มูลค่าตลาดธุรกิจอาหารกว่า 4 แสนล้านบาท

เติบโตเฉลี่ยปีละ 4-5%

น่าสนใจคือกลุ่มอาหารประเภทสตรีทฟู้ด ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 3 แสนล้านบาท

ที่ยังไม่เห็นเครือร้านอาหารเครือไหนนอกจากกลุ่ม ZEN หรือ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ลุยอาหารสตรีทฟู้ดอย่างจริงจัง

ด้วยการส่ง “เขียง” ร้านอาหารตามสั่งจับกลุ่มตลาด Mass ด้วยทำเลในปั๊มน้ำมัน ปตท. หลังจากที่เครือ ZEN ทำธุรกิจอาหารแบบ Full Service ระดับพรีเมียมมาตลอด 28 ปี

ครึ่งปีหลังเน้นเปิดแฟรนไชส์-มั่นใจรายได้รวมโต 15-20%

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลังนี้ ZEN จะขยายสาขาร้านอาหารอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้โมเดลธุรกิจแบบลงทุนเปิดร้านอาหารเองและการขยายธุรกิจแฟรนไชส์

โดยมั่นใจรายได้ในปีนี้จะโตตามเป้าหมายที่วางไว้ 15-20% จากปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 2,964.7 ล้านบาท

แบ่งเป็น รายได้จากการขายและบริการ 2,852.6 ล้าน  (96.2%)

รายได้จากการให้สิทธิแฟรนไชส์ 69.6 ล้านบาท (2.3%)

และรายได้จากอื่นๆ 42.5 ล้านบาท (1.4%)

มีกำไรสุทธิที่ 140.2 ล้านบาท

บุญยงกล่าวต่อว่า สำหรับร้านอาหารในเครือเซ็นปีที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศมีสาขารวม 255 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่กลุ่มเป็นเจ้าของเอง 110 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 145 สาขา

ปีนี้ตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 123 สาขา รวมสิ้นปี’62  จะมีทั้งหมด 378 สาขา โดยในไตรมาส 1 เปิดไปแล้ว 8 สาขา ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะเปิดอีก 23 สาขา

ใช้โมเดล ”แฟรนไชส์” ปั้น “เขียง” เบอร์ 1 ร้านอาหารสตรีทฟู้ด

บุญยงกล่าวต่อว่า หลังจากเปิดตัวน้องใหม่อย่าง “เขียง” ร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ด ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ 12 ในเครือฯ สาขาแรกที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เจษฏาบดินทร์ จ.นนทบุรี เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา และสาขาอื่นๆ ตามมา ถือว่าสาขาส่วนใหญ่สามารถทำยอดขายต่อเดือนสูงกว่าเป้าหมาย

มีรายได้เฉลี่ยต่อสาขาที่ 4-4.5 แสนบาท ซึ่งตัวเลขรายได้นี้น่าสนใจของร้านเขียงมาจากการซื้อแบบ take away และ delivery ถึง 10-20%

Marketeer มองว่าสิ่งที่ทำให้ร้านอาหารน้องใหม่อย่าง “เขียง” ประสบความสำเร็จ คือเรื่องของราคาที่จับต้องได้ และเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม เพราะราคาอาหารในร้านเริ่มต้นที่ราคา 50-150 บาท โดยผู้บริโภคที่มาใช้บริการมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ 120-150 บาท

ล่าสุด จับมือเป็นพันธมิตรกับ ปตท. ที่มีปั๊มน้ำมันกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ ปตท. ให้การสนับสนุนพื้นที่เช่าภายใน PTT Station เพื่อเปิดร้านอาหาร ปัจจุบันมีพื้นที่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพร้อมรองรับการขยายสาขาในครึ่งปีหลังแล้วกว่า 70 แห่ง

โดยจะใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ในการขยายสาขาทั่วประเทศ รวมถึงขยายการให้บริการจัดเลี้ยง และบริการเดลิเวอรี่ ปัจจุบันร้านเขียงมีทั้งหมด 9 สาขา และในเดือน มิ.ย. เตรียมเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา รวมในไตรมาส 2 จะมีร้านเขียงทั้งหมด 17 สาขา

ชู 5 โมเดล “เขียง” รุกทุกเซกเมนต์

นอกจากจะรุกตามสถานีบริการน้ำมัน เพื่อจับลูกค้าทุกกลุ่มแล้ว บุญยงระบุต่อว่า ร้าน ’เขียง’ จะมีทั้งหมด 5 โมเดลคือ

1. Normal

– Stand Alone

– สถานีบริการน้ำมัน

– Community Mall

2. Double เป็นโมเดลใหม่ เขียง x ตำมั่ว 3. Delco ขายส่งแบบเดลิเวอรี่อย่างเดียว ไม่มีหน้าร้านให้นั่ง 4. Food Court ในห้างสรรพสินค้า 5. Metro Mall ซึ่งจะเปิดสาขาแรกที่สถานีเพชรบุรี ในเดือน ส.ค. นี้

และในอนาคตเตรียมขยายไปเปิดบริการตามโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย จุดพักรถ สนามบิน ตึกแถว เป็นต้น

ผู้บริโภคอยู่ไหน เราไปที่นั่น

บุญยงกล่าวว่า ใน 4-5 ปีที่ผ่านมาร้านอาหารเครือ ZEN เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับสูง และขยายร้านอาหารแต่ในศูนย์การค้ามาโดยตลอด แต่วันนี้ต้องการจับตลาดแมส การเปิดสาขาของร้านเขียงนั้นจึงเน้นขยายสาขาตามพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะการเปิดสาขานอกห้างแข่งขันไม่รุนแรง และมีการลงทุนต่ำ

ทั้งนี้ กลยุทธ์ของเครือ ZEN ในการขยายธุรกิจปัจจุบันจึงเป็นไปด้วยกัน 3 แพลตฟอร์ม คือ

1. ขยายแบรนด์ญี่ปุ่นไม่ได้ ก็จะเน้นขยายแรนด์ไทย

2 .เมื่อก่อนลงทุนเองหมด วันนี้จะเน้นเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งจะได้รายได้แบบ net

3. ขยายสาขาไซส์ใหญ่ไม่ได้ก็จะเน้นขยายสาขาแบบเล็กแทน

 

อยากเป็นเจ้าของ “เขียง” ต้องใช้เงินเท่าไร

ใช้เงินทั้งหมด 2.5 ล้านบาท

แบ่งเป็น

ค่าก่อสร้าง 1.8 ล้านบาท

ค่าแรกเข้า (Entrance Fee) 4 แสนบาท

ค่าธรรมเนียมรายเดือน (Loyalty Fee) อัตราคงที่เดือนละ 12,500 บาท*

คืนทุนภายใน 2-3 ปี

*ภายในสัญญาระยะเวลา 5 ปี จากนั้นคิดจากส่วนแบ่งรายได้ต่อเดือน

– – – – – – –

12 แบรนด์ในเครือ ZEN แบ่งเป็น

:: แบรนด์ญี่ปุ่น
ZEN, TETSU, MUSHA, AKA, CYU Carnival, On the table
:: แบรนด์ไทย
ตำมั่ว, เฝอ, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, de tummour, เขียง



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online