ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ Emerging Market สู่ตลาดหุ้นแถวหน้าของโลก

เมื่อย้อนกลับไปในปี 1960  หรือกว่า 60 กว่าปีที่แล้วเกาหลีใต้ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจน เศรษฐกิจถูกทำลายด้วยน้ำมือของสงคราม แต่ ณ ปัจจุบันเกาหลีใต้ได้กลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก (ถ้านับจากอำนาจการซื้อของประชากร หรือ Purchasing Power Parities (PPP) และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย ด้วยประชากรกว่า 52 ล้านคน และมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยกว่า 35,000 ดอลลาร์ต่อปี

นอกจากขนาดของเศรษฐกิจจะใหญ่ติดอันดับโลกแล้ว ประเด็นที่เราอยากจะมาชวนคุยกันในวันนี้คือเรื่อง “ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้” ทำไมวันนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถึงน่าสนใจ อะไรที่ทำให้ตลาดทุนเกาหลีมาได้ไกลขนาดนี้ และก้าวต่อไปของตลาดทุนของประเทศเกาหลีใต้คืออะไร ไปติดตามจากบทความนี้

 

The Korea Exchange

The Korea Exchange หรือ KRX ชื่อเดิมคือ The Korea Stock Exchange เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์แห่งเดียวในเกาหลีใต้ ก่อตั้งในปี 1956 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ในปี 2022 KRX ถูกจัดอันดับโดย World Federation of Exchange (WFE) อยู่ในลำดับที่ 10 จากทั้งหมด 250 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ด้วยขนาดของตลาด หรือ Market Capitalization กว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของ Market Cap. รวมของตลาดหุ้นทั่วโลก และมีจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด KRX จำนวนกว่า 2,600 บริษัท ซึ่งก็รั้งอันดับ 16 ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัทจดทะเบียนมากที่สุดในโลก

ทางด้านในฝั่งของเอเชียตลาดหุ้นเกาหลีใต้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4  รองจาก Shanghai Stock Exchange, Hongkong Stock Exchange และ Tokyo Stock Exchange

 

จากตลาดหุ้นโนเนมสู่ New Emerging Market ที่น่าจับตามอง

ก่อนจะเข้าเรื่องเรามาทำความรู้จักกับคำว่า MSCI กันก่อน MSCI ย่อมาจาก Morgan Stanley Capital International เป็นตัวเทียบเคียงมาตรฐานให้กับนักลงทุน หรือที่เรียกว่า Benchmarking โดยบริษัท Morgan Stanley จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการคัดกรองคำนวณหลักทรัพย์เข้าดัชนี

ปกติแล้ว Morgan Stanley จะเลือกจากสินทรัพย์หรือบริษัทที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมีการประเมินทบทวนหุ้นที่ใช้คำนวณดัชนีเพื่อทำการคัดกรองหุ้นเข้าและออก เป็นรายงวดโดยวิเคราะห์จากผลประกอบการของสินทรัพย์ตัวนั้น ๆ

ซึ่ง MSCI ไม่ได้เป็นเพียงดัชนีที่อิงกับตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศ (Country Index) เท่านั้น แต่ยังมีดัชนีอีกหลายรูปแบบที่รวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำเป็นดัชนีแบบภูมิภาค โดยแบ่งตามประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Markets) กับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่  (Emerging Markets) เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความถนัดของตนเอง บางคนอาจจะชอบหุ้นใหญ่ บางคนอาจจะชอบหุ้นขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก

และนี่คือที่มาว่าทำไมเราต้องเกริ่นนำถึงเรื่อง MSCI Index เพราะตลาดหุ้นเกาหลีก็เป็นหนึ่งตลาดทุนที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน MSCI Emerging Market Index โดยเป็นชาติที่เข้ามาอยู่ในลิสต์ในลำดับที่ 13 ของดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) มาตั้งแต่ปี 1992 จากสมาชิก Emerging Markets ทั้งหมด 24 ประเทศ

