ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ อาจจะไม่เคยตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเป็นผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

แต่เธอมีความฝันว่าโตขึ้นต้องการรับราชการ และทำงานเกี่ยวกับการบริการ

ชีวิตจึงถูกวางแผนด้วยการศึกษาต่อทางด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม

หลังจากนั้นก็มาสมัครทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานวิเทศสัมพันธ์ 4 กองวิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายสำนักผู้ว่าการ

24 ปีผ่านไปท่ามกลางปัญหาและความท้าทายของเศรษฐกิจโลก สงครามระหว่างประเทศ และการแข่งขันเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ

เธอได้ยื่นใบสมัครในตำแหน่งผู้ว่า ททท. อย่างมั่นใจและได้รับคัดเลือกในที่สุด

ในตอนเช้าของวันจันทร์หนึ่ง ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ “คุณกลาง” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนใหม่ เดินออกมาทักทายทีมงาน Marketeer ด้วยรอยยิ้มที่สดใส

 ฐาปนีย์ ขึ้นมารับตำแหน่งแทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวคนเก่า “ยุทธศักดิ์ สุภสร” เมื่อวันที่  1 กันยายน 2566   เธอเป็นลูกหม้อเก่าแก่ขององค์กรแห่งนี้นานถึง 24 ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนขึ้นรับตำแหน่งคือรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ

เธอเล่าย้อนอดีตให้ฟังถึงแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของการทำงานว่า

“คุณพ่อกลางรับราชการ (สมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์) ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ และกลางจะเติบโตมาท่ามกลางการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการไปเจรจาการค้าที่โน่นที่นี่ ใจเราก็อยากเป็นข้าราชการของรัฐเหมือนพ่อ พอโตขึ้นก็พบว่าชอบในเรื่องการบริการ แต่จะไม่ค่อยชอบในเรื่องการทำธุรกิจ”

เมื่อเป้าหมายชัด เธอจึงศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และไปเรียนต่อด้าน Master of Science, University of Surrey, United Kingdom

จบกลับมาสมัครทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อ 4 มกราคม 2542

เด็กสาววัย 25 ปีเริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานวิเทศสัมพันธ์ 4 กองวิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายสำนักงานผู้ว่าการ อย่างกระตือรือร้น  งานหลักในช่วงนั้นคือดูแลโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และสองมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน คือยูนนานและกวางสี

“ตอนเรียนได้เรียนในสิ่งที่เราชอบจะมีความรู้สึกว่าสนุกมาก  และเวลาที่เราทำงานด้วย Passion ก็มีความสุข”

ทำงานมาได้สักประมาณ 2 ปีกว่าก็ได้เริ่มเป็นหัวหน้างาน ถือว่าเป็นการได้เริ่มเป็นหัวหน้างานที่เร็วมาก

“สิ่งที่น่าจะเป็นจุดแข็งของเรามาก ๆ จนถึงปัจจุบันก็คือ เป็นคนที่ไม่เคยปฏิเสธงานที่ได้รับการมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราทำอยู่ แต่ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงานมา เราคิดว่าต้องทำให้ได้ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วไม่ได้ค่อยมารายงานว่าสิ่งที่ทำไม่ได้นั้นเพราะอะไร จะไม่เคยมีการพูดเลยว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ขอให้ท่านพิจารณาคนอื่น สิ่งนี้จะไม่ออกจากปากคนที่ชื่อฐาปนีย์แน่นอน เพราะฉะนั้นก็เลยได้สั่งสมประสบการณ์ไว้ในหลาย ๆ เรื่อง”

จุดเปลี่ยนสำคัญแรก ๆ ในชีวิตการทำงาน คือ ได้รับโอกาสขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกองสารสนเทศ ซึ่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั้น “เทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ “Information Technology” เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ  หลายคนอาจมองไม่ออกว่าสำคัญอย่างไร  เหมือนแดนสนธยาที่ไม่มีใครอยากเข้าไปทำ ในขณะที่ความฝันของหลาย ๆ คนที่เข้ามาทำงานที่ ททท. คือต้องการไปประจำสาขาในต่างประเทศ  หรือเข้ามาทำทางด้านการตลาดมากกว่า

