เอ็มเคซื้อหุ้นแหลมเจริญ ถอดรหัสบิ๊กดีล เกมนี้ ใครได้ ใครเสีย ?
ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติ อนุมัติให้บริษัท คาตาพัลท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป เข้าถือหุ้น 65% ในบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 2,060 ล้านบาท
การเข้าถือหุ้นในครั้งนี้คาดแล้วเสร็จ ธันวาคม 2562
เหตุผลที่ เอ็มเคซื้อหุ้นแหลมเจริญ Marketeer มองว่า มาจากความต้องการต่อยอดธุรกิจ จากเดิมที่กลุ่มเอ็มเค มีร้านอาหารเพียง 5 กลุ่ม
ในกลุ่มสุกี้ ผ่าน เอ็มเค เรสโตรองต์
กลุ่มอาหารญี่ปุ่น ผ่าน ยาโยอิ ฮากาดะ และร้านมิยาซากิ
กลุ่มอาหารไทย ผ่าน ณ สยาม และ เลอสยาม
กลุ่มเบเกอรี่ ผ่าน เลอเพอทิท คาเฟ่
และกลุ่มอาหารกล่องและของหวาน ผ่าน บีซซี บ็อกซ์ และเอ็มเค ฮารเวสต์
โดยในปีที่ผ่านมารายได้ส่วนใหญ่ของเอ็มเค กรุ๊ป มาจากธุรกิจเอ็มเคสุกี้ 78% อาโยอิ 20% และอื่นๆ 2% จากรายได้จากการขายและบริการ 16,770 ล้านบาท
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ชื่อเสียงของเอ็มเค และยาโยอิ เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในแง่แบรนด์ และสาขา โดย เอ็มเค สุกี้มีสาขาทั้งหมด 448 สาขา และยาโยอิ มีสาขา 184 สาขา (อัพเดท 31 ธันวาคม 2561)
แม้ เอ็มเค กรุ๊ป จะมีรายได้มากกว่า 16,770 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองลึกลงไปแล้วในปี 2561 รายได้ของเอ็มเค กรุ๊ป มีการเติบโตเพียง 4.3% จากรายได้ 16,073 ล้านบาทในปี 2560
การเติบโตด้านรายได้ที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันกันสูงในธุรกิจสุกี้ ที่ในปัจจุบันตลาดสุกี้และชาบูในประเทศไทยมูลค่า 19,000 ล้านบาท(อ้างอิงจาก CRG) มีคู่แข่งจากสุกี้โบราณ และอาหารประเภทหม้อต้มอื่นๆ เข้ามาแย่งชิงผู้บริโภคมากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการออกเมนูใหม่ และโปรโมชัน เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้าไปใช้บริการของร้านตัวเองมากที่สุด
ส่วนตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นก็เช่นกันแม้ตลาดจะมีมูลค่ามากถึง 18,000 ล้านบาท แต่ตลาดนี้ก็มีการแข่งขันกันสูง จากผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่ ที่ตบเท้าเข้ามาลงแข่งในธุรกิจเป็นจำนวนมาก
ซึ่งทั้ง 2 ตลาดที่เป็นธุรกิจหลักของเอ็มเค เป็นตลาดที่เรดโอเชียน จากการแข่งขันที่สูง พร้อมผู้เล่นที่พร้อมรบกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนี่เอง
ทำให้เอ็มเค กรุ๊ป ต้องหาธุรกิจอาหารอื่นๆ มาต่อยอดการเติบโตให้กับธุรกิจ
ซึ่งธุรกิจ อาหารซีฟู้ด ขึ้นห้าง อย่างแหลมเจริญ เป็นหนึ่งในคำตอบที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ Marketeer มองว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้เอ็มเค เข้าซื้อหุ้นแหลมเจริญซีฟู้ด ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เป็นธุรกิจครอบครัวในครั้งนี้
เพราะศักยภาพของแหลมเจริญซีฟู้ดคือ
