เอลนีโญ ไม่ใช่แค่ทำโลกร้อน แต่ยังกระทบเศรษฐกิจโลกรุนแรงด้วย

ทันทีที่สำนักข่าวเริ่มรายงานว่า ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว หลังจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโลกเราเผชิญ “ลานีญา” มาโดยตลอด คนทั่วไปที่ได้ยินคงถามต่อว่า “แล้วยังไงต่อ” เราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ข่าวพยากรณ์อากาศ” มากเท่าเกษตรกรผู้มีอาชีพปลูกพืชผักเลี้ยงชีพ หรือชาวประมงที่ต้องออกเรือจับสัตว์น้ำมาจำหน่ายเพื่อยังชีพ

แต่จากรายงานข่าวล่าสุดที่หลายสำนักข่าวทั้งต่างประเทศและไทยรายงานผลกระทบจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ อาจส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกทุก ๆ 1 องศาฯ ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ฝนตกหนักที่อาจนำไปสู่ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น

ตลอดจนความแห้งแล้งก็จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่งและทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตทางการเกษตร เพราะอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นอาจส่งผลทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโตและผลผลิตลดน้อยลงซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในบางภูมิภาคและกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในกรณีที่ประเทศที่เป็นผู้ผลิตหลักของสินค้าเกษตรที่หล่อเลี้ยงประชากรโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรง

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ของกรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐฯ หรือ US National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA)  รายงานว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ เอลนีโญ อย่างเป็นทางการและเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และคาดว่าจะมีทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเด็นที่เรากำลังให้ความสนใจเกี่ยวข้องกับเอลนีโญคือเรื่องความแห้งแล้งที่กระทบต่อปริมาณน้ำฝน และคลื่นความร้อนที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และส่งผลต่อปริมาณผลผลิต จนกระทบต่อเป็น โดมิโนไปจนถึงราคาของวัตถุดิบต่าง ๆ ถึงขั้นอาจทำให้โลกเจอภาวะเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงแบบฉับพลันได้

มาทำความรู้จัก เอลนีโญ (El Niño) กันสักนิด

เอลนีโญ(El Niño) เป็นรูปแบบของภูมิอากาศที่อธิบายถึงการอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก ซึ่งเอลนีโญนั้นถือเป็น ช่วง “Warm Phase” หรือ “ช่วงอบอุ่น” ของปรากฏการณ์ขนาดใหญ่ที่เรียกรวมว่า El Niño-Southern Oscillation หรือ ENSO ส่วน ลานีญา (La Niña) เป็น “Cool Phase” หรือ “ช่วงเย็น” ของ ENSO เป็นรูปแบบที่อธิบายถึงการเย็นตัวที่ผิดปกติของผิวน้ำในภูมิภาค

เอลนีโญเกิดจากกระแสลมที่มีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจะขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง ในขณะที่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

เอลนีโญส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของมหาสมุทร ความเร็วและความแรงของกระแสน้ำในมหาสมุทร และส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในหลายประเทศตั้งแต่อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงออสเตรเลีย เหตุการณ์เอลนีโญนี้เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอในช่วงเวลา 2 – 7 ปี และไม่ใช่วัฏจักรปกติที่สามารถคาดการณ์ได้

ผลกระทบของเอลนีโญในเชิงเศรษฐกิจ

 เอลนีโญส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ในหลายมิติอย่างเช่น ใน ภาคการเกษตร เอลนีโญอาจทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพืชผลและนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร และทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นและอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้

ในภาคการประมง เอลนีโญสามารถทำลายรูปแบบของการย้ายถิ่นของปลา ทำให้ชาวประมงจับได้น้อยลงและส่งผลให้ราคาปลาสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมประมงและราคาอาหารทะเล

ส่วนในภาคการท่องเที่ยว เอลนีโญอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสภาพอากาศ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกกิจกรรมการท่องเที่ยวสิ่งนี้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้

ภาคพลังงาน เอลนีโญสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสภาพอากาศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนพลังงาน

ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลักของโลกที่มีโอกาสได้รับผลกระทบหนักจากเอลนีโญ

สินค้าเกษตรหลักของโลกอย่างเช่น ข้าว ข้าวสาลี น้ำตาล กาแฟ ผักและผลไม้ ซึ่งทั้งหมดต้องพึ่งพาองค์ประกอบทั้ง ดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศในการปลูก ดังนั้น แล้วก็เป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศต้นทางผู้ผลิตจะได้รับผลกระทบจาก เอลนีโญ  เรามาดูกันว่าประเทศ Top 3 ของโลกที่เพาะปลูกและส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุดในโลกคือประเทศใดบ้าง และพวกเขามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก เอลนีโญ ได้อย่างไร

 

ข้าว ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้แก่ อินเดีย ตามมาด้วย ไทย และเวียดนาม

น้ำตาล ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกได้แก่ บราซิล ตามมาด้วย อินเดีย และไทย

โกโก้  ประเทศผู้ส่งออกโกโก้อันดับ 1 ของโลกได้แก่ ไอวอรีโคสต์ ตามมาด้วย กานา และ อินโดนีเซีย

กาแฟ ประเทศผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟอันดับ 1 ของโลกได้แก่ บราซิล ตามมาด้วย เวียดนาม และ โคลัมเบีย

ผักและผลไม้ ประเทศจีนถือเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้อันดับ 1 ของโลก

