เม้าท์กระจายสไตล์ธีรพันธ์ / ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ

การสร้างแบรนด์กลายเป็นคำพูดที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีบางคนไม่เข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หลายๆ บริษัทต่างก็พยายามสร้างแบรนด์ของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ สาเหตุที่ล้มเหลวก็คือ ไม่มีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่ชัดเจน หรือแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์แล้วบ้างก็ตาม แต่การรักษาความสำเร็จเอาไว้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของเขาเช่นกัน

มีคนจำนวนมากคิดว่า การสร้างแบรนด์หมายถึงการจัดทำโลโก้และการออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างแบรนด์ แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าที่จะต้องคำนึงถึงในการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะต้องเข้าใจว่า การสร้างแบรนด์นั้นเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยกลยุทธ์ กลวิธี ความอดทน ใช้เวลา และทุ่มเทเพื่อการทำงานหนัก แต่ก็นำมาซึ่งผลสำเร็จที่งดงามเสมอ ฉะนั้นจึงจะขอกล่าวถึงรายละเอียดของการสร้างแบรนด์เป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ทำไมคุณต้องมีกลยุทธ์ การสร้างแบรนด์

เมื่อเราคิดถึงแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จสูงอย่าง อูเบอร์ ซัมซุง ดิสนีย์ และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย

เราก็จะตระหนักว่า แบรนด์ดังกล่าวมาได้ไกลมากเพราะแบรนด์เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้าของพวกเขานั่นเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากพวกเขาไม่มีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่แยบยลจนประสบความสำเร็จ

ดังนั้น หากคุณต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของเรื่องนี้มากขึ้น คุณต้องมุ่งไปที่หลักสำคัญ ซึ่งการมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยคุณดังนี้

  • มีวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ชัดเจน

คุณไม่สามารถเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จได้หากคุณไม่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

และไม่รู้ว่า บริษัทของคุณจะมุ่งไปทิศทางไหน ปีที่แล้วบริษัทของคุณอยู่ ณ จุดใด ปัจจุบันอยู่ตรงไหน และในปีหน้าหรืออีก 2 ปีจะอยู่ที่ใด

นอกจากนี้ พนักงานของคุณจะสามารถสนับสนุนบริษัทของคุณให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ โดยการทำหน้าที่สนับสนุนกลยุทธ์ของคุณได้อย่างเต็มที่หากมีการวางวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  นอกจากนี้ ยังช่วยในการรักษาลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มองเห็นประโยชน์ของการก้าวไปพร้อมๆ กับบริษัทของคุณและจะใช้สินค้าหรือบริการของคุณต่อไป

  • มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง

ในขณะที่คุณกำลังพัฒนากลยุทธ์ของคุณอยู่นั้น คุณต้องให้ความสนใจความเคลื่อนไหวของคู่แข่งคุณ และกิจกรรมของพวกเขาอย่างจริงจัง คุณต้องหมั่นสังเกตการณ์และทำการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนคุณ และก็จะมีอีกหลายอย่างที่คุณทำด้วยวิธีการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของคุณจะทำให้คุณมีโอกาสโดดเด่นเหนือคู่แข่งของคุณ โดยการบอกว่าคุณเป็นใคร  อะไรทำให้บริษัทของคุณมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีความสอดคล้องในทุกช่องทางที่แตกต่างจากคู่แข่งขันในตลาด

  • ทำให้กลยุทธ์การตลาดของคุณมีความเหมาะสมกลมกลืนกัน

เมื่อคุณพัฒนาอัตลักษณ์และคุณค่าแบรนด์ของคุณ คุณต้องหาวิธีการในการเผยแพร่เนื้อหา

เกี่ยวกับอัตลักษณ์และคุณค่านั้นและแชร์สู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณให้ได้

ด้วยแคมเปญการตลาดที่มีเป้าหมาย คุณจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้มุ่งหวังที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงและเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นลูกค้าได้ และถ้าระดับความเชื่อมั่นและความสุขของพวกเขาไม่เพียงแค่อยู่ในระดับเดียวกับลูกค้าแต่อยู่ในระดับที่มากกว่า พวกเขาก็อาจจะกลายเป็นลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์ของคุณในที่สุด

