โอ้กะจู๋ ร้านที่ปลูกผักเพราะรักแม่ รายได้งดงามมากน้อยแค่ไหน ?
คุณรักแม่แค่ไหน
เมื่อความรักแม่เป็นเหตุผลที่ดี จนตั้งชื่อบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่
ชื่อบริษัทที่ไม่คุ้นนี้เป็นบริษัทของร้านอาหารโอ้กะจู๋
ร้านที่เกิดจากความคิดสมัยเรียนมัธยมปลายของโจ้ จิรายุทธ ภูวพูนผล และ อู๋ ชลากร เอกชัยพัฒนกุล 2 ใน 3 ผู้ก่อตั้ง ที่ได้แรงบันดาลใจจากการทัศนศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเกิดเป็นสัญญาใจกันว่าเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยจะทำเกษตรออแกนิกร่วมกัน
หลังเรียนจบโจ้และอู๋ร่วมกันทดลองปลูกผักออแกนิก เพื่อหมายมั่นว่าจะสร้างแปลงผักที่คำนึงถึงผืนดิน ผลิตผล ระบบนิเวศ ครอบครัว และชุมชน
ในแปลงผักทดลองพวกเขาเริ่มต้นปลูกผักสวนครัวและผักสลัดบางชนิด ผลผลิตที่ได้นำไปประกอบอาหารรับประทานกันในครอบครัว ด้วยเหตุผลสั้น ๆ คืออยากให้ครอบครัวมีสุขภาพดี ไม่อยากให้ครอบครัวได้รับสารพิษและสารเคมีตกค้าง
และเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของสโลแกน “ปลูกผักเพราะรักแม่” จนกลายเป็นชื่อบริษัทในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของแปลงผักโจ้และอู๋จนกลายเป็นร้านอาหารโอ้กะจู๋ เกิดจาก ต้อง วรเดช สุชัยบุญศิริ เข้ามาร่วมอีกหนึ่งแรง พัฒนาแปลงผักพื้นที่ 6 x 30 เมตรร่วมกัน
ก่อนที่จะพัฒนาธุรกิจสู่ร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่จำหน่ายกาแฟและผักสลัดจากฟาร์มออแกนิกที่ปลูกเองในปี 2556 และขายคอนเซ็ปต์ From farm to table นำผักมาปลูกโชว์ให้ดูในร้านยืนยันว่าปลอดสารจริงจึงกลายเป็นจุดกำเนิดธุรกิจร้านอาหารโอ้กะจู๋ในปัจจุบันที่มีมากถึง 27 สาขา ที่มีพื้นที่ปลูกผักมากกว่า 380 ไร่
พร้อมรายได้เติบโตอย่างน่าสนใจ จน OR เข้าร่วมทุนในบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ สัดส่วน 20% ผ่านงบลงทุน 500 ล้านบาทในปี 2564
และ OR ยังวางเป้าหมายพา ปลูกผักเพราะรักแม่ เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2567
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัทปลูกผักเพราะรักแม่มีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
การเติบโตของรายได้บริษัทปลูกผักเพราะรักแม่ ด้วยจุดขายอาหารรสชาติดีเสิร์ฟพร้อมผักออแกนิกผ่านร้าน โอ้กะจู๋ แล้ว ยังใช้พลัง OR ในการต่อยอดธุรกิจผ่านการขยายสาขาใหม่ ๆ รูปแบบโมเดลร้านใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ร้านโอ้กะจู๋ใน PTT Station Active Park เมืองทอง แผนขยายออกต่างจังหวัด และอื่น ๆ จากปี 2564 ก่อน OR ร่วมทุนโอ้กะจู๋มีสาขา 14 สาขาเท่านั้น
แต่บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ ผ่านรายได้ร้านโอ้กะจู๋ ไม่ได้มีแค่โอกาส แต่ยังมาพร้อมกับความท้าทายในการแข่งขันของร้านอาหารสลัดและอาหารเพื่อสุขภาพที่มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท จากผู้เล่นในตลาดที่เป็นร้านอาหารเชนที่มีมากถึง 10 แบรนด์ และมีแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ที่มีสาขามากถึง 34 สาขา พร้อมกลยุทธ์จับมือกับพาร์ตเนอร์นำเสนอแคมเปญต่าง ๆ ผ่านเมนูอาหารอยู่เสมอเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเข้ามารับประทานในความถี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจร้านอาหารสลัด และอาหารเพื่อสุขภาพก็ยังคงมีช่องว่างให้ปลูกผักเพราะรักแม่เติบโตได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น
ดูได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารสลัด และอาหารเพื่อสุขภาพที่เติบโตมากถึง 50% ในปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากสลัดแฟคทอรี่
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