ข้อมูลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถบ่งบอกได้ว่า เอลนีโญ่ จะส่งผลกระทบต่อสมดุลของพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของโลกได้อย่างไร เพราะขอบเขตของผลกระทบของเอลนีโญนั้นประเทศที่ได้รับผลกระทบไปตรง ๆ และเต็ม ๆ คือ ทวีปอเมริกาใต้ และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองพื้นที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลก

ต่อไปเรามาดูกันว่าสินค้าเกษตรแต่ละชนิดที่ถูกส่งออกมาจากประเทศผู้ผลิตหลักจะได้รับความเสียหายจาก เอลนีโญ อย่างไร

กาแฟ ไล่เรียงประเทศผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟตั้งแต่อันดับ 1-3 จากบราซิล เวียดนาม จนถึงโคลอมเบีย ล้วนเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ทั้งหมด ทั้ง 3 ประเทศกินส่วนแบ่งรวมกันกว่า 60% ของกาแฟที่โลกเราใช้ดื่ม เอลนีโญทำให้เกิดภัยแล้งในประเทศเหล่านี้ และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูกและการขาดแคลนเมล็ดกาแฟ ซึ่งจะส่งผลต่อราคากาแฟโลกรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศปลายทางหลักของประเทศผู้ส่งออกกาแฟหลักของโลก

โกโก้ ประเทศไอวอรีโคสต์ กานา และอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกเมล็ดโกโก้รายใหญ่ เอลนีโญอาจจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมในประเทศเหล่านี้ สร้างความเสียหายให้กับต้นโกโก้เป็นอย่างมากและประเทศปลายทางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน

ข้าว อินเดีย ไทย และเวียดนาม เป็น Top Exporter ข้าวของโลกมาช้านาน และอยู่ในวงขอบเขตผลกระทบของเอลนีโญ หลัก ๆ คือเอลนีโญจะทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับต้นข้าว และราคาข้าวย่อมต้องพุ่งทะยานขึ้นแน่นอน ดังนั้น ประเทศปลายทางที่เป็นผู้บริโภคข้าวย่อมได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น

น้ำตาล บราซิลเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมในบราซิล ซึ่งสร้างความเสียหายต่อต้นอ้อยซึ่งอาจส่งผลต่อราคาน้ำตาล ดังนั้น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาจต้องได้นำเข้าน้ำตาลในราคาที่สูงขึ้น

ผักและผลไม้  จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดของโลก อาจทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมในจีน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรและขัดขวางการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาผลไม้และความพร้อมจำหน่ายในประเทศปลายทาง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

 

 ปี 2023 เอลนีโญเริ่มส่งสัญญาณ

ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า พายุเฮอริเคน และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในหลายประเทศ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว และค้าปลีกที่รอจ่อคิวได้รับผลกระทบชนิดที่ยากจะหลีกเลี่ยง

สำนักข่าว CNN รายงานว่าราคาอาหารของประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมากอย่างสหรัฐอเมริกา สินค้าที่คนอเมริกันกินทุกวันอย่างน้ำตาลและโกโก้ ตอนนี้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำตาลและโกโก้ซื้อขายกันที่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ผลพวงมาจากการคาดการณ์ว่าสินค้าน่าจะขาดแคลนในช่วงไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า

ในขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้ากาแฟโรบัสต้าซื้อขายที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ตีความได้ว่า ภัยคุกคามจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ เริ่มสร้างความกังวลต่อผู้นำเข้าและผู้ผลิตสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ แล้ว

นอกเหนือจากผลกระทบต่อสินค้าเกษตรแล้ว Simeon Siegel นักวิเคราะห์จาก BMO Capital Markets ยังบอกอีกว่าสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคการค้าปลีกด้วย

“แม้ว่าจะไม่มีผู้ค้าปลีกรายใดอยากจะโทษสภาพอากาศเพราะอาจถูกมองว่าเป็นเพียงข้อแก้ตัว แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดของเครื่องแต่งกายและสินค้าตามฤดูกาล”

“ผู้ค้าปลีกหรือแบรนด์ต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ต้องคาดการณ์ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร พวกเขายังต้องคาดการณ์ถึงสิ่งที่ธรรมชาติจะกระทำใส่พวกเขาด้วย เห็นได้ชัดว่าสำหรับบริษัทที่ขายเสื้อโค้ต เตาปิ้งย่าง เอาต์ดอร์เฟอร์นิเจอร์ เสื้อกันหนาว หรือกางเกงขาสั้น สภาพอากาศเป็นตัวกำหนดความต้องการซื้อได้เลย”

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญด้วยเช่นกัน จากการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ Atmosphere ในปี 2021 นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งสิ้น 48 แห่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อทดสอบความตั้งใจที่จะเดินทางในช่วงที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญ พบว่าสภาพอากาศที่แปรปรวนนำไปสู่การลดลงอย่างมากของการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติของนักท่องเที่ยว

 

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2023/06/29/economy/el-nino-economic-impact/index.html

https://education.nationalgeographic.org/resource/el-nino/

https://www.noaa.gov/education/resource-collections/weather-atmosphere/el-nino#:~:text=An%20El%20Ni%C3%B1o%20condition%20occurs,every%203%20to%205%20years.

https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=3312&lang=TH

https://www.barchart.com/futures/quotes/RMN23/interactive-chart

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online