  • สามารถสื่อสารกับลูกค้าของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ยังไม่เพียงพอสำหรับความสำเร็จ กิจกรรมของคุณต้องมีความสอดคล้องกันด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการสื่อสารกับลูกค้าของคุณ และพนักงานของคุณก็จะต้องทำตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ในขณะที่ทำการสื่อสารกับลูกค้าด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าหรือนักการตลาดโซเชียลมีเดีย พวกเขาต้องดูแลลูกค้าทุกคนตามทิศทางที่เขียนไว้ในกลยุทธ์และใช้ลีลา สไตล์ และโทนเสียงเดียวกัน เช่น ถ้าคุณมีทีมช่วยเหลือลูกค้าที่ยอดเยี่ยม สามารถตอบกลับความต้องการของลูกค้าได้ทันเวลาและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ คุณต้องดำเนินการในรูปแบบเช่นเดียวกันนี้ในทุกช่องทางโซเชียลด้วย  มิฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายของคุณจะมีทัศนคติที่ขัดแย้งและสับสนในแบรนด์ของคุณ

  • ช่วยดึงคนเก่งๆ มาทำงานและดึงลูกค้าใหม่ๆ ให้หันมาสนใจสินค้าหรือบริการ

ประโยชน์ของการมีกลยุทธ์การสร้างแบรนด์อีกอย่างก็คือ การดึงคนเก่งๆ มาทำงานและดึงลูกค้าใหม่ๆ ให้มาสนใจซื้อและใช้สินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แชร์คุณค่าที่เหมือนกันกับแบรนด์ของคุณ เมื่อคุณพัฒนาแบรนด์ของคุณในทิศทางที่แน่นอน ผู้คนก็จะสนใจในวิธีการและสิ่งที่คุณทำ ดังนั้น พวกเขาจะต้องการเข้าร่วมกิจกรรมกับคุณและกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์คุณด้วย เช่น แบรนด์แอปเปิล ผู้คนจำนวนมากใฝ่ฝันอยากจะเป็นพนักงาน เพื่อที่จะเข้าไปทำงานและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่แบรนด์แอปเปิลจัดขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์หลักๆ ของการพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ซึ่งคุณจะเห็นได้ว่า ผลดีของการสร้างแบรนด์ก็คือ การใช้พลังงานและทรัพยากรของคุณอย่างมีคุณค่าในการพัฒนากลยุทธ์ให้เกิดความชัดเจนนั่นเอง

  1. ขั้นตอนแปดขั้นตอนในการสร้างสรรค์กลยุทธ์การสร้างแบรนด์

เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ ก็ถึงเวลาต้องเริ่มสร้างสรรค์กลยุทธ์กันแล้ว

ต่อไปนี้คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการสร้างกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ แต่คุณต้องระมัดระวังไว้ด้วยว่า หากคุณล้มเหลวในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็สามารถจะส่งผลให้เกิดวิกฤตกับคุณและแบรนด์ของคุณได้

ขั้นตอนแรก ระบุกลุ่มเป้าหมายและลักษณะลูกค้าในอุดมคติของคุณ

หากคุณยังใหม่ในธุรกิจ คุณต้องถามตัวเองก่อนว่า ลูกค้าในอุดมคติของคุณคือใคร และพวกเขาจะไว้วางใจในสินค้าและบริการของคุณได้อย่างไร หมั่นค้นหาและวิเคราะห์คู่แข่งโดยตรงของคุณ วิเคราะห์สินค้าและบริการ ลูกค้าหรือผู้ใช้ของคู่แข่ง และวิธีการที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ของพวกเขาทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ในขณะที่คุณกำลังทำการวิเคราะห์ลูกค้าปัจจุบันของคุณ คุณต้องแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มๆ ตามรูปแบบทั่วไปและแรงจูงใจของพวกเขา ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจว่า กลุ่มไหนมีประโยชน์ต่อธุรกิจของคุณมากกว่ากัน และพยายามดึงดูดความสนใจของลูกค้าในกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันให้มีมากขึ้นด้วยวิธีการและแรงจูงใจที่เหมือนๆ กัน

ลูกค้าในอุดมคติมีลักษณะอย่างไร หากบริษัทของคุณขายเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย หนึ่งในกลุ่มลูกค้าในอุดมคติของคุณจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 45 ปี ที่เคยซื้อสินค้าที่คล้ายคลึงกันสำหรับลูกชาย สามี และเพื่อนชายของพวกเขา ตัวอย่างนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของผลการวิจัยที่ดี คุณสามารถทำเช่นเดียวกันนี้กับสินค้าและบริการของคุณ ยิ่งการวิจัยของคุณละเอียดมากเท่าไรก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่อาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์คุณก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 เขียนคำจำกัดความจุดยืนของแบรนด์