1.เป็นร้านอาหารซีฟู้ดในห้าง ที่แทบจะไม่มีคู่แข่ง
แม้แหลมเจริญซีฟู้ดจะเกิดจากร้านอาหารทะเลที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำระยองในปี 2522 แต่ด้วยความคิดที่ต้องการเสิร์ฟอาหารทะเลให้คนกรุงเทพได้หาทานง่ายขึ้น แหลมเจริญซีฟู้ด จึงขยายสาขาจากระยองสู่สาขาแรกในกรุงเทพที่เหม่งจ๋าย
การเปิดสาขาแรกที่เหม่งจ๋าย ถือเป็นใบเบิกทางชั้นดีที่ทำให้ชื่อเสียงของแหลมเจริญซีฟู้ดเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ได้เข้ามาติดต่อ เชิญไปเปิดสาขาในห้างเซ็นทรัลเวิลด์
การเปิดสาขาในห้างสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจแหลมเจริญซีฟู้ดที่ได้กลายเป็นจุดขายที่แตกต่างจากร้านอาหารทะเลอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะตั้งอยู่ในรูปแบบ Stand Alone เป็นหลัก
จากความสะดวกในการเข้ามารับประทานที่มากกว่า และการที่แทบจะไม่มีคู่แข่งที่เป็นอาหารทะเลในห้างที่เป็นคู่แข่งในแบบเดียวกัน
ทำให้ปัจจุบันแหลมเจริญซีฟู้ดมีสาขามากถึง 25 สาขาในห้างและครอบคลุมห้างใหญ่ทั้งหมดในกรุงเทพ
2.กลุ่มเป้าหมายไม่ใช้แค่เพียงคนไทย
นอกเหนือจากคนไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของร้านอาหารทุกๆ ร้านแล้ว แหลมเจริญซีฟู้ดยังมีกลุ่มเป้าหมายหลักอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกลุ่มองค์กรที่ใช้แหลมเจริญเป็นสถานที่เลี้ยงรับรองลูกค้า
การที่เอ็มเคซื้อหุ้นแหลมเจริญทำให้สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเอ็มเค ได้เป็นอย่างดี
3.ชื่อเสียงแบรนด์
ด้วยความที่แหลมเจริญซีฟู้ด เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมานาน และเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบอาหารซีฟู้ด และปลากระพงทอดน้ำปลา ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของร้าน ทำให้การที่เอ็มเค กรุ๊ป ซื้อแหลมเจริญซีฟู้ดมาอยู่ในพอร์ต เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ช่วยให้เอ็มเคไม่ต้องทำตลาดด้าน Brand Awareness มากนัก
ส่วนด้านแหลมเจริญซีฟู้ด Marketeer ไม่ทราบถึงเหตุผลที่แน่ชัดในการขายหุ้น ให้กับเอ็มเค เพราะที่ผ่านมา แหลมเจริญซีฟู้ดเป็นธุรกิจครอบครัว ที่บริหารงานโดยไชยทัศน์ นรากุลสุขพิภัทร์ หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจ
ทางไชยทัศน์ เคยให้ข่าวว่าแหลมเจริญซีฟู้ดทั้ง 25 สาขาเป็นการบริหารโดยครอบครัวทั้งสิ้น เพราะต้องการควบคุมคุณภาพและบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ Marketeer ไม่สามารถหารายได้ของแหลมเจริญมาเล่าให้ฟังได้ รู้แต่เพียงว่าแหลมเจริญซีฟู้ด จดทะเบียนในชื่อบริษัท แหลมเจริญซีฟู้ด จำกัด ในชื่อของลักขณา วงศ์วีรธร,ศุภโชค กิจวิมลตระกูล,ไชยทัศน์ นรากุลสุขพิภัทร์และวุฒิพงษ์ ติรวรรณาวิทย์
จากนี้ต่อไปแหลมเจริญในอ้อมกอดของเอ็มเค จะเป็นอย่างไร
ปีหน้าคงได้เห็นภาพที่ชัดเจนแน่นอน
อ่านข่าว MK ประกาศ ซื้อ แหลมเจริญซีฟู้ด
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