ธนชาต เป็นมากกว่าธนาคาร : ทำความรู้จักกลุ่มธนชาต องค์กรนี้ใหญ่กว่าที่หลายคนคิด
ข่าวใหญ่ในวงการการเงินเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือดีลการควบรวม “ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK)”
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสถานะการเงิน (due diligence) และเตรียมเจรจาตกลงเกี่ยวกับสัญญาหลัก
ทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จในปีนี้
หลังจากนั้น ธนาคารใหม่ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อนี้จะก้าวสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ มีสินทรัพย์รวมราว 1.9 ล้านล้านบาท มีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน มีพนักงานรวมกันประมาณ 20,000 คน มีสาขารวมกัน 914 สาขา
จุดแข็งของธนาคารทหารไทยที่มีกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่แตกต่างจากการธนาคารทั่วไป เมื่อผนึกรวมกับธนชาตที่โดดเด่นในด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ จะทำให้แบงก์ใหม่นี้เข้มแข็งขึ้น ขนาดทุนที่มากขึ้นจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ดีและใหญ่กว่าเดิมด้วย
รวมทั้งมีโอกาสก้าวไปติด Top 5 ได้อีกด้วย
ธนชาต ไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร
ธนาคาร ธนชาต เดิมเป็นสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจในชื่อ บริษัทเงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ที่สามารถลอดพ้นวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 มาได้ โดยขอจัดตั้งเป็นธนาคารธนชาติเมื่อปี 2547
ปี 2553 เข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ก่อนเข้าควบรวมกิจการธนาคารธนชาต ในปี 2561 ก็มีขนาดของสินทรัพย์เป็นอันดับที่ 6 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่แล้ว คือ มีสินทรัพย์รวม 1,060,929,17 ล้านบาท มีรายได้ 43,239 บาท กำไร 14,703 บาท
ธนาคารธนชาติยังเป็นบริษัทหนึ่งที่มีโครงสร้างอยู่ภายใต้บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทในกลุ่มธนชาตแบ่งประเภทการประกอบธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม 1) ธุรกิจทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน ธุรกิจให้เช่าซื้อ และธุรกิจลีสซิ่ง
2) ธุรกิจสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจบริการ และธุรกิจการพัฒนาฝึกอบรม
บริษัทในกลุ่มธนชาติคือ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) หลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต จำกัด ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธนชาตประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ราชธานีลิสซึ่ง จำกัด (มหาชน) และ เอ็ม บี เค ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 สินทรัพย์รวมของกลุ่มธนชาตมีจำนวน 1,060,929 ล้านบาท มีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมในปี 2561 จำนวน 15,806 ล้าน
เมื่อเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่ากลุ่มธนชาตคือผู้ถือหุ้นในบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) 19.9% ในขณะที่ในกลุ่มธนชาติก็มี MBK ถือหุ้นประมาณ 11%
MBK เป็นกลุ่มที่มีธุรกิจหลักมากมาย เช่น ศูนย์การค้า, ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์, โรงแรม, สนามกอล์ฟ, บริษัทอสังหาริมทรัพย์, ข้าวมาบุญครอง, อาหารญี่ปุ่น, ไฟแนนซ์ และประกันชีวิต
ในปีที่ผ่านมาธุรกิจในกลุ่มโรงแรมของ MBK ทำรายได้ดีมากและกำลังวางแผนขยายในเรื่องธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง
โดยผลประกอบการของ MBK ในปีที่ผ่านมา มีสินทรัพย์รวม 49,095 ล้านบาท รายได้ 12,692 ล้าน กำไร 2,881 ล้าน
ส่วนในบริษัท MBK มีบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 27.98% และกลุ่มธนชาตถืออีกประมาณ 20%
ทั้ง ธนชาต และ MBK ถือหุ้นกันไปมาโดยมีชื่อ บันเทิง ตันติวิท เป็นประธานกรรมการบริษัททั้ง 2 บริษัท
แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นและหลายคนคงไม่รู้ว่า MBK ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสยามพิวรรธน์ถึง 47.97%
สยามพิวรรธน์เป็นบริษัทที่กำลังมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบัน และชื่อเสียงยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะเป็นเจ้าของศูนย์การค้าชื่อดังในทำเลทองของกรุงเทพฯ หลายแห่งคือ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี สยามพารากอน และไอคอนสยาม
ล่าสุด กำลังทำโครงการ สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต แบงค็อก ร่วมทุนกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ไซมอน จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์การค้าลักชูรี พรีเมียม เอาท์เล็ต จำนวน 3 แห่ง โดยแห่งแรกที่กำลังทำการก่อสร้างตั้งอยู่บริเวณใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมินั้น มีพื้นที่อาคารรวมทั้งหมด (GFA) ประมาณ 50,000 ตารางเมตร
สยามพิวรรธน์สร้างยอดรายได้รวมในปี 2561 ที่ผ่านมาถึง 25,500 ล้านบาท โดยชฎาทิพ จูตระกูล CEO ยังประกาศเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะโตแบบ Double Growth หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท
วันนี้ธนาคารธนชาติกำลังก้าวกระโดดด้วยแผนการควบรวมธนาคาร MBK กำลังบุกธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้า ส่วนสยามพิวรรธน์ตั้งเป้าการโตแบบ Double Growth ด้วยอภิมหาโครงการ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต แบงค็อก
การเติบโตของกลุ่มธนชาติพร้อมๆ กับพันธมิตรที่มีธุรกิจหลากหลายนี้ จึงน่าสนใจอย่างมากๆ
- ที่มาตลาดหลักทรัพย์
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



