ตลาดรถยนต์เช่า 5 หมื่นล้านบาท ท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ส่งเซกเมนต์เช่าระยะสั้น (Rent) ฟื้นสูงสุด 70% จากก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่ภาพรวมหดตัว 2-3% พบ EV ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มหลัก แต่มีช่องเติบโตได้ต่อเนื่อง
ตลาดรถยนต์เช่า 50,000 ล้านบาท
“เช่าระยะสั้น” ฟื้นตัวแรง แต่ภาพรวมยังหดตัว 2-3% |
|||
มูลค่าตลาด | 50,000 ล้านบาท | ||
เซกเมนต์ | Operating Lease (เช่าดำเนินงาน) | Finance Lease (เช่าการเงิน/เช่าเงินทุน) | Rent (เช่าระยะสั้น) |
มาร์เก็ตแชร์ | 70% | 20% | 10% |
การเช่า | Outsource จัดการด้านรถยนต์ให้องค์กร | คล้ายเช่าซื้อ แต่มีสิทธิเลือกซื้อกลับ | ส่วนใหญ่เช่าเพื่อการท่องเที่ยว |
ระยะสัญญาเช่า | 1 ปี ขึ้นไป
นิยม 3 – 5 ปี |
3 – 5 ปี | วัน, สัปดาห์, เดือน |
กลุ่มลูกค้า | องค์กรเอกชน, ราชการ, รัฐวิสาหกิจ | บุคคล, องค์กรเอกชน | บุคคล, นักท่องเที่ยว |
รูปแบบบริการ | ผู้ให้เช่า บริการครบวงจร จัดหา, ประกัน, ทะเบียน, ซ่อมบำรุง, รถทดแทน, รับผิดชอบราคาซาก | ผู้ให้เช่า เปรียบเหมือนการให้กู้ คิดดอกเบี้ย
ผู้เช่า ดูแลรับผิดชอบ และจัดการรถยนต์เอง |
ผู้ให้เช่า ประจำอยู่สนามบิน, แหล่งท่องเที่ยว |
แบรนด์ผู้นำในตลาด | KCAR, PL, Asap, ORIX, อาคเนย์ แคปปิตอล, auto rental true leasing | PL, ORIX | AVIS, Hertz, Budget |
Toyota เป็นแบรนด์รถยนต์ที่ครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาดรถเช่า 90% | |||
ที่มา: กรุงไทยคาร์เร้นท์, กันยายน 2566 |
พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส หรือ KCAR กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรถเช่าในประเทศไทย ช่วงปีที่ผ่านมา เซกเมนต์ Rent กลับมาขยายตัว 60-70% จากช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาด เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการเปิดประเทศ
Rent เป็นเซกเมนต์ที่มีมาร์เก็ตแชร์น้อยที่สุด เนื่องจากมียอดรับรู้รายได้เป็นรายวัน ต่างจาก 2 เซกเมนต์ที่เหลือ ซึ่งรับรู้รายได้ก้อนใหญ่จากสัญญาระยะยาว และมูลค่า Spending ของลูกค้าที่สูงกว่า
ขณะที่เซกเมนต์ Operating Lease และ Finance lease มีการหดตัวลงเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่บนความไม่แน่นอน การเกิดขึ้นของวิกฤตโรคระบาด สร้างทั้งข้อเสีย และโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการในตลาดทั้ง 2 เซกเมนต์
เพราะผู้บริโภคที่เป็นฐานลูกค้าเดิม มีการควบคุมค่าใช้จ่ายลง แต่ก็ส่งเสริมให้ผู้บริโภคกลุ่ม SME, รายย่อย เปลี่ยนจากการเลือกซื้อรถยนต์ มาเป็นเช่าใช้มากขึ้นเช่นกัน เพราะไม่ต้องเสียค่าผ่อนจ่าย และซ่อมบำรุงรักษาในระยะยาว
ขณะที่พฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าหลักในตลาดอย่างองค์กรเอกชน ก็เริ่มเปลี่ยนสัญญาเช่าระยะยาว จากเดิมส่วนใหญ่ 3 ปี กลายเป็นสัญญา 5 ปี มากขึ้นถึง 70 – 80% เพื่อควบคุมต้นทุน เนื่องจากการขยายอายุสัญญายาว จะทำให้ได้รับค่าเช่ารถยนต์รายเดือนที่ลดลง
ทั้งนี้ มาร์เก็ตแชร์ 90% ตลาดรถยนต์เช่าในไทย ยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ ประมาณกว่า 10 เจ้า และไม่มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดตลอดระยะเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์เช่า บริษัทมาร์เก็ตแชร์ อันดับ 1 ไม่เคยอยู่ได้นานเกิน 5 ปี มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทุกอย่างเป็นโนว์ฮาวซึ่งต้องเรียนรู้ตลาดกันใหม่ตลอดเวลา
การแข่งขันส่วนใหญ่ในตลาดรถยนต์เช่ายังคงเป็นการทำสงครามราคา แต่ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน ความท้าทายสำคัญของตลาด สำหรับผู้ประกอบการยังอยู่ที่การบริหารต้นทุนค่าเสื่อมราคา และควบคุมเลขไมล์วิ่งให้อยู่ในระดับคุ้มทุนให้ได้
ปี 2566 ภาพรวมตลาดรถยนต์เช่าจะหดตัวอยู่ที่ 2-3% เอฟเฟกต์จากตลาดรถยนต์รวมที่ยังชะลอตัวทั้งหมด ยกเว้นเซกเมนต์รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง, ไฟแนนซ์ที่เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ส่วนของรถยนต์ EV ในตลาดรถยนต์เช่า ยังเป็นส่วนแบ่งที่น้อยมาก อย่างกรณีศึกษาจาก KCAR ปี 2565 มีการทำตลาดรถยนต์ EV ให้เช่ากับลูกค้ากว่า 200 บริษัท แต่มีเพียงหลักสิบที่กลับมาเช่าซ้ำ
ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าบริษัทมีพฤติกรรมใช้รถยนต์ข้ามจังหวัด จึงประสบปัญหาสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่เดินทาง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารถยนต์ EV ในตลาดจะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนี้
จากเทรนด์ต่าง ๆ อาทิ คาร์บอนเครดิต ที่บริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญ หรือในกลุ่ม Rent ซึ่งผู้บริโภครายย่อยหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และคนรุ่นใหม่ที่เปิดใจกับโมเดล Subscription มากกว่าการซื้อเป็นเจ้าของขาด
ภาพรวมตลาดรถยนต์ EV ในไทย KCAR มองว่ายังถูกประเมินสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากอยู่ในกระแสเทรนด์ Good Deal ซึ่งผู้บริโภคกลัวตกขบวน โดยมาตรการสนับสนุนรถยนต์ EV จากรัฐบาลรอบใหม่ ที่จะมีการลดเงินอัดฉีดต่อคันลงจากรอบแรกที่จะหมดสิ้นปีนี้ จะทำให้ตลาดรถยนต์ EV มีดีมานด์จากผู้บริโภคที่ดาวน์ลงในปี 2567
บทบาทของ กรุงไทยคาร์เร้นท์ หรือ KCAR ในตลาดรถยนต์เช่า นับเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากนับเฉพาะเซกเมกต์ Operating Lease
บิสเนสโมเดลเซกเมนต์ Operating Lease ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ รถเช่าเป็นเพียงธุรกิจซัปพอร์ตส่วนงานในเครือ ขณะที่ KCAR มีส่วนรถเช่า เป็นธุรกิจหลัก และมีพอร์ตธุรกิจรถยนต์อื่น ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแรง และวางตำแหน่งของตัวเองอยู่ในภาคเซอร์วิส
ปัจจุบัน KCAR มีพอร์ตรถยนต์ปล่อยเช่า 9,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ EV 100 คัน จำนวนลูกค้า 1,200 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทเอกชน 85% และรัฐบาล & รัฐวิสาหกิจ 15%
ให้บริการออนไซต์ เซอร์วิสแก่ลูกค้าที่มีพอร์ตรถเช่ากับ KCAR ตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป และใช้รถยนต์ทดแทนเป็นรถใหม่ทั้งหมด
ผลประกอบการ KCAR ย้อนหลัง 5 ปี
ปี 2561 รายได้รวม 2,081.4 ลบ. กำไร 254 ลบ.
ปี 2562 รายได้รวม 1,967.9 ลบ. กำไร 220.8 ลบ.
ปี 2563 รายได้รวม 2,193.4 ลบ. กำไร 221.3 ลบ.
ปี 2564 รายได้รวม 2,205.7 ลบ. กำไร 226.1 ลบ.
ปี 2565 รายได้รวม 2,280.2 ลบ. กำไร 183.2 ลบ.
ม.ค. – มิ.ย. 2566 รายได้รวม 1,153.1 ลบ. กำไร 132.1 ลบ.
เป้าปี 2566/67 รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% และกำไรก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
สัดส่วนรายได้ปัจจุบันของ KCAR มาจากค่าเช่ารถยนต์ 59% (แบ่งเป็น Operating Lease, Finance Lease 98% และ Rent 2%), รายได้ขายรถยนต์ใช้แล้ว หมดสัญญาเช่า 39%, อื่น ๆ 2%
มีศูนย์บริการ กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ที่เปิดทุกวัน, ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ 24 ชม. และมีรถครบอายุสัญญาปีนี้เกือบ 2,000 คัน และปี 2567 เกือบ 2,500 คัน
งบลงทุนสำหรับซื้อรถยนต์ใหม่ 1,000 – 2,000 ล้านบาทต่อปี แผนดำเนินงานหลังจากนี้จะให้ความสำคัญกับทั้งลูกค้ากลุ่มหลัก องค์กรเอกชน และลูกค้า SME, รายย่อย ควบคู่กันไป โดยสร้างการรับรู้ด้วยกลยุทธ์ D2C เป็นหลัก
ส่วนผลดำเนินงานธุรกิจย่อยในเครือ KCAR อาทิ รถยนต์มือสอง ยอดขายอันดับ 1 Toyota SURE ต้นแบบแฟรนไชส์ TT SURE และยอดขายประจำปี มากกว่า 3,000 คัน, รถยนต์ใหม่ ยอดขายประจำปี มากกว่า 9,500 คัน
รถยนต์นำเข้า เป็นผู้นำเข้าและผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการรถหรูและซูเปอร์คาร์ มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 800 ล้านบาท ทั้งยังมีพอร์ตอื่น ๆ อาทิ ประกันภัยรถยนต์, ศูนย์บริการซูเปอร์คาร์ และ EV, บริการแต่งรถยนต์และเครื่องเสียง
อนึ่ง กรุงไทยคาร์เร้นท์ ก่อตั้งขึ้น ปี 2523 จดทะเบียนเป็นบริษัทครั้งแรก ปี 2535 ทุนเริ่มแรก 4 ล้านบาท โดยกลุ่มจันทรเสรีกุล ถือหุ้นร้อยละ 100
ปี 2547 ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส และเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้จาก 1,000 บาท ต่อหุ้น เป็น 1 บาทต่อหุ้น
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