“แต่กลางอาจจะคิดต่างจากคนอื่น คือคิดว่าโอกาสในการที่จะให้องค์กรก้าวไปสู่สิ่งที่แตกต่างก็คือต้องให้ความสำคัญในเรื่องของไอที ต้องลงมือทำในเรื่องการตลาดออนไลน์ ถึงแม้ว่ามันเป็นเรื่องใหม่ และหลาย ๆ คนอาจจะไม่เชื่อพลังของการตลาดออนไลน์ แต่เรามีความเชื่อตั้งแต่ตอนนั้น เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกได้คุยกันง่ายที่สุด และด้วยพลังของมันจะทำให้เราทำการตลาดได้ทุกรูปแบบ”  

การได้มีส่วนร่วมในการบุกเบิกและร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ใหญ่ ๆ เช่น Google ประเทศไทย โดยการทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย Google Street View  ในปี 2554

ตอนนั้นทางกูเกิลบอกว่า เขาจะทำเรื่อง Google Street View เราก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอทำก่อนประเทศคู่แข่งได้ไหม เราก็บินไป Pitching ที่สิงคโปร์ ให้เห็นความสำคัญว่าทั้ง 77 จังหวัดต้องการ Google Street View ในการทำอะไรบ้าง และจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตอย่างไร

เพราะถือว่าเราจะเป็นประเทศที่ยืนหนึ่งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถ้า Google เข้ามาแล้วสามารถที่จะต่อยอดสายป่านในเรื่องธุรกิจ อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ Win-Win ทั้งสองฝ่าย ฉะนั้น Google Street View ก็เลยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 เป็น Project 10 ปี  โดย Google เป็นคนออกเงิน

Project นี้ก็สำเร็จตอนปี 2564 ก็ครบทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งกลางก็ต้องทำงานร่วมกับ Google Headquarter หรือ Facebook หรืออะไรอื่น ๆ ที่จะหาผลิตภัณฑ์มาเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้กับประเทศไทยต่อไป

Google Street View เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทรงพลัง สามารถช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทย และเป็นการเผยแพร่เส้นทางสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และวัฒนธรรมไทยออกสู่สายตาชาวโลก และสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้จริง ๆ

“เรื่องนี้ก็เป็น Way หนึ่งของการบริหาร Partnership ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการของกลางในยุคนี้ก็คือในเรื่องการบริหารจัดการบูรณาการกับพันธมิตรแบบ 360 องศา ทั้งในและนอกอุตสาหกรรม”

การกล้าคิดนอกกรอบเพื่อการทำตลาดตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ทำให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักและถูกจับตามองตั้งแต่เวลานั้น

“แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ  จำได้เลยว่ามีบางคนเคยพูดไว้ว่าการตลาดใน Social Media เป็นการตลาดของเด็กเล่น เดี๋ยวมันก็ไป เดี๋ยว Facebook ก็เจ๊ง แล้ว ททท. จะทำยังไงในเมื่อลงทุนไปแล้ว คือถ้าเรายอมรับความคิดนี้ตั้งแต่ตอนนั้นก็จะไม่ทำให้องค์กรเดินได้ในเวย์ที่ทุกคนยอมรับว่า เป็นนักการตลาดชั้นยอด”

แต่เธอยอมรับว่าไม่ใช่ต้องไป Aggressive against ในสิ่งที่เขาคิดเพราะความเชื่อของคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการตลาดมาก่อน เขาก็มีความเชื่ออย่างหนึ่ง แต่จะทำยังไงให้สามารถจูนกันได้แบบไร้รอยต่อ

ทุกอย่างที่สั่งสมมากลายเป็น Positive Connection มาก ๆ ยามที่มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือสายสัมพันธ์ ดี ๆ เหล่านี้จะเข้ามาช่วยเป็นทั้งเกราะป้องกัน เป็นทั้งความร่วมมือ ที่ทำให้เธอได้เดินมาถึง ณ ปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนสำคัญในการกล้าสมัครเป็นผู้นำองค์กรในตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในวันที่มีปัญหาความท้าทายรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามระหว่างประเทศ และการแข่งขันในเรื่องการท่องเที่ยวที่ทุก ๆ ประเทศมองเป็นรายได้หลักในการทำเงินเข้าประเทศ

เมื่อ Marketeer ถามว่าอะไรคือความมั่นใจ

เธอตอบทันทีว่า

คำว่า “ประเทศไทย” คำว่า “สยามเมืองยิ้ม” หรือคำว่า “Amazing Thailand” รวมทั้ง “ทีม” ที่ทำงานร่วมกันมานาน เป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า ประเทศไทยต้องไปต่อในเรื่องการท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน

