GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. นับเป็นบริษัทที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคทั่วไปมาโดยตลอด

เพราะสิ่งของเครื่องใช้เกือบทุกอย่างในชีวิตประจำวันรอบตัวเราล้วนผลิตมาจากพลาสติกและเคมีภัณฑ์แทบทั้งนั้น

ปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า GC เป็นผู้ผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นทาง โดยการนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และผ่านกระบวนการเพื่อขึ้นรูปเป็นของใช้พลาสติกต่างๆ จำหน่ายให้กับผู้บริโภคปลายทาง  

ต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคปลายทางด้วย

ที่ผ่านมา GC ผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อให้ลูกค้านำไปผลิตสินค้าอย่างเดียว โดยไม่ได้ลงลึกไปรับรู้ข้อมูลถึงความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคที่ซื้อเอาไปใช้จริง

แต่ในวันที่โลกเปลี่ยนไป การแข่งขันรุนแรงมากขึ้นใครทำธุรกิจที่เข้าใจผู้บริโภคมากที่สุดคือผู้ชนะ วันนี้บทบาทของ GC จึงต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ตอบสนองเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความสุขในหลากหลายรูปแบบให้กับผู้คนในสังคม  ปฏิภาณกล่าวว่า

“การทำธุรกิจของ GC คงยังมุ่งเน้น B2B เหมือนเดิม แต่เราต้องเข้าใจความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของ “C” คือผู้บริโภคปลายทางด้วย เพราะถ้ายังทำเหมือนที่ผ่านๆ มาเราก็จะมีแต่เม็ดพลาสติกประเภทเดิมที่นำไปผลิตเป็นสินค้าทั่วไป เช่น ถุง ถัง กะละมัง หวี ในขณะเดียวกันความสามารถในการแข่งขันของ GCก็ลดลง ตลาดก็เล็กลงเรื่อยๆ ในขณะที่ซัปพลายกลับมีมากขึ้นต่อเนื่อง”   

ดังนั้น GCจำเป็นต้องพัฒนาเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น

แต่การที่จะพัฒนาเม็ดพลาสติกไปในแนวทางไหนนั้น GCจำเป็นต้องฟังเสียงผู้บริโภคมากขึ้น

Customer Solution Center ศูนย์ที่มีชีวิต

ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรแล้ว GCยังมองไกลไปยังการหา Solution ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางขนาดเล็ก รวมไปถึงสตาร์ทอัพ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจของตัวเองด้วย 

จึงเป็นที่มาของการเปิด “ศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์” หรือ Customer Solution Center (CSC) ที่ชั้น 1 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกจากความคิด ใส่นวัตกรรม สร้างสรรค์ ต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่เชิงพาณิชย์

เป็นการตอกย้ำว่า วันนี้ GC ไม่ได้ขายเพียงเม็ดพลาสติกเกรดธรรมดาๆ เพื่อทำผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ แต่ขยายโอกาสไปสู่การขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางออกใหม่ๆ ให้ลูกค้าเพิ่มเติมอีกด้วย

 

กลุ่มลูกค้าที่ GCโฟกัสและคาดหวังให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากศูนย์ CSC คือ

1. กลุ่มลูกค้าเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นคนรุ่นที่ 2

เป็นผู้ที่รับผิดชอบธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อแม่ และมีแนวความคิดใหม่ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าฉีกไปจากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

โดยศูนย์ CSC จะประสานการทำงานกับลูกค้า รับทราบความต้องการของลูกค้าว่าสนใจสินค้าแบบไหน รูปแบบเป็นอย่างไร แล้วจึงพัฒนาเม็ดพลาสติกประเภทต่างๆ ออกมาเพื่อให้ได้การขึ้นรูปที่สวยงามและได้ผิวสัมผัสอย่างที่ลูกค้าต้องการ  

หรือถ้าลูกค้าต้องการวัสดุอื่นๆ เช่น ยางมาเป็นส่วนประกอบด้วย GCจะจัดหาซัปพลายเออร์เรื่องยางและปรึกษาร่วมกันว่า แพ็กเกจจิ้งนี้จะใช้ยางได้ตรงส่วนไหนและจะนำยางกับพลาสติกเชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียวได้อย่างไร รวมทั้งการใช้เครื่อง  3D Printer พิมพ์ต้นแบบสินค้าเพื่อหาข้อผิดพลาดต่างๆ ก่อนการผลิตจริง