 

การเข้าไปอยู่ใน MSCI Index นั้นสำคัญอย่างไร

ก็ต้องบอกว่าโดยปกติแล้วในกองทุนระดับโลก หรือ Hedge Fund ใหญ่ ๆ หรือแม้แต่นักลงทุนที่ไม่ใช่คนที่รู้จักตลาดหุ้นหรือหุ้นในประเทศนั้นจริง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานที่ MSCI ได้จัดทำขึ้นมาเป็น  Benchmark หรือหลักเกณฑ์อ้างอิงว่าควรจะลงทุนหุ้นตัวไหนดี

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหุ้นที่ถูกคัดเข้าไปคำนวณสู่ดัชนี MSCI ต้องเป็นหุ้นที่ถูกคัดกรองผ่านเกณฑ์มาตรฐานของบริษัท Morgan Stanley ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพและปัจจัยพื้นฐานที่ดีของบริษัท ส่งผลให้หุ้นที่อยู่ใน MSCI Index เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ เพราะหุ้นในโลกใบนี้มีหลายหมื่นตัว เป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนต่างชาติจะรู้จักหุ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งครบทุกตัว ดังนั้น การพิจารณาหุ้นจากดัชนี MSCI จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ต่างชาติเอาไว้ใช้คัดกรองหุ้นเข้าพอร์ต

 

ก้าวต่อไปของ KRX

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในดัชนีตลาดเกิดใหม่ที่น่าจับตามองตั้งแต่ปี 1992 นั่นแปลว่าเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่ Korea Exchange จมอยู่ในความเป็นตลาดเกิดใหม่ พวกเขารู้สึกว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องขยับสถานะสู่การเป็นตลาดทุนของประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น เป้าหมายของประเทศเกาหลีใต้ในปี 2023 คือการพา KRX เข้าไปอยู่ในดัชนีกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ MSCI Developed Market นั่นเอง

แล้วทำไมเกาหลีใต้ถึงอยากจะพาตลาดทุนของตัวเองไปอยู่ในดัชนีประเทศพัฒนาแล้ว?

นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs บอกว่าถ้าหากเกาหลีใต้สามารถที่จะปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ได้สำเร็จ เกาหลีใต้จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้มากกว่า 46,000 – 56,000 ล้านดอลลาร์

อุปสรรคที่จะทำให้ KRX ไปไม่ถึงฝัน

กว่า 30 ปีที่เกาหลีใต้พยายามที่จะอัปเกรดตลาดหุ้นตัวเองให้ไปอยู่ใน Developed Market แต่จนถึงตอนนี้ปี 2023 เกาหลีใต้ก็ยังทำไม่สำเร็จเสียที เพราะอะไรทำไมเกาหลีใต้ถึงไปอยู่จุดนั้นไม่ได้เสียที คำตอบก็คือ MSCI ให้เหตุผลว่า ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KRX) ยังค่อนข้างเป็นตลาดปิด การเข้าถึงของนักลงทุนต่างชาติยังทำได้ยากเมื่อเทียบกับตลาดทุนของประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น

นอกจากนี้  MSCI ยังระบุอีกว่า การลงทุนใน ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ นั้นนักลงทุนมักจะเจอประสบการณ์การลงทุนที่เลวร้าย อย่างเช่น สิทธิ์ของผู้ลงทุนที่อ่อนแอ โครงสร้างการเป็นเจ้าของบริษัทที่ซับซ้อนน่ากังวล ข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นรายวัน และการเข้าแทรกแซงในกิจการของบริษัทจดทะเบียนของรัฐบาล ล้วนเป็นปัจจัยที่ยากที่จะทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของเอเชียยังยากเลย ในระดับโลกไม่ต้องพูดถึง

