Howard Schultz อดีต ซีอีโอ Starbucks จะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จริงหรือ ?

ระดับความสนใจของคำถามสั้นๆ แต่ตอบยากอย่าง “ทำอะไรต่อดี?” จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ใช้คำถามนี้กับตัวเองเป็นใคร โดยหากเป็นแค่พนักงานระดับล่างหรือระดับกลางก็เปล่าประโยชน์ในการติดตาม แต่ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงของแบรนด์ดังที่ใครๆก็รู้จัก สายตาของคนทั่วไปและสื่อส่วนใหญ่ต่างต้องจับจ้อง เพราะงานใหม่ของคนที่เคยมีตัว C เป็นตัวแรกของชื่อตำแหน่งบนนามบัตร อาจข้ามจากภาคเอกชนไปสู่การบริหารประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนหมู่มาก เหมือนที่ Howard Schultz อดีตประธานบริหาร (CEO) ของ Starbucks ถูกจับตามองอยูในขณะนี้

Schultz ได้ประกาศแล้วว่าจะสละเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารแบรนด์เครือร้านกาแฟดังในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ แม้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะ “ทำอะไรต่อดี” แต่มีสัญญาณมากมายบ่งชี้ว่าเขาฝันใหญ่ถึงการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

กำลังหลงกลิ่นการเมืองมากกว่ากลิ่นกาแฟ

ต้องมีองค์ประกอบและความพร้อมหลายอย่าง หากอยากเข้าสู่แวดวงการเมือง ยิ่งถ้าเป็นการข้ามขั้น เมินดาวเคราะห์เพื่อก้าวไปคว้าดวงอาทิตย์เลย อย่างการร่วมลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี หากไม่มั่นใจถึงระดับที่มีลุ้น เหล่าผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนคงไม่กล้าส่งสัญญาณออกมาให้เจ็บตัว

สำหรับ Schultz แสดงให้เห็นหลายครั้งผ่านการสัมภาษณ์ว่า หลงใหลกลิ่นการเมืองมากกว่ากลิ่นกาแฟ เช่นการกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ The New York Times หนังสือพิมพ์ชื่อดังว่า “ห่วงอนาคตประเทศมาก ทั้งเรื่องความแตกแยกในชาติและภาพลักษณ์บนเวทีโลก”

Starbucks Howard

ขณะที่ระหว่างให้สัมภาษณ์กับ CNN แม้ยังสงวนท่าทีเรื่องตำแหน่งที่สนใจ แต่ก็ระบุชัดว่าอยากทำงานการเมือง “ยังอยู่ระหว่างตัดสินว่าจะทำอะไรต่อจากนี้ ซึ่งงานเพื่อสังคมก็เป็นหนึ่งในนั้น”

ส่วนพรรคที่จะลงสมัครมีความเป็นสูงว่าคงเป็น Democrat เนื่องจากเคยประกาศตัวสนับสนุน Hillary Clinton ตัวแทนพรรคดังกล่าวเมื่อปี 2016 และบอกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการใส่ร้ายป้ายสีหรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยคำพูด อย่างที่ประธานธิบดี Donald Trump ใช้มาตั้งแต่ช่วงหาเสียง

แสดงวิสัยทัศน์ทางสังคมและการเมืองมาหลายครั้ง

Schultz วัย 64 ปี แทบจะเรียกว่าเป็น Mr.Starbucks ได้เลยเพราะหากไม่มีเขา แบรนด์เจ้าของ Logo เงือกขาวบนพื้นเขียว คงไม่สามารถขยายสาขาจากเพียง 11 แห่งเฉพาะในสหรัฐฯ เมื่อยุค 1980 เป็นกว่า 28,000 แห่งใน 77 ประเทศทั่วโลกได้อย่างทุกวันนี้ แต่ตลอดเกือบ 40 ปีของการทำงาน ผู้บริหารมากประสบการณ์รายนี้ก็พาองค์กรผ่านพ้นปัญหาทางสังคม-การเมืองในประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ในความดูแลมาได้หลายครั้ง

Starbucks Arrest

เช่นเมื่อไม่นานมานี้ได้ปิดสาขาในสหรัฐราว 8,000 แห่งในสหรัฐ เฉพาะช่วงบ่ายเพื่ออบรมพนักงานเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว หลังชายผิวดำสองคนถูกตำรวจควบคุมตัวไปเพียงเพราะเข้ามานั่งในร้านโดยไม่สั่งกาแฟเลย จนบานปลายเป็นการประท้วง

Starbuck Protest

ส่วนถ้าย้อนไปเมื่อปี 2017 Schultz ประกาศว่า 5 ปีต่อจากนี้พร้อมเปิดรับผู้อพยพ 10,000 คนมาเป็นพนักงานในร้าน สวนทางกับนโยบายปิดกั้นแรงงานต่างชาติของผู้นำสหรัฐ

จับตาดูรสกาแฟของ Starbucks ภายใต้ Barista ใหญ่คนใหม่

เมื่อเห็นว่าถึงเวลาเหมาะสม Schultz ซึ่งเคยนั่งเก้าอี้ CEO ของแบรนด์ดังแห่งนคร Seattle มาแล้ว 2 สมัย คือระหว่างปี 1987-2000 และ 2008-2017 คงบอกเองว่า จะเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างที่เปรยไว้หรือไม่ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไปในปี 2020

Starbucks Kevin Johnson

Kevin Johnson

ด้านแบรนด์เครือร้านกาแฟอายุเกือบ 50 ปีเอง แน่นอนว่าต้องเดินหน้าต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้บริหารของ Kevin Johnson ซึ่งวางแผนขยายสาขาเพิ่มเป็น 37,000 แห่งในปี 2021 ส่วนตำแหน่งประธานบอร์ดบริษัทของ Schultz ที่ว่างลงจะเป็นของ Myron Ullman อดีต CEO ของ JCPenney / cnn,wikipedia

Starbucks Cups

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online