Carrefour ทำความรู้จักไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่ Walmart

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Carrefour (คาร์ฟูร์) หนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เคยเปิดให้บริการในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่จะถอนตัวออกจากประเทศไทยไป เช่นเดียวกับในสิงคโปร์ที่ Carrefour เข้าไปตีตลาดเมื่อปี 2003 ก่อนที่จะเจอกับห้างคู่แข่งท้องถิ่นจนทำให้ Carrefour เลิกกิจการไป

หรือแม้กระทั่งในญี่ปุ่นที่ Carrefour ต้องเลิกกิจการและขายห้างทั้งหมดให้กับกลุ่ม AEON ซึ่งเป็นเครือข่ายห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นไป

หลายคนจึงอาจคิดว่าCarrefourเป็นกิจการที่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับกิจการอื่น ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าCarrefourเป็นเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในแง่ร้านค้าและรายได้ รองจาก Walmart เท่านั้น

ซึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) คือร้านค้าปลีกที่รวมห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่ มีสินค้าหลากหลายประเภท เป็นแหล่งช้อปปิ้งแบบครบวงจร

โดยCarrefourถือได้ว่าเป็น Walmart เวอร์ชั่นฝรั่งเศสเลยทีเดียว ปัจจุบันCarrefourมีสาขามากกว่า 9,500 สาขาอยู่ทั่วยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และอเมริกาใต้

ซึ่งในปี 2023 Carrefourมีรายได้ 87.3 พันล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 60.4 พันล้านดอลลาร์ กำไร 1.4 พันล้านดอลลาร์

ในปี 2022 Carrefourมีรายได้ 87.8 พันล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 54.2 พันล้านดอลลาร์ กำไร 1.3 พันล้านดอลลาร์

และในปี 2021 Carrefourมีรายได้ 82.2 พันล้านดอลลาร์ สินทรัพย์ 58.2 พันล้านดอลลาร์ กำไร 730.7 ล้านดอลลาร์

เรียกได้ว่าCarrefourมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ ปี เป็นกลุ่มบริษัทผู้ค้าปลีกชั้นนำระดับโลกสัญชาติฝรั่งเศสที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

จุดเริ่มต้นของCarrefourเครือไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

Carrefourก่อตั้งขึ้นในปี 1959 หลังจากการพบกันระหว่าง Marcel Fournier (มาร์เซล โฟร์เนียร์) เจ้าของร้านขายของแห่งหนึ่งในเมือง Annecy และครอบครัว Badin-Defforey (บาดิน-เดฟโฟเรย์) ผู้ค้าส่งอาหารใน Lagnieu (l’Ain)

ภาพ Founder

พวกเขาได้ร่วมมือกันเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตCarrefourแห่งแรกในปีต่อมา ที่ทางแยกของ Avenue Parmelan และ Avenue André Theuriet ในเมือง Annecy และในปี 1963 พวกเขาได้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในฝรั่งเศสที่ Sainte-Geneviève-des-Bois ซึ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกในฝรั่งเศสที่มีพื้นที่มากกว่า 2,500 ตร.ม. พร้อมที่จอดรถฟรี 400 คัน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในราคาต่ำ

ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตของพวกเขาจึงมีชื่อว่าCarrefourซึ่งหมายถึง ทางแยก ในภาษาฝรั่งเศส นอกจากจะเป็นการแสดงตัวตนว่ากลุ่มลูกค้าจะหาพวกเขาได้ทั่วทางแยกในทุกถนน ยังใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพันธกิจในการเป็นศูนย์กลางที่ลูกค้าสามารถค้นหาความต้องการในการช้อปปิ้งได้อย่างสะดวกสบายในที่เดียว ซึ่งแนวคิดนี้แตกต่างจากรูปแบบการค้าปลีกแบบดั้งเดิมในขณะนั้น

โดยแนวคิดของไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นการผสมผสานระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า รูปแบบที่ก้าวล้ำนี้ทำให้Carrefourสามารถนำเสนอลูกค้าได้ไม่เพียงแต่ของชำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารที่หลากหลาย รวมถึงเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในครัวเรือน และอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยการรวมแผนกต่าง ๆ ไว้ในพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่แห่งเดียว

ธุรกิจCarrefourของพวกเขาจึงดำเนินไปได้ด้วยดี จนในปี 1970 Carrefourสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นปารีส ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกสำหรับธุรกิจภาคการค้าปลีกในการจดทะเบียนในตลาดหุ้นเลยทีเดียว

นอกจากนี้ Carrefourยังถือได้ว่าเป็นแบรนด์ที่ปฏิวัติโลกแห่งการบริโภคจำนวนมาก ด้วยการเปิดตัวตลาดผลิตภัณฑ์ปลอดสารที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ อีกด้วย

อีกทั้งในปี 1981 Carrefourยังได้เปิดตัวบัตร PASS ทั้งบัตรเครดิตและบัตรสะสมคะแนนของลูกค้า และหลังจากผ่านไปสามปี ก็มีผู้ลงทะเบียนบัตร PASS จำนวน 200,000 ราย และมีการบันทึกธุรกรรมมากกว่า 4 ล้านรายการ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วของCarrefour

Consommateurs dans une allée d’un hypermarché ‘Mammouth’,1983, Montpellier, France.

 

แนวคิดของCarrefourที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายไว้ภายใต้หลังคาเดียวกันได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนในไม่ช้าCarrefourก็สามารถขยายการดำเนินงานไปทั่วฝรั่งเศส โดยเปิดตัวโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ผสมผสานทั้งอาหารและสินค้าทั่วไป ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมการค้าปลีกเลยทีเดียว

การเติบโตของ Carrefour ไปสู่แบรนด์ระดับโลก

ในปี 1963 Carrefourได้เปิดตัวแนวคิดที่แปลกใหม่อีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ ร้านค้าลดราคา ซึ่งเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในราคาที่ต่ำกว่าการจัดหาซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตและจากพ่อค้าคนกลาง และรูปแบบร้านค้าลดราคานี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก Carrefourสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก เพิ่มยอดขายได้เป็นเท่าตัว จนทำให้จุดยืนของCarrefourแข็งแกร่งขึ้นในฐานะผู้ริเริ่มอุตสาหกรรม

ด้วยความสำเร็จนี้ เหล่าบรรดาผู้ก่อตั้งจึงเริ่มต้นขยายกิจการCarrefourไปยังต่างประเทศ โดยเปิดร้านสาขาระดับนานาชาติแห่งแรกในเบลเยียม ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่ตลาดโลกของCarrefour ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างรวดเร็วของCarrefourในทศวรรษต่อ ๆ มา

นอกจากเปิดสาขาในต่างประเทศแล้ว Carrefourยังได้เปิดตัวแบรนด์ Reflets de France ในปี 1997 ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารรสชาติต้นตำรับที่Carrefourทำขึ้นมาเพื่อส่งเสริมมรดกทางอาหารระดับภูมิภาคของฝรั่งเศสอีกด้วย

สองปีต่อมาCarrefourได้กลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ด้วยการควบรวมกิจการระหว่างCarrefourและ Promodès กลุ่มผู้ค้าปลีกชาวฝรั่งเศส

หลังจากที่Carrefourประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลกด้วยตำแหน่งผู้ค้าปลีกรองใหญ่ Carrefourก็ไม่ได้หยุดพัฒนา อย่างในตอนที่ธุรกิจ eCommerce เริ่มแพร่หลาย Carrefourก็ได้เปิดตัว Ooshop ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ โดยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 6,000 รายการ รวมถึงผลิตภัณฑ์สดนับพันรายการ

นอกจากนี้ Carrefourยังได้ขยายกิจการไปสู่ต่างประเทศอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในโรมาเนีย เบลเยียม โปแลนด์ อิตาลี บราซิล อาร์เจนตินา หรือแม้แต่ในสเปนCarrefourก็ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ

กิจการ Carrefour ในปัจจุบัน

ปัจจุบันCarrefourดำเนินงานภายใต้ชื่อไฮเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 230 แห่ง ตลาดคาร์ฟูร์ 1,020 แห่ง (ขนาดร้านตั้งแต่ 1,000 ถึง 4,000 ตร.ม.) และซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กและร้านสะดวกซื้อกว่า 2,000 แห่งในประเทศฝรั่งเศสเพียงแค่ประเทศเดียว

และCarrefourยังเป็นเจ้าของเครือข่าย Promocash Cash & Carry อีก 130 แห่ง และจัดจำหน่ายอาหารขนาดเล็กอิสระ 1,500 แห่งภายใต้แบรนด์ Proxi และกิจการเครือข่ายอาหารออร์แกนิก SoBio และ Bio C’Bon อีกด้วย

Carrefour_Global_Branches

ตั้งแต่Carrefourได้ขยายกิจการไปยังต่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1970 โดยลงทุนในตลาดอื่น ๆ ในยุโรป ก่อนที่จะขยายไปยังลาตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา ทำให้Carrefourเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านการค้าปลีกอย่างแท้จริง โดยมีเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากมาย ซึ่งให้บริการลูกค้าหลายล้านคนทั่วโลก