ฐาปนีย์บอกว่าในเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องกลับมาดูเรื่อง SWOT (Strengths, Weaknesses, Opportunities, Threats) ที่จะทำให้ทุกคนได้รู้ว่าเรามีจุดแข็ง จุดอ่อน ในเรื่องอะไร มีโอกาสแค่ไหน และเรามีความท้าทายในเรื่องอะไร

“แต่กลางจะให้ความสำคัญกับตัว R  S W O R T ขอตัว R ตัวใหญ่ ๆ เลยที่เพิ่มขึ้นมาจาก SWOT ตัว R นี่คือการบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะไม่ว่าเราจะมีจุดแข็ง หรือมีโอกาสมากแค่ไหน แต่ความเสี่ยงมันอาจจะมาแบบเหนือความคาดหมายมาก ๆ ดังนั้น เราต้องคิดไว้เลยว่าจะบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างไร”

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19  ประเทศไทยเรามีความแข็งแรงมาก ๆ ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางธรรมชาติ และจริง ๆแล้วความเป็นคนไทยนี่ล่ะที่เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง จนเรามีนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยเกือบ 40 ล้านคนต่อปี แต่แล้วโควิด-19 ก็มา

Lesson Learn ที่เกิดขึ้นคือต้องมาดูความสมดุลระหว่างตลาดนักท่องเที่ยวไทยกับตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เราจะพึ่งพาตลาดเดียวไม่ได้ เหมือนอย่างที่จังหวัดภูเก็ต ที่เขาเคยทำการตลาดแบบศาลพระภูมิ เคยเน้นไปที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างเดียว พอนักท่องเที่ยวไม่มาศาลพระภูมิก็ล้ม ตอนนี้ก็เลยต้องมี 2 ขา ก็คือ ตลาดในประเทศและต่างประเทศ

“หรืออย่างนักท่องเที่ยวจีน ชอบมาเมืองไทยมาก Opportunity เรามีแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีก็ให้เรื่องของวีซ่า Exemption  คือไม่ต้องมีการทำ Visa ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่เราเปิดประกาศวีซ่าฟรี นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาช่วงนั้นเยอะมาก แต่เราก็ต้องเจอเหตุการณ์ที่พารากอน”

บทเรียนที่ได้จากพารากอนเธอให้ความเห็นว่ารัฐบาล React เร็วมาก มีการประสานกับทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุก ๆ กระทรวงมาช่วยกันทันที ในอนาคตถ้ามีเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดการณ์เกิดขึ้นมาอีก เราก็ใช้บทเรียนในเรื่องนี้คือต้องใช้มาตรการความปลอดภัย มาตรการการเยียวยาฟื้นฟู และสุดท้ายก็คือมาตรการรักษาภาพลักษณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ ททท. ต้องรับหน้าที่นี้เข้ามา  และได้เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว

อีก 2 ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งทำเพื่อยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว คือในเรื่อง Sustainability เรื่องความยั่งยืน และเรื่อง Peace คือ สันติภาพ

“ในโลกปัจจุบันเรื่อง Sustainability เป็นเรื่องที่ต้องทำเพิกเฉยไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่มีสันติภาพ ถ้าเราไม่มีความสงบสุขในประเทศ แน่นอนว่าไม่มีใครเดินทางมาท่องเที่ยว เพราะจะส่งผลกระทบในหลาย ๆ ส่วนรวมทั้งเรื่องของสภาพจิตใจ ซึ่งถ้าบนโลกใบนี้มีสันติสุขก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้น กลางอยากให้ความรักจากการท่องเที่ยวทำให้คำว่าสันติภาพเกิดขึ้น”

ผู้นำในสไตล์ “ฐาปนีย์”

“ต้องเป็นนักฟังที่ดี แน่นอนว่าเราเคยเป็นเด็ก เวลาที่รู้สึกว่ามีอะไรมากระแทกเรา ก็อยากที่จะ React แบบรวดเร็ว  ซึ่งทำให้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในตอนนี้ในฐานะผู้นำองค์กร เราจะรับฟังความเห็นจากทุกคนมากขึ้น และจะต้องฟังทุก Generation ในองค์กร ถ้าจะเป็นผู้นำที่ดี เราต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วย” ฐาปนีย์ย้ำ

