“แม้ว่าธุรกิจคอนเทนต์สตรีมมิ่งจะแรงแค่ไหน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”

คำยืนยันจาก วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) พร้อมข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน

เชื่อพฤติกรรมคนดูหนังยังไม่เปลี่ยน

แม้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมโรงหนังจะค่อยๆ โรยราหรือไม่ งานนี้ “เจ้าพ่อโรงหนังเมืองไทย” บอกว่า “ไม่” พร้อมกางตัวเลขรายได้ตลาดภาพยนตร์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดามาให้เราดู

โดยในปี 2018 ตลาดหนังพี่ใหญ่อย่างเมืองมะกันทำรายได้จากการฉายหนังในโรงภาพยนตร์มากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้นกว่าปี 2017 ถึง 10% ซึ่งเติบโตติดต่อกันถึง 4 ปีแล้ว ส่วนตลาดโรงหนังในจีนก็เช่นกันโตปีละ 10-20%

เหตุผลสำคัญ เขามองว่าเทคโนโลยีเปลี่ยน แต่พฤติกรรมคนยังชื่นชอบการดูหนังในโรงไม่เปลี่ยน ทั้งอรรถรส ภาพ แสง สี เสียง บรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะถ้ามีคอนเทนต์ที่ถูกจริต โดนใจ ซึ่งถ้าดูจากรายได้ของภาพยนตร์ที่ออกฉายระหว่างไตรมาสที่ 3 ของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ แต่ในปี 2018 กลับมีภาพยนตร์ที่ทำรายได้อย่างโดดเด่น เช่น Black Panther แบล็ค แพนเธอร์, Venom เวน่อม, A Star Is Born อะ สตาร์ อีส บอร์น และอื่นๆ อีกมากมาย ดันให้ตัวเลขตลาดอเมริกาเติบโตดังกล่าว

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)

 

ทั้งนี้นักวิจัยหลายๆ สำนักคาดรายได้สิ้นปี 2018 ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาจะอยู่ที่ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากทั่วโลกจะสูงกว่า 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย

“หลายๆ คนอาจมองว่าธุรกิจภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์จะได้รับผลกระทบจาก ดิจิตอล ดิสรัปชั่น ออนไลน์สตรีมมิ่ง จะเข้ามาแทนที่ แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้จะไม่กระทบ เพราะจากตัวเลขผลประกอบการในตลาดโลกกลับไม่แสดงให้เห็นอย่างนั้น”

“คนยังคงชื่นชอบการดูหนังในโรงไม่เปลี่ยน ตรงนี้ล่ะที่สำคัญที่สุด คำถามคือหนังวันนี้หนังตอบโจทย์เขาหรือไม่ โรงหนังตอบโจทย์เขาหรือไม่ ผมมั่นใจว่าวันนี้เราเดินมาถูกทาง ในการที่จะพัฒนาโรงหนังและคอนเทนต์หนังที่ทำให้ผู้บริโภคคุ้มค่าที่จะใช้เวลาในโรงหนังมากกว่า”

 

เปลี่ยน Digital Disruption ให้เป็นโอกาส

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มองเห็นถึงภาพอนาคตของภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ว่าเป็นอย่างไร ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ล้ำสมัยเข้ามาให้บริการแก่ลูกค้าได้สัมผัสก่อนใครเป็นแห่งแรกเสมอ

ย้อนไปตั้งแต่เกือบ 20 ปี ที่เป็นเจ้าแรกนำโรงภาพยนตร์ระบบ 3D, IMAX หรือช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่นำโรงภาพยนตร์ 4DX, Screen X, ทั้งยังมีโรงหนังสำหรับเด็กโดยเฉพาะ และล่าสุดเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ Esports แห่งแรกในโลก ซึ่งโรงภาพยนตร์ระบบต่างๆ ได้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่ชื่นชอบดิจิทัลและความทันสมัยของเทคโนโลยีที่หาไม่ได้จากช่องทางอื่นๆ

พูดง่ายๆ ว่าการเข้าถึงผู้บริโภคและนำเทคโนโลยีมาใช้เป็น “ของถนัด” ของวิชาและเมเจอร์มาแต่ไหนแต่ไร เมื่อไม่ได้มองว่าเป็นผลกระทบ แน่นอนเขามองว่า Digital Disruption ก็ควรมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเมเจอร์ Convenience ให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น รู้ว่าลูกค้าชอบอะไร และสนใจอะไร

“เราได้ปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าการเลือกภาพยนตร์ที่เรานำเสนออย่าง Movie On Demand ให้ลูกค้าเลือกเวลาชมภาพยนตร์ และภาพยนตร์ที่ต้องการได้เอง โดยเป็น Your Time มากกว่า Showtime ซึ่งเหล่านี้จะเป็น Movie Experience การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ที่ให้ความรู้สึกและอรรถรสที่แตกต่างจากการชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งจากภาพ เสียง และบรรยากาศที่แตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างแท้จริง

และเร็วๆ นี้ เมเจอร์จะเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ที่จะตอบโจทย์คนรักหนังมากขึ้น แม้จะยังไม่เผยรายละเอียดว่ามีฟีเจอร์ใดบ้าง แต่เชื่อว่าจะแอปนี้จะมีเรื่องการใช้บิ๊กดาต้าที่ประมวลไลฟ์สไตล์รสนิยมของผู้บริโภค ทำให้เมเจอร์ Close Friend หรือ Buddy กับลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลามากขึ้น

