Fuji กับ ZEN ใครใหญ่กว่ากัน ? วิเคราะห์ 2 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจุดเริ่มคล้ายกัน กับทางเดินที่แตกต่าง

หากพูดถึงภัตตาคารร้านอาหารญี่ปุ่นที่อยู่ในห้างที่คนไทยรู้จักกันดีก็คงหนีไม่พ้น Fuji กับ ZEN

และมักจะมีการเปรียบเทียบกันอยู่บ่อยครั้งว่าร้านไหนอร่อยกว่ากัน? 

แต่ความจริงแล้ว 2 ร้านนี้หากย้อนอดีตกลับไป 30 ปี มีความเกี่ยวข้องกันอย่างน่าสนใจ

เพราะเจ้าของร้าน ZEN อย่าง “สุทธิเดช จิราธิวัฒน์” เคยเป็นหุ้นส่วนใหญ่ร้าน Fuji ในช่วงบุกเบิกมาก่อน จากนั้นเมื่อเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยมีอนาคต ก็เลยเลือกที่จะมาเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN

จากเพื่อนทางธุรกิจกลายเป็นคู่แข่งในชั่วข้ามคืน 

โดย ณ เวลานั้น “สุทธิเดช จิราธิวัฒน์” เจ้าของร้าน ZEN เองก็มีมุมมองการทำธุรกิจเหมือนกับร้าน Fuji คือร้านอาหารญี่ปุ่นยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงแรมหรูและย่านสุขุมวิท

จากนั้น ZEN และ Fuji ก็เลือกจะเปิดเกมช่วงชิงลูกค้าในสมรภูมิศูนย์การค้าและโลเคชั่นที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง แถมรูปแบบร้านและเมนูอาหารยังมีความใกล้เคียงกัน

แต่เวลานี้ ZEN กำลังคิดต่างและเลือกจะเติบโตมากขึ้นด้วยการเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ Fuji ยังยึดกับคำว่า Make Sure

ZEN ถึงเวลาใช้นามสกุล “มหาชน” 

จริงๆ แล้ว ZEN ไม่ได้คิดปุ๊บแล้วเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ปั๊บ แต่แผนนี้ถูกวางไว้ตั้งแต่ปี 2014 ที่ ZEN พยายามปรับแบรนด์ร้านอาหารในมือของตัวเอง ทั้ง ZEN ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น, AKA ร้านปิ้งย่าง, และร้าน On The Table ให้แข็งแรงและมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงการขยายสาขา

ต่อมาในช่วงปี 2016-2017 กลุ่ม ZEN เลือกจะใช้เงินลงทุนมหาศาลเกือบ 300 ล้านบาท ในการซื้อกิจการ 2 แบรนด์ร้านอาหารมาอยู่ในมือตัวเอง

บริษัท เครซี่ สไปร์ซี่ กรุ๊ป จำกัด ที่นอกจากมีแบรนด์ชื่อดังอย่าง ตำมั่ว แล้วนั้น ยังมีแบรนด์ร้าน เฝอ, ลาวญวน และ ข้าวมันไก่คุณย่า

จากนั้น ZEN ก็เข้าซื้อกิจการบริษัท ซี. แอนเน็กซ์ จํากัด ที่มีแบรนด์ Sushi Cyu & Carnival Yakiniku และ Sushi Cyu และ Carnival Yakiniku

รวมไปถึงเปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ จนเวลานี้ ZEN มี 12 แบรนด์ 255 สาขาอยู่ในมือ

ทำให้ปัจจุบันถึงแม้แบรนด์ร้านอาหารหลักอย่าง ZEN จะมีจำนวน 43 สาขา ซึ่งน้อยกว่า Fuji ที่มี 105 สาขา แต่หากมองภาพรวมธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดที่ ZEN มีอยู่ในมือจะมีจำนวนสาขามากกว่า Fuji 

และการมีร้านอาหารที่เยอะจนล้นมือนี้เองที่ทำให้ ZEN ต้องเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนให้อาณาจักร ZEN ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งกว่าที่เป็นอยู่ โดยเป้าหมายหลักๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากบริษัท ที่เลือกอัพเกรดมาใช้นามสกุล “มหาชน” ก็คือ

1. ขยายสาขาและปรับปรุงร้าน  2. คืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์  3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและสุดท้ายคือการซื้อกิจการร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ 

