรา

เรามักจะคุ้นชินว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน อาหารกลางวันจะเป็นมื้อในระหว่างการทำงานหรือการเรียน และอาหารเย็นจะเป็นมื้ออาหารกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้เกิดคำถามกันขึ้นมาว่าแล้วเราควรกินอาหาร 3 มื้อจริงหรือไม่

ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้เผยว่าการอดอาหารเป็นช่วง ๆ ที่เราจำกัดเวลาการกินไว้ 8 ชั่วโมงกำลังกลายเป็นงานวิจัยที่น่าจับตามอง Emily Manoogian นักวิจัยทางคลินิกของ Salk Institute for Biological Studies ในแคลิฟอร์เนียและผู้เขียนรายงานปี 2019 ชื่อ “When to eat” ให้การสนับสนุนว่า การงดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวันจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารของเราได้พักผ่อน

Rozalyn Anderson รองศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผู้ศึกษาประโยชน์ของการจำกัดแคลอรีที่สัมพันธ์กับระดับการอักเสบในร่างกายที่ลดลง ได้เผยว่า หากในหนึ่งวันได้มีการงดอาหารจะทำให้ร่างกายของเราอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะซ่อมแซมสิ่งที่สึกหรอและลดการอักเสบมากขึ้น พร้อมทั้งกำจัด Misfolded proteins รูปแบบของโปรตีนที่มีเกลียวผิดปกติที่อาจทำให้เรามีโอกาสเป็นโรคต่าง ๆ เนื่องจากร่างกายมีเวลาพัก จึงสามารถเก็บอาหารและรับพลังงานไปยังที่ที่ต้องการ พร้อมทั้งกระตุ้นให้กลไกปลดปล่อยพลังงานจากร่างกายที่สะสมไว้ได้

Antonio Paoli ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยปาโดวาในอิตาลี ได้เสริมว่า การอดอาหารยังสามารถช่วยปรับปรุงการตอบสนองระดับน้ำตาลในเลือดของเรา เพราะระดับน้ำตาลในเลือดของเราจะสูงขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร ดังนั้น การงดอาหารจะทำให้การเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดน้อยลง จะทำให้การกักเก็บไขมันในร่างกายน้อยลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเย็นก่อนเวลา ซึ่งจะช่วยเพิ่มเวลาอดอาหารจะเพิ่มผลดีต่อร่างกาย อย่างการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อเซลล์ในร่างกายมากกว่า เนื่องจากกระบวนการที่เรียกว่า Glycation (ปฏิกิริยาไกลเคชั่น) กระบวนการที่เป็นสาเหตุของความชราก่อนวัยอันควร เนื่องจากโมเลกุลน้ำตาลที่เรากินเข้าไปจะไปเกาะติดกับโปรตีนภายในร่างกาย จนก่อให้เกิดสารที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products)

เมื่อสารตัวนี้ผ่านเข้าสู่เซลล์ในร่างกายก็จะทำให้เซลล์บริเวณนั้นตายหรือเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน ส่งผลให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ การอักเสบในร่างกาย อัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานรวมไปถึงโรคหัวใจอีกด้วย

แต่ถ้าการอดอาหารเป็นช่วง ๆ เป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพแล้วละก็เราควรกินกี่มื้อ?

ผู้เชี่ยวชาญบางคนอย่าง David Levitsky ศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยนิเวศวิทยามนุษย์แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ในนิวยอร์ก ได้เผยว่าการกินอาหารวันละมื้อเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และ Seren Charrington-Hollins นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารได้สนับสนุนความคิดนี้ เนื่องจากในสมัยประวัติศาสตร์ ชาวโรมันโบราณก็ได้รับประทานอาหารมื้อเดียวประมาณตอนเที่ยงของวันด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ David Levitsky ยังให้ความเห็นว่าการกินอาหารมื้อเดียวต่อวันจะไม่ทำให้เราหิว เพราะความหิวมักเป็นความรู้สึกทางจิตใจมากกว่า อย่างเมื่อนาฬิกาบอกเวลา 12.00 น. เราอาจรู้สึกว่าต้องกินนั่นเอง ซึ่งสรีรวิทยาของเราถูกสร้างขึ้นเพื่อการกินและการอดอาหารอยู่แล้ว แต่สิ่งนี้เป็นข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

แต่ในขณะที่ Emily Manoogian ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารมื้อเดียวต่อวัน เนื่องจากอาจทำให้ระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้นเมื่อเราไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งเรียกว่าระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร (Fasting Glucose) ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดตัวนี้หากสูงเป็นเวลานานจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2

โดยการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำจำเป็นต้องกินอาหารอย่างสม่ำเสมอมากกว่าวันละครั้ง เนื่องจากสิ่งนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายคิดว่ากำลังหิวโหยจนปล่อยน้ำตาลกลูโคสออกมามากขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น การกินอาหารวันละ 2-3 มื้อจึงดีที่สุด โดยแคลอรีส่วนใหญ่ควรได้มาจากช่วงเช้าของวัน เพราะการกินอาหารมื้อดึกอาจส่งผลต่อโรคที่เกี่ยวเมตาบอลิซึมอย่างโรคเบาหวานและโรคหัวใจ แต่ก็ไม่ควรกินอาหารเช้าเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายมีเวลาไม่เพียงพอในการอดอาหาร รวมไปถึงยังขัดต่อนาฬิการ่างกายของเรา ซึ่งนักวิจัยระบุว่าร่างกายจะแปรรูปอาหารให้แตกต่างออกไปตลอดทั้งวัน

อย่างร่างกายของเราจะปล่อยเมลาโทนินในชั่วข้ามคืนเพื่อช่วยให้เรานอนหลับ แต่เมลาโทนินยังหยุดการสร้างอินซูลินซึ่งเก็บกลูโคสไว้ในร่างกาย เนื่องจากเมลาโทนินจะหลั่งออกมาในขณะที่นอนหลับ ร่างกายจึงใช้เมลาโทนินเพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้รับน้ำตาลกลูโคสมากเกินไปในขณะนอนหลับและไม่ได้กินอาหาร

แต่ถ้าเรากินอาหารมื้อดึกที่ขัดต่อนาฬิการ่างกาย อาจทำให้อินซูลินถูกระงับ ร่างกายก็จะไม่สามารถเก็บกลูโคสได้อย่างเหมาะสม จนทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสสูงและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้นั่นเอง

ดังนั้น เราจึงไม่ควรกินอาหารมื้อดึกเกินไปและควรรอ 1-2 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน เพื่อให้ระบบร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Top view composition of various Asian food in bowls, free space for text

ยิ่งไปกว่านั้น Seren Charrington-Hollins ยังเสริมว่า ชาวกรีกโบราณเป็นคนแรกที่นำเสนอแนวคิดเรื่องอาหารเช้า ซึ่งพวกเขาจะกินขนมปังแช่ไวน์ จากนั้นถึงจะกินอาหารในตอนกลางวัน

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถสรุปได้ว่า ทางวิทยาศาสตร์ได้แนะนำให้กินวันละ 2-3 มื้อถึงจะดีต่อสุขภาพเรามากที่สุด โดยเว้นช่วงการอดอาหารเป็นเวลานานข้ามคืน ไม่กินเร็วเกินไปหรือสายเกินไปในแต่ละวัน

ในขณะที่ Emily Manoogian ได้เสริมว่าจะเป็นการดีที่สุดหากไม่ระบุเวลาที่ดีที่สุดในการรับประทานอาหาร เนื่องจากอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีความรับผิดชอบและมีภาระผูกพันเรื่องเวลาที่ไม่แน่นอนอย่างผู้ที่ทำงานกะกลางคืน ดังนั้น เราจึงควรไม่กินช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป และพยายามไม่มีมื้อสุดท้ายเป็นมื้อใหญ่จัดเต็มแทน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราควรกินเป็นเวลานั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากร่างกายทำงานเป็นระบบ

กินอาหาร 3 มื้อต่อวัน

อย่างไรก็ตาม Seren Charrington-Hollins ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมในอนาคตว่า เมื่อทัศนคติของผู้คนที่มีต่ออาหารเปลี่ยนไป เมื่อผู้คนมีวิถีชีวิตที่เงียบสงบมากขึ้น เราไม่ได้ทำงานระดับเดียวกับที่เราเคยทำในศตวรรษที่ 19 เราเลยอาจต้องการแคลอรีน้อยลง เราอาจจะเปลี่ยนมื้ออาหารหลักไปเป็นอาหารมื้อเบาๆ หรือเราอาจจะกินมากขึ้น เพิ่มมื้ออาหารให้มีความถี่มากขึ้น เพราะปัจจุบันเราสามารถหาซื้ออาหารได้ทุกที่ทุกเวลาก็เป็นได้

 

ที่มา:

https://www.bbc.com/future/article/20220412-should-we-be-eating-three-meals-a-day

https://www.bbc.com/news/magazine-20243692

https://www.foodbeast.com/news/how-eating-3-meals-a-day-became-a-thing-and-why-it-shouldnt-be/

https://www.bustle.com/articles/145441-why-do-we-eat-three-meals-a-day-its-not-as-biologically-innate-as-you-think

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online