จากเรื่องราวของนักลงทุนรายหนึ่งที่ได้แชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำราคาของหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหุ้นไทยบนเว็บบอร์ดชื่อดังของเมืองไทยอย่าง pantip อ้างอิงข้อมูลกระทู้ของคุณหมายเลขสมาชิก สมาชิกหมายเลข 4999998 ที่ตั้งกระทู้ชื่อว่า “หลักฐานมัดแน่น Bot ใช้การ short หุ้นทุบราคาหุ้น ( กลต ตลท ลาออกซะ)” เนื้อหาในกระทู้พูดถึง Bid-Offer (ราคาเสนอซื้อ-ราคาเสนอขาย) ของหุ้นในธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่หุ้นหนึ่ง ที่จู่ๆในเวลาประมาณ 10.32 น. ของวันที่ 12 กรกฎาคม 2023 ที่ราคาเสนอขาย (Offer) ได้มีการตั้ง Offer เป็นจำนวนกว่า 5 ล้านหุ้นที่ช่วงราคา (34.00 บาท – 35.00 บาท) ทำให้เกิดลักษณะคล้ายกำแพงขนาดใหญ่ขวางไม่ให้หุ้นขึ้น และทำให้นักลงทุนรายย่อย(แม้แต่นักเก็งกำไร) พากันขายหุ้นออกไปส่งผลให้ราคาหุ้นตกลง
กระทู้ต้นเรื่องที่แพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลกอินเตอร์เน็ตที่ทำให้ กลต. ตลท. และรัฐบาลต้องออกมาสอบสวนความจริง : Pantip
โดยใจความสำคัญที่เจ้าของกระทู้สงสัยก็คือว่า ได้มีการทำราคาเพื่อให้รายย่อยขายออกมาเพื่อที่รายใหญ่จะได้ Short หุ้นหรือไม่ (ความหมายของการ Short Sell หุ้นจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป) และถ้าทางการยังปล่อยให้มีการกระทำเช่นนี้จากรายใหญ่ที่อาจจะมีการรู้กันกับโบรคเกอร์จะทำให้ศรัทธาในตลาดหุ้นไทยเสื่อมถอยลงหรือไม่อย่างไร วันนี้เราเลยอยากชวนคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับอีกด้านของการเก็งกำไรในตลาดหุ้น นั่นก็คือการ Short Sell ว่ามีกระบวนการที่มาเป็นอย่างไรและส่งผลอย่างไรต่อตลาดหุ้น รวมไปถึง Unfair Advantage หรือ ความได้เปรียบแบบไม่เป็นธรรม ที่เจ้ามือรายใหญ่สามารถกระทำได้โดยอาศัยช่องโหว่ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจหมายถึงทำให้รายย่อยสูญเงินเป็นจำนวนมาก
Short Sell คืออะไร ทำไมต้องทำ
Short Sell คือการยืมหุ้นจากโบรกเกอร์เพื่อขายในตลาดก่อน จากนั้นจึงซื้อหุ้นคืนในภายหลังเพื่อส่งคืนให้กับโบรกเกอร์ โดยนักลงทุนจะสามารถทำกำไรได้หากราคาหุ้นที่ยืมมาขายลดลงในช่วงระหว่างที่ถือครองหุ้นอยู่
ตัวอย่าง สมมติว่าราคาหุ้น ABC อยู่ที่ 100 บาท นักลงทุนเชื่อว่าราคาหุ้น ABC จะลดลงในอนาคต จึงยืมหุ้น ABC จากโบรกเกอร์มาขายในตลาด ดังนั้นนักลงทุนจะได้รับเงินสดจำนวน 100 บาท(จากการขายหุ้น ABC ที่ยืมมา) จากนั้นรอจนราคาหุ้น ABC ลดลงเหลือ 90 บาท จึงซื้อหุ้น ABC คืนมาส่งคืนให้กับโบรกเกอร์ จะได้กำไรจากการขายหุ้น ABC เท่ากับ 10 บาท (100 – 90)
Short Sell สามารถทำได้กับสินทรัพย์ต่างๆ นอกเหนือจากหุ้น เช่น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ดัชนีหุ้น เป็นต้น
เหตุผลที่นักลงทุนต้องทำ Short Sell หลักๆมีอยู่ 3 เรื่อง
1.เพื่อเก็งกำไรจากความคาดหวังว่าราคาสินทรัพย์จะลดลงในอนาคต
2.เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต
3.เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์เชิงลบกัน
ยังไงก็ตามการ Short Sell ก็ยังถือว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากนักลงทุนจะต้องรับผิดชอบต่อผลขาดทุนที่เกิดขึ้นหากราคาสินทรัพย์ที่ยืมมาขายเพิ่มขึ้น