โดย ZEN เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จํานวน 75 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 13 บาท

พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2024 กลุ่มบริษัท ZEN จะมีรายได้เกิน 10,000 ล้านบาท

เป็นเป้าหมายที่ยากและท้าทาย ที่มาพร้อมแผนทำธุรกิจเชิงรุกร้อนแรง ซึ่งช่างเป็นอะไรที่แตกต่างจากแนวคิดเดิมในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของ ZEN ที่ว่า “เรียบ ง่าย เข้าถึงง่าย แต่ใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ”

Fuji ผู้ขอเติบโตด้วยเงินตัวเอง

ซึ่งแตกต่างจาก “คู่แข่ง” อย่าง Fuji แม้จะไม่ได้หยุดนิ่งเพราะนอกจากขยายสาขาแบรนด์ร้านอาหารที่สร้างรายได้หลักอย่าง Fuji จนมีถึง 105 สาขาแล้วนั้น ก็ยังมีร้าน Sushi Tsukiji บนถนนสีลมอีก 1 สาขา

รวมไปถึงการซื้อแฟรนไชส์ร้าน “โค โค่ อิชิ บัน ยะ” ข้าวหน้าแกงกะหรี่ชื่อดังจากญี่ปุ่น ที่ตอนนี้มีประมาณ 25 สาขา รวมไปถึงการเปิดร้านอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น

“คุณพ่อซึ่งเป็นท่านประธานบริษัทบอกว่า ในเมื่อเราเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยได้สำเร็จ เราก็น่าจะสามารถเปิดร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นได้เหมือนกัน” รวิวัลย์ ทานาก้า ผู้บริหาร บริษัท ฟูจิ กรุ๊ป จำกัด เคยให้สัมภาษณ์กับ Marketeer

ร้านอาหารไทย Premium ในญี่ปุ่นที่ชื่อ Bangkok Kitchen จึงเกิดขึ้น และปัจจุบันมี 5 สาขา รวมไปถึงการขยายไปสู่ธุรกิจโรงแรมอีก 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น

จะเห็นว่ากลุ่ม Fuji เองก็ไม่ได้หยุดนิ่งแค่แบรนด์หลักของตัวเอง แต่ยังขยายเพิ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทอื่นๆ ในเมืองไทย รวมไปถึงการทำธุรกิจร้านอาหารไทยและธุรกิจโรงแรมในประเทศญี่ปุ่น

“พวกเราฝันไว้ว่าอยากขยายสาขาไปทั่วโลก ทำให้ร้านฟูจิเป็นที่รู้จักระดับอินเตอร์”

แต่…การลงทุนทุกอย่างต้องรู้สึก Make Sure จริงๆ ถึงจะทำ เป็นคำพูดที่ “รวิวัลย์ ทานาก้า” เคยย้ำกับ Marketeer เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ถ้อยคำแถลงในเว็บไซต์ของบริษัท Fuji ที่บอกถึงวิสัยทัศน์การลงทุนในธุรกิจที่ชัดเจนว่า

“เราเน้นเรื่องการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่าระบบเงินหมุนเวียนของบริษัทราบรื่นเสมอ นโยบายของฟูจิ กรุ๊ป คือ ไม่กู้เงินจากธนาคารเพื่อมาใช้ในการลงทุน เราเลือกใช้วิธีขยายกิจการอย่างต่อเนื่องด้วยเงินทุนของตัวเอง แต่ต้องมั่นคง”

“จุดยืน” ที่ต้องการเติบโตด้วยตัวเองอาจเป็นเหตุผลที่ “Fuji Group” แม้จะมีอายุ 20 ปีนับตั้งแต่เปิดสาขาแรกที่ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” และขยายธุรกิจไปหลากหลาย เลือกจะไม่เปลี่ยนนามสกุลมาเป็น “มหาชน”

ไม่มีใครบอกได้ว่าในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ ZEN และแนวทางการเติบโตของ Fuji ด้วยการใช้เงินลงทุนของตัวเองทั้งหมด อันไหนเป็นทางเลือกที่ “ถูก” อันไหนเป็นทางเลือกที่ “ผิด”

เพราะทุกบริษัทต่างก็มี “จุดยืน” และแนวคิดที่แตกต่างกัน แม้จุดเริ่มต้นธุรกิจจะมีความใกล้เคียงกันก็ตามที

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน