เกิดขึ้นมา 3 ปีแล้วสำหรับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ องค์กรของรัฐที่ไม่ได้เป็นทั้งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

เป้าหมายของการจัดตั้งคือส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้มากขึ้นเพื่อให้คนไทยฉลาดรู้และใช้สื่ออย่างรอบคอบรวมไปถึงส่งเสริมให้ผู้ผลิตให้มีทุนในการผลิตชิ้นงานเพราะที่ผ่านมาสื่อประเภทนี้มักจะไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก

ดังนั้นนอกจากโครงการที่ทางกองทุนทำขึ้นมาเองแล้วยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถยื่นขอทุนเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ปี 2017 เป็นปีแรกที่เปิดให้มีการยื่นขอทุน ภายในงบประมาณทั้งหมด 100 ล้านบาท มีโครงการที่ยื่นทั้งหมด 477 โครงการ แต่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเพียง 53 โครงการ และได้เงินที่ได้รับอนุมัติมีตั้งแต่ 50,000 – 12,000,000 บาท

และในปีนี้จึงเป็นปีที่ 2 ที่ได้เปิดให้สามารถยื่นขอทุนสนับสนุน โดยได้มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์หลายข้อ ไล่มาตั้งแต่วงเงินที่เพิ่มเป็น 400 ล้านบาท ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ก้อน ได้แก่ 1.ทุนแบบเปิดทั่วไป (Open Grant) มีวงเงิน 240 ล้านบาท และ 2.ทุนสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) มีวงเงิน 160 ล้านบาท

โดยผู้ที่จะยื่นกองทุนทั่วไปได้ปรับเกณฑ์ใหม่ได้แก่ ถ้าเป็นนักเรียนไม่จำเป็นต้องขอผ่านโรงเรียนแต่ให้ผู้ปกครองรับรองได้เลย, บุคคลต่างด้าวให้มีบุคคลเซ็นรับรองก็พอ และองค์กรนิติบุคคล ได้ยกเลิกเกณฑ์เดิมทิ้งไป ที่จำเป็นต้องก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีวัตถุประสงห์การก่อตั้งเพื่อทำสื่อที่สร้างสรรค์โดยเฉพาะ

ขณะเดียวกันเรื่องลิขสิทธิ์ จากเดิมกำหนดไว้ว่าลิขสิทธิ์เป็นของกองทุนทั้งหมด การจะนำไปเผยแพร่ต้องมาขออนุญาตก่อน แต่ในปีนี้ได้มีการปรับใหม่ จะเป็นลิขสิทธิ์ร่วมระหว่างผู้รับทุนกับกองทุนฯ 

ส่วนการนำไปการเผยแพร่ในเรื่องที่เป็นสาธารณประโยชน์ การศึกษา การกุศล ไม่ต้องมาขออนุญาต สามารถที่จะเผยแพร่ได้  แต่หากเป็นในเชิงพาณิชย์ ต้องมาขออนุญาตก่อน เพราะกองทุนฯจะเป็นผู้บริหารจัดการในเรื่องลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าเกิดรายได้จะต้องแบ่งฝ่ายละ 50%

ส่วนผู้ที่จะยื่นทุนสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ จะต้องเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจขององค์กร สอดคล้องกับกองทุนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่นเครือข่ายวิชาการ เครือข่ายทางวิชาชีพที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลหรือกำกับกันเอง เครือข่ายสื่อและเครือข่ายโฆษณา เป็นต้น

การให้ทุนแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1. การผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน 2. การผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชนโดยทั่วไป 3. การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม หรือต้นแบบเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  และ 4. การรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

งบส่วนใหญ่ 60% จะอยู่ในหมวดการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่วนอีก 30% การรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ที่เหลืออีก 10% เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า

โปรดอย่านึกถึงกองทุนเป็นตู้เอทีเอ็มหรือซานต้าคลอสที่จะมาแจกเงินอบ่างเดียว แต่จริงๆแล้วการทำให้คนไทยใช้สื่ออย่างสรรค์ และมีวิจารณญาณ ไม่ใช่ภารกิจขององทุนหน่อยงานเดียว แต่เป็นภารกิจของผู้ที่ทำงานในวงงานสื่อ ที่ต้องทำให้นิเวศการใช้สื่อของคนไทยเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และปลอดภัย

ผู้สนใจสามารถขอรับทุนได้ทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนจนถึงวันที่ 29 มิถุนายน เวลา 16.30น.

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online