จะเห็นว่าการทำ Short Sell นั้น ผู้ที่จะทำธุรกรรมขายชอร์ต “ต้องมีหุ้นก่อน” ซึ่งหุ้นก็มาจากการยืมโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกเกอร์ก็อาจจะไปติดต่อผู้ที่มีหุ้นนั้นอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร (ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่) โดย โบรกเกอร์จะเป็นตัวกลางในการ “ให้ยืม” และติดตามการคืนหุ้นของ “ผู้ยืม” ทั้งนี้ในกระบวนการนี้จะเรียกว่า SBL หรือ Security Borrowing and Lending หรือ ธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
SBL คืออะไร
SBL หรือ Security Borrowing and Lending หรือ ธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ คือ การโอนหลักทรัพย์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งจากผู้ให้ยืมไปยังผู้ยืมโดยผู้ยืมตกลงว่าจะโอนหลักทรัพย์ที่ยืมคืนให้กับผู้ให้ยืมเมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญา
และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการที่ผู้ยืมไม่สามารถส่งมอบหลักทรัพย์ที่ยืมคืนได้ ผู้ยืมจึงตกลงโอนทรัพย์สินในคราวเดียวกัน เพื่อวางเป็นประกันให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเงินสดหรือหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน โดยผู้ให้ยืมจะคืนทรัพย์สินที่วางเป็นประกันเมื่อได้รับหลักทรัพย์ที่ยืมคืนจากผู้ยืม ณ วันครบกำหนดสัญญา ตามปกติมูลค่าของหลักประกันขั้นต่ำ(Margin) จะมากกว่าหรือเท่ากับมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ยืม ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญา และความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่ยืม และกระบวนการ SBL นี่เองที่เป็นกลไกอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการจะทำการ Short Selling
ลักษณะของธุรกรรม SBL
ตัวอย่างการทำธุรกรรม SBL
บริษัทหลักทรัพย์ตกลงยืมหุ้น ABC จำนวน 50,000 หุ้น ราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท จาก กองทุนรวม โดยมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นประกัน บริษัทหลักทรัพย์ตกลงจ่ายค่าธรรมเนียมในการยืม (lending fee) เท่ากับ 30 basis point (0.30%) มีระยะเวลาการยืม 14 วัน และมีอัตรา margin(หลักประกันขั้นต่ำ) ในการวางประกัน เท่ากับ 2%
การคำนวณมูลค่าหลักประกันที่ต้องการ
ราคาตลาดของหุ้น ABC = 100 บาท
มูลค่าของหลักประกันที่ต้องการ = มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ยืม + 2% margin
= (100 x 50,000) + (2%margin)
= 5,100,000 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ต้องส่งมอบพันธบัตรให้แก่กองทุนรวม เพื่อวางเป็นหลักประกันสำหรับการยืมหุ้น ABC คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 5,100,000 บาท และกองทุนรวมจะส่งคืนพันธบัตรให้บริษัทหลักทรัพย์เมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญาและได้รับหุ้น ABC คืนแล้ว
การคำนวณค่าธรรมเนียม
คำนวณจาก มูลค่าของหลักที่ยืม x (จำนวนวันที่ยืม / 360 วัน) x อัตราค่าธรรมเนียม
= 5,000,000 x (14 วัน / 360 วัน) x 0.0030
= 583.33 บาท
ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการยืมหลักทรัพย์จำนวน 583.33 บาท ให้แก่กองทุนรวมเมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญาพร้อมกับคืนหุ้น ABC
ตัวอย่างกฎเกณฑ์ในการทำธุรกรรม SBL ของบริษัทหลักทรัพย์ KGI