ในโลกอนาคต ททท. ต้องเจอกับโจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายและคาดไม่ถึง ทุก ๆสำนักงานต้องเตรียมตัวทำในเรื่องของการตลาด

“แต่ทฤษฎีทางการตลาดที่ ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักจะต้องกล้าที่จะฉีกตัวเองให้คิดนอกกรอบ พลิกแพลงได้ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าคนบอกว่า เขาทำตามทฤษฎีการตลาดออนไลน์แบบโลกปัจจุบันไม่ทัน ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นความผิด แต่เราจะไม่รอคนที่ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมการตลาดได้ทันกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่นั่นไม่ได้ถือว่าเป็นความผิด  เรารู้ว่าทุนของผู้บริหาร หรือทุนของผู้อำนวยการแต่ละท่านในเรื่องของนวัตกรรม ในเรื่องไอทีไม่เท่ากัน ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เขาก็ต้องเรียนรู้ และเราก็ต้องช่วยกัน”

วิธีคิดนี้คือที่มาของ “การตลาดแบบช่วยเหลือเกื้อกูล” การท่องเที่ยวแบบ The Link ก็คือสามารถทำการตลาดแบบเชื่อมโยงข้ามภาคกัน

“แต่ก่อนเราจะทำแผนการของภาคไหนก็ภาคนั้น เช่นจะทำอย่างไรให้คนมาเที่ยวภาคอีสานได้มากที่สุด แต่ตอนนี้เราได้ทลายกำแพงลง จากการทำงานแบบไซโล ให้ทำงานแบบคู่ขนานกัน ทุกภาคต้องใช้มิติความโดดเด่นของแต่ละภาคมาช่วยเหลือกัน ทำให้ประเทศไทยไม่มีช่วง High ไม่มีช่วง Low แต่เป็นเรื่องการช่วงชิงการตลาดในทุก ๆ วัน ก็เลยเกิด กลายเป็นแคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน”

ยุทธศาสตร์ Pass กับการตลาด 360 องศา

Pass คือแนวคิดในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยของฐาปนีย์ ซึ่งประกอบไปด้วย

P คือ Partnership  คือการผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เช่น ถ้าเราต้องการนักท่องเที่ยวกลุ่มนักลงทุน เราต้องไปจับมือกับ BOI ถ้าต้องการนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ  เช่นอยากได้นักท่องเที่ยวแบบดูดาว ต้องทำงานกับ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ต้องการคนจาก Health and Wellness ก็ต้องติดต่อกับกลุ่มโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งต้องเข้าหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพราะกลุ่ม Bank ต่าง ๆ ก็จะเป็นโอกาส  สำหรับคนที่จะมา Vacation Paradise in Thailand ก็ได้

 A  คือ Accelerate Access to Digital World  เราต้องพัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าความสัมพันธ์แบบคู่ขนาน ระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ เช่น เชิญชวนเขามาทางออนไลน์ แล้วเรามาเชื่อมต่อออฟไลน์แบบที่มีประสิทธิภาพ ถ้าทำได้เราคือผู้ชนะแน่นอน

 S คือ Sub Culture Movement เป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่จะทรงอิทธิพลมาก ๆ เมื่อคนกลุ่มนี้คุยกันบนโลกออนไลน์ในเรื่องเดียวกัน ภาษาเดียวกัน พวกเขาพร้อมจะ Spending อย่างเต็มที่เพื่อไปในเป้าหมายเดียวกัน

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย สมมุติว่ากลุ่มพวกนี้เขามีความเชื่อในเรื่อง UFO

“พอพูดถึงเรื่องนี้ทุกคนบอก อ้าว ผู้ว่าจะทำการตลาดแบบต่างดาวเหรอ ใช่ กลางจะทำการตลาดกับคนที่เชื่อเรื่อง UFO เราบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่จะมีโอกาสในการเห็น UFO เหมือนกันที่เขากะลา จ. นครสวรรค์ คือจะเห็นไม่เห็นไม่เป็นไร แต่เรามีเรื่องราว แล้วเราสร้าง Demand ให้เขามา 