 

เจาะตลาดภูธร ดันหนังไทย คือความท้าทายที่แท้จริง

ในแง่การแข่งขันต้องบอกว่า ผู้นำเบอร์หนึ่งอย่างเครือเมเจอร์ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างชัดเจน ไม่ว่ากรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งถ้าเทียบกับเบอร์สองอย่าง เอสเอฟแล้ว ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 70 ต่อ 30%

การแข่งขันกับคู่แข่งจึงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ความท้าทายของวิชาและเมเจอร์ตอนนี้คือ ทำอย่างไรที่จะดันให้อุตสาหกรรมหนังไทยเติบโตเหมือนดังยุคทองในอดีตช่วง 30-40 ปีก่อน

“อย่างที่เราทราบกันว่าอุตสาหกรรมหนังไทยพัฒนาสู้ต่างประเทศไม่ได้ ส่วนแบ่งหนังในประเทศกับหนังต่างประเทศของไทย ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเชียทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ต้องบอกว่าน้อยมาก บ้านเราหนังไทย 25% แต่คนอื่น 60-70% ปีๆ หนึ่งเขาทำหนังท้องถิ่นจำนวนมาก อย่างจีน 1,000 เรื่อง เกาหลีใต้ 200 เรื่อง ส่วนไทยปีนี้มีเพียง 43 เรื่องเท่านั้น ลดน้อยลงกว่าอดีตที่เคยมีถึงปีละ 100 เรื่อง ”

เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดและมีหลายปัจจัย หนังหลายเรื่องที่โปรโมตดี ตัวหนังดี ก็ประสบความสำเร็จ แต่หลายเรื่อง หนังดีแต่โปรโมตไม่ดี ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แน่นอนคนทำหนังทุกคนก็อยากได้เวลาฉายนานขึ้น แต่ถ้าการตอบรับไม่ดี โรงหนังเองก็ต้องบริหารจัดการอันนี้เป็นปกติของธุรกิจ สำหรับมุมมองของวิชา ทางออกอย่างยั่งยืนที่ win-win ทุกคน มีอยู่ 2 ข้อ หนึ่งคือคนทำหนังต้องโฟกัสกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ทำหนังดีที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภค สองในส่วนผู้ประกอบการโรงหนัง ต้องขยายโรงหนังให้เข้าไปถึงทั่วทุกชุมชนต่างจังหวัด

“ผมยกตัวอย่าง ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก” เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นหนังที่โฟกัสคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท หรือ นาคี 2 เก็บรายได้ 450 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็มาจากต่างจังหวัดทั้งนั้น”

เมื่อมีหนังที่โฟกัสคนต่างจังหวัดมากขึ้น ดังนั้นกุญแจความสำเร็จจึงอยู่ที่ข้อสอง นั่นคือการขยายโรงไปต่างจังหวัด แยกย่อยให้ครบทุกชุมชน เพื่อให้คนเข้าถึงหนังได้ ซึ่งนี่คือเป้าหมายที่ทำมาตลอด และจะรุกหนักมากขึ้นในปี 2019 โดยเมเจอร์วางงบ 800 ล้านบาท สร้างโรงหนังในเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ที่เจาะเข้าไปในตำบล อำเภอมากขึ้น

“ผมเชื่อว่าการที่เรามีโรงหนังและหนังที่เจาะตลาดคนต่างจังหวัดมากขึ้น จะช่วยให้เราได้เห็นหนังไทยสัดส่วนเพิ่มขึ้น 35-40% ในปีหน้า และขยับเป็น 50% ในปี 2020 เมเจอร์เราคาดว่าจะมีทั้งหมด 1,000 จอด้วยกัน ผมเชื่อว่าถ้าเดินทางนี้ อุตสาหกรรมก็จะพัฒนาไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีจำนวนโรงภาพยนตร์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ มาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีกว่า 67.7 ล้านคน เช่น จีน ที่เป็นผู้นำมีจำนวนโรงหนังมากที่สุดในโลกกว่า 51,000 โรง, อินเดีย มีกว่า 11,000 โรง, ญี่ปุ่น มีกว่า 3,000 โรง, เกาหลีใต้ มีกว่า 2,000 โรง ซึ่งในปี 2562 เมเจอร์มีแผนที่จะขยายตลาดสร้างโรงภาพยนตร์เพิ่ม 74 โรง ซึ่งตั้งเป้าให้ครบ 1,000 โรง ภายในปี 2563

ทั้งนี้ แผนการขยายสาขาได้สอดรับกับภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในปี 2562 มีจำนวนเรื่องรวมประมาณ 320 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ 270 เรื่อง คาดว่าเป็นภาพยนตร์ที่จะทำเงิน อาทิ Avengers 4, Captain Marvel, Spider Man: Far From Home, Hobbs and Shaw, Aladdin และเป็นภาพยนตร์ไทย 50 เรื่อง ซึ่งใน 50 เรื่องนั้นเป็นภาพยนตร์ไทยของค่ายเอ็ม พิคเจอร์ส ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป 23 เรื่อง



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online