แล้วภาครัฐของเกาหลีใต้แก้ไขปัญหานี้อย่างไร ในเดือนมกราคมที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกประกาศการปฏิรูปตลาดทุนอย่างเอาจริงเอาจัง เริ่มจากการกระจายเงินปันผลจากหุ้นให้เท่าเทียมตามหลักเกณฑ์มาตรฐานชาติตะวันตก รวมไปถึงการกำกับดูแลการ Spin-Off (การแยกธุรกิจบางส่วนของบริษัทแม่ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่) ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และยังผ่อนปรนกฎระเบียบที่เข้มงวดซับซ้อนเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนผ่านตลาดหุ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ยังได้มีการออกระเบียบเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ต้องมีเผยแพร่เอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับการลงทุนเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าใจในบริบทของการทำธุรกิจและเข้าถึงข้อมูลสำคัญอย่างเช่น ข้อมูลงบการเงิน

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้เกาหลีใต้ยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปิดตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงขยายเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะทำให้ตลาดหุ้นของตัวเองไปอยู่แนวหน้าให้ได้

เนื้อหาบางส่วนจากบทความของ The Economist เกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2023  ที่ผ่านมา MSCI บอกเป็นนัย ๆ ว่าปีนี้อาจจะยังไม่ใช่ปีของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพราะสิ่งที่เกาหลีใต้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุง (เรื่องกฎระเบียบ ความเข้มงวด ความโปร่งใสของตลาดทุน) ยังไม่เรียบร้อยดี และถึงจะปรับปรุงทุกอย่างให้เรียบร้อยแล้วก็ต้องดูท่าทีของนักลงทุนว่าจะมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร จะให้การตอบรับที่ดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้

แต่เรื่องการที่ตลาดหุ้นจะถูกยกสถานะไปอยู่ใน MSCI Developed Markets ใช่ว่าจะมีแต่คนเห็นด้วย เพราะ Hwang Sun-Woo อาจารย์จาก Korea University ชี้ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แปลว่าถ้ารัฐบาลเกาหลีเร่งเปิดตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศชนิดที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบแล้วล่ะก็ อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคการส่งออกได้

และความคุ้มค่าในกรณีที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้สามารถเข้าไปอยู่ในลิสต์ของตลาดทุนประเทศที่พัฒนาแล้วในมุมของเงินทุนไหลเข้าก็คิดเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้ส่งผลมากอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจมากมายอะไร และมีแต่จะส่งผลดีต่อบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดทุนเท่านั้น ยกตัวอย่างอิสราเอลในปี 2010 ตลาดหุ้นของพวกเขาสามารถเลื่อนชั้นไปอยู่ใน MSCI Develop Index ได้สำเร็จ แทนที่ผลลัพธ์จะดีแต่อิสราเอลกลับประสบปัญหาเงินทุนไหลออกถึง 2,500 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียงแค่ 1 ปีหลังจากเข้า MSCI  ทำให้กำไรที่ได้จากเงินทุนไหลเข้าหายวับไปกับตา

เรื่องนี้พูดได้ว่าต่างคนต่างมุมมอง แต่เชื่อว่าการที่ตลาดทุนของประเทศนั้น ๆ สามารถเข้าไปอยู่ในลิสต์ของประเทศพัฒนาแล้วย่อมดีกว่าไม่ได้เข้าไปอยู่เลย เพราะนอกจากจะทำให้ตลาดทุนของประเทศเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลกแล้ว การค้าการลงทุนยังช่วยหนุนให้เม็ดเงินไหลเข้าประเทศอีกด้วย แต่รัฐก็ต้องบริหารเรื่องนี้ให้ดีเพราะถ้าบาลานซ์ระหว่างเงินทุนไหลเข้ากับเงินทุนไหลออกไม่ดีแล้วล่ะก็ ประเทศอาจขาดทุนในด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็เป็นไปได้

 

อ้างอิง

 

https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/06/15/south-korea-has-had-enough-of-being-called-an-emerging-market

https://www.moneybuffalo.in.th/vocabulary/what-is-msci

https://global.krx.co.kr/main/main.jsp

https://www.longtunman.com/39188

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online