หรือเราจะไปจับกลุ่มคนที่สนใจประวัติศาสตร์ เรื่องประวัติศาสตร์ นี่เป็น Niche แต่เรา Sub Culture คือเป็นประวัติศาสตร์แบบได้ UNESCO เพราะฉะนั้นตลาดในประเทศต้องทำเลยว่าแล้วที่ไหนบ้างที่ได้ UNESCO เราเคยรู้ไหมว่าจังหวัดนครราชสีมาได้เป็น Triple UNESCO City แห่งที่ 4 ของโลก  คือ Korat The UNESCO Triple Heritage City รวม 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. มรดกโลกป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ 2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช 3. โคราชจีโอพาร์ค”

กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มย่อยนี้แตกมาจาก Mass และ Niche เช่น คนมาเมืองไทยเพราะชอบอาหารไทย คือกลุ่ม Mass แต่ถ้าคนต้องการอาหารไทยแบบไทยแท้ ๆ อันนี้ก็เป็น Niche แต่ถ้าจะเป็น Sub Culture จะย่อยลงไปอีก คือ เขาต้องการมาร้านที่ได้มิชลินสตาร์ เราก็ต้องมีบริการให้เขาหมด

“เป็นการวางพื้นฐานความต้องการของนักท่องเที่ยวเจาะกลุ่มไปให้ถึงกลุ่มที่เล็กที่สุด แต่เขาอาจจะเป็นคนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดก็ได้ เป็นจุดขายที่ทำให้เราแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เพราะเราลงไปถึง DNA ของนักท่องเที่ยว ซึ่งเราต้องทำให้ได้”

ตัวสุดท้าย S สุดท้ายก็คือ Sustainability Now ตอนนี้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน  ไม่อย่างนั้นแล้วเราไม่มีที่ยืนในสังคมแน่นอน เพราะนักท่องเที่ยวเองเขาก็ใส่ใจในประเทศที่เขาจะไป มันคือ  Meaningful Travel การเดินทางท่องเที่ยวที่มีความหมายกับชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น เขาเดินทางมาประเทศไทย ต้องการไปแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ก็จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่มีความหมาย เพราะเงินที่เขาจ่ายไปจะกลับคืนสู่ชุมชน แต่ถ้าชุมชนนั้นทำอาหาร จับปลา แล้วมากินด้วยกัน มาคุยกันอย่างสนุกสนาน มันก็คือความประทับใจแบบสร้าง Relationship สร้างความสัมพันธ์ได้ในอีกระดับหนึ่ง เป็นความสุขที่เขาอยากกลับมาทุก ๆ ครั้งที่เขาเขาคิดถึง

 “นักท่องเที่ยวยุคใหม่เขาถวิลหาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เพราะตัวตนบนโลกออนไลน์มีความสำคัญ เขาต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เขา Delivery ออกมา มันมีประโยชน์ต่อสังคมยังไง”

เธอบอกว่าการตลาดแบบนี้ไม่ง่าย ถ้าเราไม่ได้มาซึ่งความร่วมมือแบบ 360 องศา ยากมาก

เราเดินคนเดียว รับรองไม่เกิด ถ้าประเทศชาติจะยกระดับด้วยการท่องเที่ยว ทุกคนต้องเป็นเจ้าของความสำเร็จนั้น หมายถึงทุกกระทรวง ทุกทบวง กรม  เอกชน ทุกคนในประเทศไทย ต้องมีส่วนร่วมในความสำเร็จ ต้องมีส่วนร่วมในการยกระดับในเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ”

เธอฉายให้เห็นภาพการทำงานของ ททท. ที่กำลังเกิดขึ้นว่า

จากนี้ไปแคมเปญของ ททท. ที่ร่วมมือกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะทยอยออกมาเรื่อย ๆ เช่น การร่วมมือกับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมด้านแฟชั่น

ตอนนี้จะเน้นในเรื่อง Soft Power เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยทำร่วมกับช่อง One มี การ X กับในส่วนของ Fit and Firm Fighting ซึ่งเป็น Soft Power หนึ่งที่ทำให้เรื่องอุตสาหกรรมมวยหรืออุตสาหกรรมสุขภาพ ไปได้ดีมาก ๆ เรื่องของแฟชั่น ก็จะได้เห็น Thai Fabric to the World

ทำในเรื่อง Film Festival เน้นในเรื่องกิจกรรม เทศกาล ประเพณี ที่ยกระดับเรื่องเทศกาลประเพณีพื้นถิ่น ให้กลายมาเป็นเทศกาลประเพณีสู่สากล

แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือ Faith เรื่องของสายศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีทั้งตลาด Short Haul ตลาด Long Haul  ตลาด Short Haul อาจจะเป็นลักษณะของความเชื่อ เรื่องมูเตลู แต่ตลาด Long Haul จะเน้นในเรื่องสายธรรมะ สาย Healing สายการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน หรือทางสายกลาง อันนี้เราก็จะไปทั้ง 2 สาย

เป้าหมายชัดเจน ยุทธศาสตร์ กำลังคนพร้อม อะไรคือปัญหาและอุปสรรค   

“การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เราไม่ได้ก่อแล้วอยู่นอกเหนือการ Control อันนี้สำคัญมาก ๆ เป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวที่สุด เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่โทษกัน  และพยายามฝ่าปัญหาไปด้วยกัน แต่ถ้าบริหารจัดการ Crisis แต่มี Conflict กันด้วย เป็นเรื่องที่กลางไม่โอเคแน่นอน”

เราต้องท่องให้มั่นว่า ยุทธศาสตร์ในเรื่องการท่องเที่ยวจะยกระดับประเทศไปด้วย เพราะห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่เดินทางท่องเที่ยว แต่มีห่วงโซ่ Multiplier Effect ที่สูงมาก เราต้องใช้ ต้องดื่ม ต้องกิน  ต้องมีที่พัก สายป่านในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมันเยอะมาก ๆ

รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในเรื่อง Drive Demand

“จะไม่ได้พูดแค่ว่านักท่องเที่ยวอย่างเดียวแล้ว เราจะเน้นไปยังพวกนักลงทุน นักธุรกิจ พ่อค้า เขาอาจจะมาเป็นนักธุรกิจในวันนี้ แต่เขาก็จะเป็นนักท่องเที่ยวในวันข้างหน้า หรือดูเงื่อนไขที่ทำให้นักลงทุน ผู้สร้างหนัง ผู้สร้างภาพยนตร์ได้เข้ามาเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น”

ที่สำคัญคนของ ททท. ต้องมีความเชื่อในความสามารถของตัวเอง มีความเชื่อในการที่ต้องสร้าง Connection มีความเชื่อในการที่จะต้องไปหาพันธมิตร

สุดท้ายเมื่อ Marketeer ถามว่า ทำงานหนักมาก ๆ อย่างนี้ Work Life Balance อย่างไร

“20 กว่าปี วันลาพักร้อนแทบจะไม่เคยใช้เลยค่ะ ใช้น้อยมาก ๆ ลาพักร้อนจริง ๆ ก็คือตอนลาคลอด ก่อนที่จะคลอดประมาณสัก 3-4 วัน ทุกคนบอกให้หยุดได้แล้ว อันนั้นคือลาพักร้อนจริง ๆ แล้วก็หยุดอยู่กับลูกประมาณ 1 เดือน”

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ บอกว่า โชคดีที่สามีเข้าใจในบริบทของการทำงาน รู้ว่าเราเป็นคนที่ชอบทำงาน มีความสุขในการที่จะทำสิ่งนี้ เขาก็จะเป็นคนดูแลครอบครัวเป็นหลัก

“แต่เวลากลางไปไหนก็แล้วแต่ทุกคนจะรู้เลยว่า กลางจะเป็นคนที่ทำงานเสร็จปุ๊บแล้วกลับก่อน ลูกน้องอยู่ต่อ ไม่มีปัญหา คือถ้าเรามีเวลาสักนิดนึง ต้องให้กับครอบครัว แล้วก็เป็นความสุข แม้ว่าร่างกายเราจะเหนื่อย แต่ใจเราก็มีความสุข มันก็โอเคแล้ว”

ความสุขอีกอย่างหนึ่งของเธอคือการได้ Shopping

“ไม่จำเป็นว่าจะต้องช้อปปิ้งในห้างอย่างเดียว แต่การได้ไปร้านค้าชุมชน ชื้อของใน OTOP Shop หรือการที่ได้ไปคุยกับเจ้าของผลิตภัณฑ์พูดถึงที่มาของสินค้าก็เป็นความสุขมาก ๆ เป็นอะไรที่มัน Healing ในเรื่องความเครียด ในทุก ๆ อย่าง”

เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะเบา ๆ ก่อนที่จะขอตัวออกไปทำภารกิจอื่น ๆ ที่มีต่อเนื่องยาวไปตลอดทั้งวัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online