หลักทรัพย์ที่สามารถยืมได้
- หลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนี SET100
- หน่วยลงทุน ETF
- หลักทรัพย์ที่อ้างอิงของกองทุนรวม ETF
- หลักทรัพย์ที่มี Market Cap เฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
- รายชื่อหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์ อัพเดท ณ เดือน พ.ย. 2566
ทั่วไปแล้วการทำ Short Selling ผ่านกระบวนการ SBL ก็ไม่ได้ผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใดหากผู้ที่ประสงค์จะทำทำอยู่ในกรอบและขอบเขตที่ ก.ล.ต. และ ตลท. กำหนด แต่ปัญหามันอยู่ที่มีคนเห็นช่องโหว่ในเรื่องของหลักเกณฑ์บางอย่างระหว่างบริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (Thailand Securities Depository : TSD) และ บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Clearing House ซึ่งเราจะอธิบายต่อไปว่ากระบวนการใดในการซื้อขายที่ทำให้เกิดช่องว่างและทำให้เกิดธุรกรรม Naked Short Selling ขึ้น
Naked Short Selling คืออะไร
Naked Short Selling นั้นมีคอนเซ็ปต์คล้ายกับการทำ Short Selling เลย คือการที่นักลงทุนขายหุ้นออกไปโดยที่นักลงทุนไม่ได้ถือหุ้นนั้นอยู่จริง และก็ต้องหวังว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลงเพื่อ ซื้อคืนและทำกำไรจากส่วนต่างราคา(ที่ลดลง) แต่ความแตกต่างระหว่าง Naked Short Selling กับการทำ Short Selling คือ Short Selling นักลงทุนต้องมีหุ้นก่อน และหุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการยืมโดยนักลงทุนจะทำการยืมหุ้นมาจากโบรกเกอร์ โดยโบรกเกอร์ก็จะไปยืมหุ้นมาจากลูกค้าอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ลูกค้าที่ต้องการจะขายชอร์ต โดยผู้ให้ยืมจะได้รับค่าธรรมเนียมการให้ยืมเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่ม รวมทั้งยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากหุ้นที่ให้ยืมเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผลหรือสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นต้น อีกทั้ง ยังสามารถขายหุ้นที่ให้ยืมนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้ยืมทำการคืนหุ้นก่อน
Zero Plus Tick Rule เป็นเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่ห้ามขายชอร์ตหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาล่าสุด โดยเกณฑ์นี้กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการบิดเบือนราคาหุ้น
Custodian เป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของลูกค้า โดยในบริบทของตลาดหุ้น Custodian มีหน้าที่ดูแลหุ้นของลูกค้า
วิธีการในการทำ Naked Short Selling
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจระบบ “ การชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ ” จากข้อมูลโดยปกติแล้ว ระยะในการซื้อขายหุ้นจะแบ่งเป็น 3 ระยะ(จากภาพประกอบด้านล่าง) ได้แก่
1.Trading คือ การเกิดรายการซื้อขายหลักทรัพย์ขึ้นระหว่างสมาชิก* แต่ยังไม่ได้มีการชำระราคา หรือโอนหลักทรัพย์ให้จริง
*สมาชิกในที่นี้ก็คือกลุ่ม Broker
2.Clearing ระยะนี้คือ บริษัทที่เอาหุ้นจากสมาชิกคนอื่นมาต้องชำระเงินให้
3.Settlement การส่งมอบหลักทรัพย์ บริษัทที่ได้เงินมาต้องโอนหลักทรัพย์หรือหุ้นให้กับสมาชิกที่จ่ายเงินให้
ภาพจาก : SET
ภาพจาก : SET
