เวลากาแฟ/วิรัตน์ แสงทองคำ

ชิ้นส่วน “เวลากาแฟ” ควรประกอบกันเป็นภาพใหญ่ ให้มีสาระและซีเรียสขึ้น

จากแนวคิดอันกระจัดกระจายนำเสนอมา 5 ปีเต็ม กับแรงบันดาลใจและสิ่งอ้างอิงบางระดับมาจากหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งอ้างถึงไว้ในตอนที่แล้ว

ตอนต้น ๆ ของหนังสือบรรยายไว้อย่างน่าสนใจ (แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ Coffee Culture: Local Experiences, Global Connections by Catherine M Tucker, New York: Routledge  พิมพ์ครั้งแรก ปี 2544)  โดยผู้เขียนปิดท้ายหักมุมว่า ที่นั่นคือ ร้านกาแฟริมถนนอันพลุกพล่านในเมืองหลวงกัวเตมาลา ทั้งนี้เธอตระหนักว่า นอกจากภาษาและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แตกต่างกัน นอกนั้น เหมือน ๆ กันกับที่เคยไป ไม่ว่าร้านกาแฟในสหรัฐอเมริกา หรือในเมืองใหญ่ ๆ เกือบทั่วโลก

นำมาซึ่งบทสรุปแกนหลักของหนังสือที่ว่า กระแสวัฒนธรรมกาแฟ กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก (Global Phenomenon) เมื่อราว ๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

โดยเทียบเคียงแล้วช่วงเวลานั้นสังคมไทยยังไม่เข้าสู่กระแสที่ว่าอย่างจริงจัง ผู้คนในเมืองหลวง เมืองใหญ่ เพิ่งตื่นเต้นเมื่อสัมผัส Starbucks  (เปิดโฉมหน้าที่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2541) ขณะหนังสือแปลเกี่ยวกับ Starbucks กับปรากฏการณ์อันน่าทึ่งระดับโลกทยอยสู่บรรณพิภพหลายต่อหลายเล่ม เป็นช่วงรอยต่อทศวรรษกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานไทยเปิดตัวร้านกาแฟ Café Amazon (2553) ทะลวงลงสู่สังคมวงกว้างขึ้น เชื่อมโยงถึงผู้คนที่เดินทางตามเครือข่ายถนนทั่วประเทศ

อีกไม่กี่ปีถัดมาจึงจะถือว่ามาถึงจุดเปลี่ยน ผ่านคอลัมน์และซีรีส์ “เวลากาแฟ” (ตอน เวลาเดินทาง กับร้านกาแฟอิสระ” เมษายน 2561)  พอจะมองเห็นสิ่งที่เรียกในเวลานั้น “ร้านกาแฟอิสระ” เป็นปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเน้นว่า “ไม่ใช่แค่เปลือก หรือเป็นเพียงไลฟ์สไตล์ฉาบฉวย  หากเป็นที่ที่มีเรื่องราว..” กล่าวถึง Start–Ups กับบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)   และสะสม “บทเรียนและทักษะองค์รวม (Holistic Approach) แห่งยุคสมัย”

ที่สำคัญมองเห็นเค้าลางจุดตั้งต้นสำคัญ วัฒนธรรมกาแฟไทยในกระแสโลก ซึ่งมีภาพบางมิติที่แตกต่าง “ท่ามกลางกระแสบางสิ่งบางอย่างเป็นไปอย่างเชี่ยวกราก โดยเฉพาะกระบวนการหลอมละลายธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมเข้าสู่ยุคใหม่ (Modern trade) จากโชห่วยสู่เครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่ จากผู้ประกอบการอิสระในท้องถิ่น กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทว่ากระแสร้านกาแฟอิสระกำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ให้มิติตรงกันข้าม ให้ภาพที่แตกต่าง เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ร้านค้ารายย่อยรวมพลังกันแบบอัตโนมัติ เผชิญหน้าอย่างไม่หวาดหวั่นกับเครือข่ายร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ ภาพความเป็นไปและแรงปะทะดังกล่าว เป็นฉากหลังอันผสมผสาน หลากหลาย และมีทางเลือก”

จากนั้นจนถึงวันนี้ 5 ปีผ่านมา กระแสเชี่ยวกรากอย่างแท้จริง ภาพซึ่งบรรยายไว้ในหนังสือที่อ้างในตอนต้น คล้าย ๆ กัน ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย จากเมืองหลวงสู่เมืองใหญ่ ไปยังเมืองรอง มีภาพแตกต่าง ที่ให้ความสำคัญคือภาพที่ย่อส่วนลงอย่างหลากหลาย

จินตนาการวัฒนธรรมกาแฟไทยไปไกลกว่าที่คิด กอปรด้วยห่วงโซ่ (Value Chain) ตลอดสาย ภาพซึ่งขยายไปยังต้นธาร

เมื่อ 5 ปีที่แล้วเช่นกัน ได้กล่าวถึงอย่างเจาะจงถึงกระแสกาแฟคลื่นลูกที่สาม (Third wave of coffee) และกาแฟพิเศษ Specialty Coffee ฉายภาพเชื่อมโยงไปยังต้นธารแหล่งปลูกภูดอยภาคเหนือ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ปรากฏในแผนที่กาแฟโลก ไม่น่าเชื่อว่า วันนี้มีที่ยืนแล้ว


วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online