จากข้อมูลของ ETDA พบว่า คนไทยใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากกว่า 10 ชั่วโมง เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ใช้เวลาอยู่บนอินเทอร์เน็ตเพียง 6 ชั่วโมง เท่านั้น
โดย Gen Y และ Gen Z ใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากสุด
ในงานสัมมนา Marketeer Forum #16 เรื่อง e-Commerce is Now ที่ Marketeer Magazine และ Marketeer Online จัดขึ้น ในวันที่ 30 พฤษภาคม ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย
จิตใส เก่งสาริกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้แชร์ข้อมูลมูลค่าอีคอมเมิร์ซให้ผู้ร่วมสัมมนาฟังว่า
วันนี้คนไทยมีเบอร์มือถือทั้งสิ้น 124 ล้านเบอร์ มีมูลค่าอีเปย์เมนต์ 795 ล้านล้านบาท มูลค่าอีคอมเมิร์ซรวม B2C B2B และ B2G มีมูลค่าร่วมกันมากถึง 3.15 ล้านล้านบาท เติบโต 14.04% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
และการซื้อขายแบบ B2C มีมูลค่า 865 แสนล้านบาท และการซื้อขายผ่าน B2C ในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นทุกปี จนประเทศไทยมีมูลค่าเป็นหนึ่งในอาเซียน แซงหน้าสิงคโปร์
ซึ่งการเติบโตของการซื้อขายผ่าน B2C มาจากการส่งเสริม cashless society จากธนาคารแห่งประเทศไทย
โตขึ้นทุกปี บีทูซี เป็นที่หนี่งในอาเซียนแซงหน้าสิงคโปร์
การเติบโตบีทูซีมาจากการส่งเสริม cashless society
และจากข้อมูลของ ETDA จะพบว่า คนไทยใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยช้อปปิ้งออนไลน์ ได้กลายเป็นกิจกรรมที่ติด 1 ใน 5 ที่ชาวเน็ตให้ความสนใจมากถึง 2 ปีซ้อน
ธนาวัฒน์ มาลาบุพผา ประธานเจ้าหน้าที่บริการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ให้ข้อมูลในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า การช้อปออนไลน์แม้จะดูว่ามีมูลค่าที่สูง แต่ความจริงแล้วมีสัดส่วนเพียง 2-3% ของมูลค่าค้าปลีกไทยเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ยกเว้นจีน ที่มีสัดส่วนมูลค่าการช้อปออนไลน์มากถึง 20% ของค้าปลีกทั้งหมด
การที่อีคอมเมิร์ซในไทยมีสัดส่วนที่ยังไม่มากนัก ทำให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ยกเว้นจีน) ได้กลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนต่างชาติต่างให้ความสนใจมาลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย
แต่ที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ได้มีความแตกต่างจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซประเทศอื่นๆ คือ คนไทยนิยมช้อปออนไลน์ผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ จำนวนมากถึง 40% จากมูลค่าอีคอมเมิร์ซที่เป็นค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก
และธนาวัฒน์ยังให้ข้อมูลอีกว่าการซื้อขายออนไลน์ไม่ใช่ราคาถูกที่สุดจะขายดีเสมอไป เพราะ อินไซด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้เลือกสินค้าเพราะราคาถูกสุดเสมอไป เพราะเมื่อผู้บริโภคเจอสินค้าที่มีราคาถูกจะเกิดคำถามในใจว่า สินค้าที่นำมาขายเป็นของแท้หรือไม่ และเมื่อตัดสินใจซื้อจะมีสินค้าส่งมาถึงมือจริงหรือเปล่า หรือจะโดนร้านค้าหลอกเอาเงินไปฟรีๆ
แต่อย่างไรก็ดี การซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยไม่ใช่ว่าจะเป็นการสนับสนุนธุรกิจไทยทั้งหมด เพราะ 8 ใน 10 ของสินค้าที่คนไทยซื้อผ่านออนไลน์มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน
สำหรับความเสี่ยงในการซื้อขายออนไลน์ จิตใสได้บอกกับเราว่า คนไทยรับความเสี่ยงได้มาก เห็นการไลฟ์สด โพสต์ขายบนโซเชียลก็ซื้อและโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง ซึ่งถ้าเกิดการโกงขึ้นมา จะไม่สามารถดึงเงินที่ชำระไปกลับมาได้ ซึ่งต่างจากการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของแบรนด์หรืออีมาร์เก็ตเพลส
ทั้งนี้ ในวันนี้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ คือโอกาสของไทยในการเข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลก
แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจนี้ก็จะมีคู่แข่งจากทั่วโลกเช่นกัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