และจากภาพด้านบนจะเห็นบทบาทของ สำนักหักบัญชี หรือ TCH ที่เป็นตัวกลางระหว่างระหว่าง Brokerทั้งหลาย ในการชำระเงินและส่งมอบหุ้น
ประเด็นที่ทางเพจ VI เพื่อชีวิตได้กล่าวถึงว่า อาจเป็นกระบวนการช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการทำ Naked Short Selling ก็คือ หลังจากเกิด ระยะซื้อขาย (Trading) ที่เกิดรายการซื้อขายหลักทรัพย์กัน ต้องใช้เวลา T+2(วันที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ + ไปอีก 2 วัน) ตามกฎของ TCH ของ เพื่อที่จะไปสู่เฟสของการ Clearing และ Settlement ถามว่าแล้วระยะเวลามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำ Naked Short
ก็ต้องบอกว่าเมื่อ Custodian หรือ ผู้ดูแลรักษาหลักทรัพย์ ให้นักลงทุนที่จะทำ Naked Short ยืมหุ้น หลักๆเลยพวกเขาอยู่นอกกฎ Zero Plus Tick Rule (ห้ามขายชอร์ตต่ำกว่าราคาล่าสุด) และสองคือ กว่าที่จะมีการส่งมอบหุ้นกันจริงๆก็อีกตั้ง 3 วัน(หมายถึง บุคคลปริศนาส่งมอบหุ้นคืนให้กับ Custodian เพื่อให้ Custodian ไปรายงานต่อ Broker หรือ หน่วยงานกำกับ) แปลว่าโอกาสที่นักลงทุนคนนั้จะหาหุ้นมาคืนได้และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและเล็ดลอดการตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับก็มีสูง
ทำไม Naked Short Selling อาจจะมีผลกระทบกับราคาหุ้นได้
ปกติการขายชอร์ตหุ้นนั้น ตลาดหลัทรัพย์ของแต่ละประเทศจะมีการเกณฑ์ในการกํากับดูแลเรื่องของราคาหุ้นที่ส่งคำสั่งขายชอร์ตหุ้นไว้เพื่อป้องกันผลกระทบกับราคาหุ้น เช่น ประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กําหนดให้ผู้ที่ทำ Short Selling สามารถขายชอร์ตได้ที่ราคาล่าสุด(Last Price) เท่านั้น หรือที่เรียกว่ากฎ Zero Plus Tick Rule ทำให้ไม่สามารถโยนขายซ้าย(ขายทันทีที่ราคา Bid) หลายๆช่องราคาที่ต่ำกว่าราคาล่าสุดได้
แต่ Naked Short Selling ทำได้ เพราะจะไม่ผ่านการตรวจสอบจาก ตลาดหลักทรัพย์ เหมือนเป็นการหลบกฎ Zero Plus Tick Rule ตรงนี้ทำให้พวกเขาสามารถโยนขายหุ้นที่ราคาต่ำ
กว่า Last ได้ ซึ่งคนที่ทำได้ในที่นี้ มีความน่าจะเป็นที่เป็นนักลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในระบบตรงนี้ และไม่ได้ถูกตรวจสอบหุ้นก่อนขาย เพราะใช้ Custodian (ผู้รับฝากทรัพย์สิน) แล้ว Custodian จะรายงานต่อ Broker หรือหน่วยงานกำกับดูแลอีกทีใน T+2 วัน
ตลาดหุ้นไทยเคยเกิดเหตุการณ์ Naked Short Selling มาก่อนหรือไม่
ภาพจาก SET NOTE
จากภาพเหตุการณ์ Naked Short Selling เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยมาแล้วจริง ในช่วงปี 2560 – 2561 และ 2562-2564 ถึงแม้ว่าการสืบค้นข้อมูลจะไม่พบชื่อหุ้นหรือรายชื่อโบรกเกอร์ที่ร่ววมกระทำความผิด แต่จากการที่ตลาดหุ้นออกมายอมรับเองว่า มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นจริง ก็เป็นการย้ำเตือนนักลงทุนว่าอาจจะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนก่อนตัดสินใจลงเงินจริง
ผลกระทบจากการทำ Naked Short Selling
ปกติการขายชอร์ตหุ้นภายใต้เกณฑ์กํากับในแต่ละประเทศนั้น จะมีเกณฑ์เรื่องของราคาหุ้นที่ส่งคำสั่งขายชอร์ตหุ้นไว้เพื่อป้องกันผลกระทบกับราคาหุ้น เช่น ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพยืแห่งประเทศไทยได้กําหนดให้ “ขายชอร์ตได้แค่ที่ราคาล่าสุดเท่านั้น” หรือที่เรียกว่า Zero Plus Tick Rule ทำให้ไม่สามารถโยนขายหุ้นหลายๆช่องราคาที่ต่ำกว่าราคาล่าสุดได้ (Last Price)
