ซานตาเฟ่ เดินหน้ารีเเบรนด์ปีหน้า ปรับเข้าหาคนรุ่นใหม่ ใช้ ‘Santa Fe Easy’ ต่อจิ๊กซอว์ภาพลักษณ์วัยรุ่นให้ชัดขึ้น
สมบัติ หงส์ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด เล่าว่า หลังการเข้ามาของฟู้ด เเฟคเตอร์ ก็เกิดการ Diversify แบรนด์ครั้งใหญ่ ซานตาเฟ่แตกไลน์ธุรกิจเปิดตัวแบรนด์ “Santa Fe Easy” นำเสนอร้านสเต๊กในแบบอาหารจานด่วน (QSR) จากการเล็งเห็นช่องว่างในตลาด จากปกติที่มีเพียงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เเละเทเบิลเซอร์วิส เเต่ยังไม่มีตำแหน่งร้านระหว่างการให้บริการทั้งสองรูปเเบบ อีกทั้งธุรกิจ QSR เเละรูปแบบเดลิเวอรีและสั่งกลับบ้าน เพิ่มความนิยมขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
บริษัทจะใช้เเบรนด์ Santa Fe Easy เป็นจิ๊กซอว์ที่เข้ามาตอกย้ำภาพลักษณ์การรีเเบรนด์ซานตาเฟ่ให้เด็กลง เพื่อขยายฐานลูกค้าไปในเจเนอเรชันใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์ชอบความสะดวกรวดเร็ว เเต่คงไว้ซึ่งราคาที่ต่ำกว่า 200 บาทต่อคนโดยเฉลี่ย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย
อาศัยการเปิดตามโลเคชันที่ใกล้มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้าขนาดเล็ก คอมมูนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน ตลอดจนปั๊มน้ำมัน
ในการวางโมเดลร้านเป็นไซซ์ขนาดเล็ก ลงทุนน้อย เนื่องจากบริษัทเล็งต่อยอดไปในการขยายร้านเเบบแฟรนไชส์ ร้านประเดิมสาขาแรกที่ไลฟ์เซ็นเตอร์ อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี เเละขยายต่อไปในสถานีบริการน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เเต่เพียงเเค่สเต๊กไม่พอ
หากร้านอาหารมีเมนูจานเด่นเพียงชื่อเดียว วันที่คนไม่อยากรับประทานสเต๊ก ร้านก็สูญเสียโอกาสทำรายได้ไปทันที การมีเมนูให้เลือกหลากหลายนอกเหนือจากจานหลักของร้าน เพื่อกระจายความเสี่ยง ช่วยให้ซานตาเฟ่เป็นชื่อที่อยู่ในตัวเลือกเมื่อลูกค้านึกถึงร้านอาหารสักร้าน เพิ่มโอกาสเข้ามาใช้บริการได้บ่อยขึ้น ซึ่งใน Santa Fe Easy บริษัทยังเล็งขยายไปในเมนูอาหารจานด่วนอื่น ๆ เช่น เบอร์เกอร์เเละไก่ทอด
เเค่การต่อสู้จากเเบรนด์ในตลาดเดียวกันก็ดุเดือดระดับหนึ่งเเล้ว เเต่ในธุรกิจอาหารเเบรนด์ยังต้องเจอกับการดิสรัปต์จากเซกเมนต์อื่น อย่างในช่วงที่คนฮิตสุกี้ชาบูปิ้งย่าง ร้านชาบูก็เรียงเเถวเปิดเเข่งกันจำนวนมาก อาหารที่เป็นสเต๊กก็ได้รับผลกระทบ เพราะคนหันไปเข้าร้านปิ้งย่างชาบูมากกว่า
เเบรนด์จึงต้องเร่งสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อสร้างลูกค้าที่ภักดีต่อเเบรนด์ไว้ ด้วยวิธีเช่นเดียวกับทุกเจ้า คือ ระบบเมมเบอร์ชิป ที่จะมอบสิทธิประโยชน์ โปรโมชันพิเศษให้เฉพาะ เพื่อดึงลูกค้ากลับมาใช้บริการต่อเนื่อง ขณะนี้มีจำนวนอยู่ที่ 30,000 ราย
สเต๊กก็จะขาย อาหารจานด่วนก็จะเอา ส้มตำก็มา
นอกจากซานตาเฟ่ ซานตาเฟ่คิวเอสอาร์ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ยังมีแบรนด์ร้านส้มตำ “เหม็ง นัว นัว” ใช้บุกตลาด Local สำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นเป็นหลัก เปิดให้บริการอยู่เจ็ดสาขาในเเถบชานเมือง
ปัจจุบันซานตาเฟ่ มีสาขาให้บริการกว่า 120 แห่งทั่วประเทศ ครึ่งปีหลังตามเเผนเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา โดยทั่วไปโมเดลร้านของซานตาเฟ่ แบ่งเป็นรูปแบบฟูลเซอร์วิส 140 ตารางเมตร เเละ Santa Fe Easy อยู่ที่ 80-100 ตารางเมตร