คำจำกัดความจุดยืนของแบรนด์ คือ ประโยคที่สะท้อนถึงสิ่งที่แบรนด์ของคุณนำเสนอต่อลูกค้า กลุ่มเป้าหมายและประโยชน์ของแบรนด์คุณ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับหลายๆ แบรนด์ แต่ถ้าคุณเข้าใจแบรนด์ของคุณอย่างแท้จริงและรู้ว่าคุณต้องการให้แบรนด์ของคุณเป็นที่ยอมรับในสายตาและความคิดของคนอื่นๆ แบบไหน  คุณก็สามารถเขียนขึ้นมาได้อย่างง่าย โดยอาศัยวิธีการสอบถามและระดมความคิดเห็นจากกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะและคุณสมบัติสอดคล้องกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

คำจำกัดความจุดยืนของแบรนด์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก กลุ่มเป้าหมายของคุณ โดยการตั้งคำถามเหล่านี้ คือ กลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร มีลักษณะอย่างไร มีความสนใจในสิ่งใด พวกเขาทำการตัดสินใจอย่างไร ใครคือผู้อิทธิพลทางความคิดของพวกเขา  ส่วนที่สอง คุณค่าที่แบรนด์ของคุณมีให้แก่ลูกค้า คุณค่าหรือคุณประโยชน์อะไรที่แบรนด์ของคุณมอบให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นคุณค่าที่แบรนด์อื่นๆ ไม่สามารถให้ได้  และส่วนที่สาม เหตุผลสนับสนุน โดยการระบุถึงเหตุผลต่างๆ ที่เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า คำจำกัดความจุดยืนของแบรนด์คุณนี้เป็นความจริง

เมื่อคุณระบุจุดยืนของแบรนด์ คุณต้องมั่นใจว่า มีความเหมาะสมกับแบรนด์ของคุณและคิดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในขณะที่บริษัทของคุณกำลังเติบโต คุณสามารถย้อนกลับมาที่จุดยืนของแบรนด์ได้เสมอและปรับให้ถูกต้องสอดคล้องกับแบรนด์ของคุณในช่วงเวลานั้นๆ

ขั้นตอนที่ 3 พัฒนาอัตลักษณ์ของแบรนด์

หากคนส่วนใหญ่จำแบรนด์ได้จากโลโก้หรือสีและข้อความของแบรนด์ ก็หมายความว่า แบรนด์เหล่านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอัตลักษณ์ของแบรนด์นั่นเอง

อันดับแรกคุณต้องจัดการตรวจสอบแบรนด์เพื่อทำความเข้าใจว่า แบรนด์ของคุณยืนอยู่ที่จุดไหนในตลาดหากเปรียบเทียบกับคู่แข่งของคุณ ซึ่งจะทำให้คุณมองทะลุว่า จะดำเนินการอย่างไร จากนั้นคุณต้องพัฒนาองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์คุณ ซึ่งก็คือ คู่มือรูปแบบแบรนด์ของคุณนั่นเอง

เมื่อคุณเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์และผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของแบรนด์คุณ อัตลักษณ์ของแบรนด์คุณจะทำหน้าที่ในส่วนที่สำคัญนี้ ถ้าคุณจับกลุ่มเป้าหมายถูกกลุ่มและทำให้พวกเขาพึงพอใจ แบรนด์ของคุณก็จะได้รับการจดจำ คุณสามารถเพิ่มการรับรู้แบรนด์ทั้งจากออนไลน์และออฟไลน์โดยการใช้ช่องทางต่างๆ หลากหลายช่องทาง

อัตลักษณ์ของแบรนด์ คือ ลักษณะที่ผู้คนจดจำแบรนด์ของคุณ ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ที่แท้จริงที่สะท้อนถึงคุณค่าแบรนด์ของคุณจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ขั้นตอนที่ 4 แบรนด์ คือความเชื่อมโยง

แบรนด์ทุกแบรนด์เชื่อมโยงกับอารมณ์และความหมาย  ในขณะที่คุณกำลังพัฒนาอัตลักษณ์ของแบรนด์ คุณต้องคิดเกี่ยวกับความหมายและคำที่คุณต้องการเชื่อมโยงกับแบรนด์ของคุณ จากนั้นทำการวิจัยและพัฒนากลยุทธ์ที่คุณต้องการใช้ในการสร้างความเชื่อมโยงดังกล่าวกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณ กลยุทธ์เหล่านั้นรวมถึงข้อความและเนื้อหา วิธีการที่คุณสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และอารมณ์ของพวกเขาหลังจากการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ของคุณในแต่ละครั้ง

ถ้าคุณกำลังพยายามแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณ คุณต้องศึกษาพวกเขาและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น แบรนด์ของคุณก็จะมีความเป็นมืออาชีพและได้รับความไว้วางใจจากพวกเขา

สำหรับในส่วนที่เหลืออีก 4 ขั้นตอนจะกล่าวถึงในตอนต่อไป แล้วพบกันฉบับหน้านะครับ!

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online