Sasi แบรนด์ Beauty & Lifestyle จากศรีจันทร์สหโอสถ เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ เอาใจวัยทำงาน คาดช่วยดันยอดขายโตได้ 50% ชี้การเติบโตก้าวต่อไป คือเเบรนด์ไทยต้องไปแบบซอฟต์เพาเวอร์

แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดความงามไทยยังดีต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของตลาดหลังโควิด-19 ลูกค้ากลับมาแต่งหน้า ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น  ปีที่ผ่านมาตลาดขยายตัว 5% มูลค่า 170,000 ล้านบาท  และมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด จากการที่สินค้า Beauty & Personal care อัดโปรโมชันแคมเปญแข่งกันอย่างดุเดือด อีกทั้งมีผู้เล่นหน้าใหม่เปิดตัวเข้าสู่ตลาดจำนวนไม่น้อย

บังคับให้เเบรนด์ในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เป็น Cosmetics ต้องสร้างความแตกต่าง โดดเด่น สดใหม่ มาแข่งขันในวันที่ลูกค้ามีแบรนด์ตัวเลือกมากมาย

รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่า sasi อีกหนึ่งแบรนด์สินค้าความงามในพอร์ตโฟลิโอของศรีจันทร์สหโอสถ หากไม่นับรวมช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด นับเป็นเเบรนด์อายุน้อยที่เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียงไม่ถึงสามปีเท่านั้น โอกาสและการเติบโตจึงยังไปต่อได้อีกมาก

แต่ในธุรกิจ Beauty ความสดใหม่ แตกต่าง เป็นกุญเเจความสำเร็จอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้แบรนด์อยู่รอดในสนามแข่ง สองปีที่ผ่านมาบริษัทจึงลอนช์แคมเปญ because girls can ในการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ sasi (ศศิ) ให้เป็นมากกว่าเครื่องประทินโฉม แต่ก้าวสู่ Beauty & Lifestyle ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นวัยทำงาน

หลังการปรับภาพลักษณ์ส่งผลให้ยอดขาย sasi ปี 2022 เติบโตอยู่ที่ 50% เมื่อเทียบจากปีก่อน เป็นการเติบโตที่มากกว่าตลาด ที่มีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% และเป็นตัวเลขที่มากกว่าแบรนด์ศรีจันทร์

กลุ่มสินค้าทำยอดขายได้ดี คือ สินค้าประเภทลิปสติกและแป้งกระป๋อง นอกจากนั้น ความนิยมสินค้ายังเพิ่มขึ้นในกลุ่มต่างชาติ ตัวอย่างในตลาดญี่ปุ่น แป้งรองพื้นของไทยกลายเป็นสินค้าทางเลือกของหญิงสาวญี่ปุ่นในฤดูร้อน เนื่องจากโดยปกติแป้งส่วนใหญ่ที่มีในตลาดจะเน้นความบางเบา คุมผิวหน้าไม่อยู่ในช่วงฤดูร้อน ศรีจันทร์สหโอสถมีสินค้าวางจำหน่ายใน outlets ญี่ปุ่น 2,300 แห่ง

ด้านตลาดจีนที่บริษัทเข้าไปดำเนินงานผ่านดิสทริบิวเตอร์ ยังทรงตัวและยังขยายไปในรูปแบบออนไลน์ ขณะที่ลาว แม้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ แต่ไม่กระทบกับยอดขายของศรีจันทร์ ลูกค้ายังคงซื้อสินค้าตามปกติ

ปีที่ผ่านมา บริษัททำรายได้รวม 1,000 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 30-40% ขณะที่ในช่วง Pre-Covid รายได้อยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยที่รายได้จาก sasi ยังอยู่ในสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด

พร้อมเร่งเครื่องกระตุ้นกลุ่มเมคอัพ sasi ดึงสินค้ากลุ่ม long-lasting เปิดคอลเลกชันใหม่ “sasi Girls Can SURVIVE” ที่ต่อยอดจากการรีแบรนด์แคมเปญ because girls can ครั้งก่อน  นำโดย “ลิปกร้าวใจ” และ “แป้งหน้าล็อก” เปิดตัว เก้า-สุภัสสรา ธนชาต นั่งแท่น Face of sasi (Lipstick) คนแรกของแบรนด์ เจาะกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน หรือ ผู้หญิงยุคใหม่ คาดว่าจะผลักดันการเติบโตของยอดขายปี 2023 ได้ราว 50-60%

อย่างไรก็ดี การเเข่งขันของบิวตี้ทุกวันนี้มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากมาย เพราะการผลิตสินค้าที่สะดวกและง่ายขึ้นกว่าในอดีต ทำให้มีแบรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตลาดบิวตี้มากมาย

“แต่การสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องประกอบขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้ง Creativity เงินทุน และเวลา ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ใน 3 จึงจะมีโอกาสประกอบร่างขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะหาได้ครบ” คุณรวิศ กล่าว

Soft Power โอกาสใหญ่ของธุรกิจบิวตี้ไทย

การส่งออกซอฟต์เพาเวอร์ไปทั้งองคาพยพ อาทิ ผลงานศิลปะ ศิลปิน ซีรีส์ ภาพยนตร์ อาหาร เเฟชั่น รวมถึงบิวตี้ เป็นสิ่งที่ให้ต่างชาติสัมผัสได้ เเละประเทศไทยมีความพร้อม เป็นประเทศที่มีความสร้างสรรค์  การส่งออกวัฒนธรรมเหล่านี้จะช่วยดึงรายได้กลับเข้าประเทศมหาศาล  มีตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ให้เห็นอยู่เเล้ว แต่ต้องยอมรับว่าอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จในทันที ต้องอาศัยช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่องพอสมควร แต่เมื่อออกผลแล้ว จะขับเคลื่อนการเติบโตได้ทุกภาคส่วน

คุณรวิศแสดงความเห็นว่า “การใช้ซอฟต์เพาเวอร์มาเป็นตัวชูโรงขายความเป็นไทย อาจเริ่มต้นจากการวางเเผนร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ซีรีส์ไทยเองก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ แล้วซีรีส์เรื่องหนึ่งสามารถหยิบเอาวัฒนธรรม อาหาร แฟชั่น ลงไปเล่าในเรื่องได้อย่างมีศิลปะ ผู้ชมรู้สึกร่วมได้ง่าย พอผู้บริโภคเห็นสินค้าบ่อยเข้า จะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากลอง สินค้าที่ถูกเล่าเรื่องผ่านซอฟต์เพาเวอร์จึงประสบความสำเร็จได้ไว”

เเละเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้ร่วมแคมเปญ Collaboration กับภาพยนตร์ไทย “แมนสรวง” เปิดตัว SRICHAND x MANSUANG Limited Edition ขายความงามแบบไทยเเท้ ร่วมกันยกระดับซอฟต์เพาเวอร์ไทยไปอีกขั้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online