ตลาดร้านอาหารอยู่ในช่วงเเข่งขันกันอย่างดุเดือด เเละสเต๊กเป็นหนึ่งในนั้น มีผู้เล่นหน้าใหม่หลั่งไหลเข้ามาในสังเวียนมากขึ้น ในปีที่ผ่านมาซานตาเฟสามารถกวาดรายได้ราว 1,700-1,800 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีการขยายตัว 12.9% หรือมีมูลค่า 4.18 – 4.25 แสนล้านบาท มูลค่ารวมจะยังต่ำกว่าก่อนโควิด
หากแบ่งเซกเมนต์ลงไปในอาหารตะวันตก จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยที่ตลาดร้านอาหารตะวันตกยังคงแข่งขันกันในเรื่องรสชาติ ความอร่อย ความคุ้มค่าเช่นเคย
เเม้สถานการณ์การเมืองจะส่งผลต่อเเนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภค เเต่ธุรกิจอาหารยังไปต่อได้ เพราะคนยังต้องรับประทานอาหาร เเต่หากค่าเเรงขั้นต่ำมีการปรับตัวขึ้น บริษัทอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการพิจารณาขึ้นราคา ที่ผ่านมาเริ่มใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารเข้ามาทดลอง เพื่อลดต้นทุนส่วนของเเรงงาน
เเต่ในภาพรวม เศรษฐกิจนับจากนี้ไปในระยะสองถึงสามปีมีเเนวโน้มดีขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ปลดล็อก สงครามทุเลา GDP ประเทศไทยจะอยู่ในระดับ 3-4% เเต่เป็นอิทธิพลจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เเต่ธุรกิจร้านอาหารจะยังทรงตัว สมบัติกล่าวปิดท้าย
จากเอสเอ็มอี สู่แบรนด์ในชายคา”สิงห์”
ซานตาเฟ่ ก้าวสู่ปีที่ 20 ร้านอาหารประเภทสเต๊กและอาหารตะวันตกสัญชาติไทย ผู้ครองมาร์เก็ตเเชร์ในกลุ่มสเต๊กมาเป็นอันดับหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ภายใต้ ฟู้ด แฟคเตอร์ ธุรกิจร้านอาหารในเครือกลุ่มสิงห์
จากจุดเริ่มต้น ที่กว่าจะมาเป็นสเต๊กพันล้านได้นั้น ซานตาเฟ่ คือ สตาร์ตอัปตัวจริง ไม่ได้มาจากกลุ่มนายทุนใหญ่เงินหนา เเต่คือเอสเอ็มอีที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วนด้วยตัวเอง
นับเเต่ปี 2546 ที่ร้านเปิดตัวขึ้น เพื่อต้องการบุกเบิกตลาดร้านอาหารตะวันตก ที่ในตอนนั้นยังมีช่องว่างอยู่มาก ภายใต้การนำของ “สุรชัย ชาญอนุเดช” ผู้ก่อตั้งเเละซีอีโอ
โดยนำสูตรอาหารมาจากสหรัฐอเมริกา เป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อร้านตามชื่อเมืองทางตอนใต้ของสหรัฐฯ “ซานตา เฟ่” ที่เป็นเมืองชุมทางรถไฟ นำวัตถุดิบจากอเมริกาใต้ผ่านซานตา เฟ่ ไปยังสหรัฐฯ
ในอดีตซานตาเฟ่จะเปิดให้บริการตามห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นส่วนใหญ่ เน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัว คนทำงาน นักเรียนนักศึกษา เเม้สเต๊กจะเป็นรองจากแบรนด์สีเขียว เเต่ซานตาเฟ่ถือว่ามีการเติบโตในทิศทางที่ดีมาตลอด
กระทั่งต้องเผชิญกับโควิด-19 ซานตาเฟ่มีชะตากรรมไม่ต่างจากทุกคน บริษัทเจอกับการขาดทุน ประสบปัญหาขาดเเคลนวัตถุดิบ ธุรกิจเสียหลักไม่น้อย จนเมื่อถูกเทกโอเวอร์ไปโดยสิงห์ คอร์ปอเรชัน จำกัด ด้วยการเข้าซื้อหุ้นรวมมูลค่า 1,522 ล้านบาท จากกองทุน Lakeshore ที่เคยสนับสนุนซานตาเฟ่ ทำให้ ฟู้ด แฟคเตอร์ บริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี เข้ามาถือหุ้นในซานตาเฟ่ 88%
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