ซึ่งการทำ Naked Short Selling จะไม่ผ่านการตรวจสอบตรงนี้ ทำให้สามารถโยนขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าราคาล่าสุดหรือว่า Last Price ได้ Naked Short Selling จะกระทําโดยนักลงทุนที่ใช้ Custodian ซึ่งมักจะมีวงเงินในการซื้อขายหุ้นขนาดใหญ่ ทำให้การขายหุ้นอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้
- สร้างความเสี่ยงต่อตลาดหุ้น
Naked Short Selling เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากราคาหุ้นเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะต้องซื้อคืนมาคืนโบรกเกอร์ในราคาที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนขาดทุน ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการผันผวนอย่างรุนแรง
- บิดเบือนราคาหุ้น
Naked Short Selling สามารถใช้เป็นกลยุทธ์ในการกดดันราคาหุ้นให้ลดลง โดยนักลงทุนอาจทำการขายหุ้นแบบ Naked Short Selling เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนรายย่อย และส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง และส่งผลให้พวกเขาสามารถซื้อหุ้นมาคืนในราคาถูกได้แบบยิ่งกว่าถูกได้
- สร้างความไม่เท่าเทียมกันในตลาดหุ้น
Naked Short Selling มักถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ผิดจรรยาบรรณ เนื่องจากนักลงทุนที่ทำการ Naked Short Selling ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหุ้นจริงๆ จึงทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายใน เพื่อกดดันราคาหุ้นให้ลดลง และสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย
- ทำลายความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น
เหตุการณ์ Naked Short Selling มักสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนรายย่อย และส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงมีกฎหมายควบคุม Naked Short Selling เพื่อจำกัดความเสี่ยงและป้องกันการฉ้อโกง
จากการแถลงล่าสุดของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็ออกมายืนยันหนักแน่ว่า จากข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วโลกโซเชียลนั้น ทางตลาดหลัพทรัพย์แห่งประเทศไทยตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่เป็นการเข้าข่ายว่ามีผู้กระทำความผิดในการทำ Naked Short Selling เพราะ ตลาดฯได้มีการสุ่มตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติในทุกๆวันอยู่แล้ว
เรียกว่าต้องติดตามกันชนิดรายวันรายสัปดาห์เลยก็ว่าได้เพราะตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยที่มีต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ค่อนข้างสั่นคลอนทีเดียว เพราะนอกจากเรื่องของดัชนีที่นับวันจะลดลงเรื่อยๆ ยังรวมไปถึงข่าวลือที่นักลงทุนรายใหญ่จ้องจะเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก
อ้างอิง
https://www.set.or.th/th/tch/about/main
https://www.thaiwarrant.com/knowledge/articles-details-181
https://www.thaiwarrant.com/knowledge/articles-details-132
https://storage.googleapis.com/sg-prd-set-mis-cms/common/research/1304.pdf
https://media.set.or.th/common/research/524.pdf
https://www.thaiwarrant.com/Other/sbl
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