2. เอสเอ็มอี คนทั่วไปที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ รวมไปถึงดีไซเนอร์ต่างๆ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจจะต้องการคำปรึกษาและความรู้ใหม่ๆ หรือคนทั่วไปที่ต้องการทำธุรกิจ เช่น จะทำเครื่องสำอางแต่ไม่มีความรู้ในเรื่องแพ็กเกจจิ้งเลย ไม่รู้จะดีไซน์รูปแบบไหน จะใช้แบบหลอดบีบหรือใช้แบบเทดี ทีมที่ปรึกษาในศูนย์ฯ จะให้คำปรึกษาได้ รวมทั้งดีไซเนอร์ที่ต้องการสร้างสรรค์แนวคิดเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง และพัฒนาพลาสติกให้เหมาะสมกับทุกผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้น

3. คนทั่วไปที่สนใจและต้องการเข้ามาเรียนรู้ว่าพลาสติกทำอะไรได้บ้าง

“ศูนย์ CSC เปิดให้คนทั่วไปเดินเข้ามาดูได้ตลอดเวลา แค่เขามาดูว่าพลาสติกทำอะไรได้บ้างผมก็มีความสุขแล้ว นอกจากนี้ เรายังโชว์สินค้ารีไซเคิลที่ทำมาจากพลาสติกใช้แล้วหรือขยะพลาสติกมาแปรรูปทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น คนเข้ามาเห็นก็ทึ่ง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับพวกเขาได้อีก”

เป้าหมายในระยะแรกคือต้องการให้คนเข้ามาใช้บริการให้มากที่สุด โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงคนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 100 กิจกรรม เช่น การจัดอบรมเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องพลาสติกขั้นพื้นฐาน หลักสูตรทางด้านการดีไซน์ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้นอกจากทำให้ศูนย์นี้มีชีวิตและน่าสนใจมากขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม

 ปฏิภาณย้ำว่า การทำศูนย์นี้จะทำให้ GCได้ลงมาทำงานกับคู่ค้าและสัมผัสกับความต้องการลูกค้าปลายทางมากขึ้น สร้างความเข้าใจร่วมกันในการพัฒนาเม็ดพลาสติกคุณภาพใหม่ๆ

นอกจากศูนย์ CSC แล้ว GCยังมีศูนย์เล็กๆ ที่สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้ประกอบการอีก 2 แห่งคือ ศูนย์ต้นคูณภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ของกระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์ KX-Knowledge Exchange ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีแนวคิดขยายการสร้างศูนย์แบบนี้ไปทั่วประเทศในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก รวมถึงคนรุ่นใหม่ได้พิจารณาในการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่า แข่งขันได้ และเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เติบโต

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเกิดความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค ตลอดจนการเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ ชุมชน และสังคม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตขององค์กรเพื่อก้าวไปสู่ เคมีที่เข้าถึงทุกความสุข หรือ Chemistry for Better Living ในระดับประเทศและสากล

สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่าง

“ถ้าเราอยู่เฉยๆ ทำเหมือนเดิม ความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ในอนาคตเราอาจจะต้องเจอกับคู่แข่งอีกมากมาย วันนี้เราได้ขยายโอกาสทางธุรกิจ จากการพัฒนาเฉพาะเม็ดพลาสติกสำหรับแพ็กเกจจิ้งไปสู่แพลตฟอร์มของหลายๆ ธุรกิจ เช่น เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ โดยรถยนต์ก็จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก เช่น ถังน้ำมัน แผงหน้ารถ รวมไปทั้งแพลตฟอร์มของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงประสิทธิภาพของเม็ดพลาสติกที่จะไปรองรับธุรกิจดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น”

ปฏิภาณกล่าวอีกว่า นอกจากการมองหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจแล้ว GCยังมุ่งเน้นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ริเริ่มโครงการ Upcycling Plastic Waste ด้วยนวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก เพื่อการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่าและยาวนาน

รวมทั้งองค์กรเองได้ให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนาเคมีภัณฑ์ที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลอดภัย อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้สมบูรณ์ และเข้าถึงความสุขได้มากขึ้นด้วย

“ถ้าเข้าไป ในศูนย์ CSC จะเข้าใจ ในเรื่องของพลาสติก และการทำงานของ GCมากขึ้น”ผู้บริหารกล่าวย้ำทิ้งท้าย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

                                                                                                                                               



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online