และหนึ่งในปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของCarrefourคือความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ด้วยความเข้าใจในความต้องการและความชอบที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค Carrefourจึงพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่หลากหลายในราคาที่แข่งขันได้

อีกทั้งร้านค้าของCarrefourได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าสามารถค้นหาทุกสิ่งที่ต้องการได้อย่างสะดวกในที่เดียว ตั้งแต่ผลิตสินค้าของสดไปจนถึงของใช้จำเป็นในครัวเรือน อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และอื่น ๆ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่กว้างขวางนี้ของCarrefourจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การเดินทางของCarrefourจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กในฝรั่งเศสสู่ผู้นำการค้าปลีกระดับโลกเป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ นวัตกรรม และความยั่งยืน ด้วยแนวทางที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การอุทิศตนเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม และการยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมCarrefourถึงเป็นต้นกำเนิดของยักษ์ใหญ่ด้านการค้าปลีกในยุโรป

พาส่องธุรกิจCarrefourในประเทศจีน อีกหนึ่งสาขาที่น่าจับตามอง

Carrefourสาขาแรกในประเทศจีนก่อตั้งโดยบริษัทฝรั่งเศสในปี 1995 ที่กรุงปักกิ่งCarrefourถือเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้าหลากหลายชนิด เป็นความแปลกใหม่ที่น่าดึงดูดใจแก่ผู้บริโภคในสมัยนั้น จึงทำให้Carrefourสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วไปยังเซี่ยงไฮ้ เจียงซู กวางตุ้ง เสฉวน ยูนนาน และมณฑลอื่น ๆ ของจีน

แต่ในปี 2008 การเปิดตัวของแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง Tmall และ JD.com ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม E-commerce ของจีนให้เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค และส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อของของผู้บริโภคเปลี่ยนไปให้ความสนใจในช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น

แม้ในช่วงเริ่มต้นของ E-commerce นั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของCarrefourมากนัก เพราะCarrefourเป็นผู้ค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนในขณะนั้น โดยมีร้านค้าทั้งหมด 249 แห่งใน 23 มณฑล ยอดขายของCarrefourในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2015 หลังจากนั้นยอดขายกลับเริ่มลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับมูลค่าการค้าปลีกออนไลน์โดยรวมในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาCarrefourต้องเผชิญกับปัญหาด้านยอดขาย โดยในปี 2017 ขาดทุนมากถึง 1,090 ล้านหยวน และในปี 2018 ขาดทุนไป 578 ล้านหยวน ส่งผลให้ในปีต่อมา Suning.com หนึ่งในเครือธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนได้เข้าซื้อหุ้นของกิจการCarrefour China 80% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของคนใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ของ Carrefour ได้อยู่ดี

ประกอบกับในปี 2021 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แบบไฮเปอร์มาร์เก็ตลดจำนวนน้อยลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนส่วนใหญ่หันไปสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งอาหารเดลิเวอรีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายกับธุรกิจค้าปลีกในจีนCarrefourจึงขาดทุนและปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีปัญหาด้านการวางจำหน่ายสินค้าหน้าร้านอีกด้วย

แต่ปัจจุบันCarrefourค้นพบวิธีแก้ไขปรับปรุงด้านการจัดการขนส่งสินค้าวางจำหน่ายหน้าร้านและได้เปิด Community-based Shopping Centers เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัทCarrefourจึงเปลี่ยนศูนย์การค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เป็น Brick-and-mortar Service Centers for Communities เป็นศูนย์การค้าแบบดั้งเดิมที่มีบริการเสริมอย่างสนามเด็กเล่นและบริการจัดเลี้ยง เพื่อสร้างความแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ

นอกจากนี้ Carrefour ยังร่วมมือกับแอป Suning.com, Meituan, Ele.me, JD Daojia และ FoodTalks เพื่อเปิดตัวบริการเดลิเวอรี ส่งผลให้Carrefourได้รับคำสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า

ด้วยเหตุนี้ การเติบโตของCarrefourในประเทศจีนจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน จะสามารถทำให้ธุรกิจกลับมามีกำไรอีกครั้งได้หรือไม่ ในอนาคตเราก็คงต้องจับตามองกันต่อไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

ที่มา:

https://en.wikipedia.org/wiki/Carrefour

https://www.carrefour.com/en/group

https://www.forbes.com/companies/carrefour/?sh=52ee8a5155fa

The rise and fall (and rise again?) of Carrefour in China

https://thebrandhopper.com/2023/06/06/origins-history-and-different-retail-formats-of-carrefour/



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online