มีตังค์ อาวุธลับท้าชนเงินกู้นอกระบบของธนาคารไทยพาณิชย์ (วิเคราะห์)

ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นสองธนาคารหลัก อย่างไทยพาณิชย์และกสิกรไทย ที่ออกมาประกาศว่า ธนาคารมีโครงการที่จะขยายฐานลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไปยังฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่มีโอกาสในการขอสินเชื่อกับธนาคาร เนื่องจากมีเงินเดือนที่ต่ำกว่า 15,000 บาท หรือบุคคลในอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานบริษัท เช่น ค้าขายตามแผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ และอื่นๆ ที่มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่มีเอกสารรับรองเพื่อกู้เงิน

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่อขาดสภาพคล่องทางการเงินจะใช้วิธีกู้เงินนอกระบบมาช่วยเสริมสภาพคล่อง แต่ต้องแลกกับดอกเบี้ยจากเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราที่สูงลิบจนน่าตกใจ

และคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างใหญ่ในประเทศไทย ที่ถ้าธนาคารสามารถเข้าถึงพวกเขาเหล่านั้นได้มากแค่ไหน ธนาคารจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังบริการต่างๆ ของธนาคารได้อย่างดี เช่น บัญชีเงินฝาก ประกัน และอื่นๆ

การประกาศในครั้งนั้นธนาคารไทยพาณิชย์เน้นโมเดลการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ส่วนกสิกรไทยได้จับมือกับ LINE ตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อ กสิกร ไลน์ เพื่อให้บริการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปไลน์

ในปีที่แล้วทั้งสองโครงการเป็นเพียงแนวคิดในการเริ่มต้นให้บริการเท่านั้น เพราะการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โอกาสหนี้สูญมีมาก โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ฐานเงินเดือนไม่สูงมากนัก หรือมีรายได้ที่ไม่แน่นอน

หนึ่งปีผ่านไป ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ช่วงชิงความเร็วในการเปิดตัวบริการสินเชื่อลูกค้ารายย่อยในกลุ่มคนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ออกมาสร้างกระแสและทดลองตลาดก่อน ในชื่อบริการ มีตังค์

โดยบริการมีตังค์เป็นบริการกึ่งสินเชื่อเงินกู้ ที่ให้พนักงานในบริษัทที่มีระบบจ่ายเงินเดือนผ่าน SCB Payroll Solution สามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้าจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้ก่อนวันเงินเดือนออก โดยธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ยจากการเบิกล่วงหน้า แต่จะคิดค่าธรรมเนียมการเบิก 1,000 ละ 20 บาทแทน

และเมื่อบริษัทจ่ายเงินเดือนผ่านระบบ Payroll ธนาคารไทยพาณิชย์จะหักเงินที่ขอเบิกล่วงหน้าทันทีก่อนที่จะโอนจำนวนเงินที่เหลือจากเงินที่เบิกล่วงหน้าเข้าบัญชีธนาคารของลูกค้าแต่ละคน

ซึ่งบริการมีตังค์กลุ่มเป้าหมายหลักคือพนักงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถขอบัตรเครดิตหรือสินเชื่อเงินกู้ส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้

เริ่มแรกของบริการ มีตังค์ ไทยพาณิชย์ได้จับมือกับ วิลล่า มาร์เก็ต และอำพล ฟู้ดส์ เป็นสองบริษัทนำร่องบริการมีตังค์

การร่วมมือกับวิลล่า มาร์เก็ต และอำพล ฟู้ดส์ มีข้อตกลงในการให้บริการคือ

– ทั้งสองบริษัทจะเป็นผู้อนุมัติลูกค้าให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ว่าพนักงานคนไหนมีสิทธิ์ที่จะขอเบิกเงินล่วงหน้าผ่านบริการมีตังค์ได้

– พนักงานที่เบิกเงินล่วงหน้าจะต้องทำธุรกรรมผ่านแอป SCB Easy ผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า “มีตังค์” โดยพนักงานจะเบิกเงินไม่เกิน 50% ของจำนวนเงินเดือนที่นับจากวันทำงานที่ได้ทำไปแล้ว และไม่เกิน 20,000 บาท หรือตามนายจ้างกำหนด

เช่น พนักงานมีเงินเดือนเฉลี่ยวันละ 500 บาท และได้รับเงินเดือนวันที่ 30 กันยายน ระบบจะนับวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันแรก เมื่อพนักงานทำงานมา 10 วัน และจะขอเบิกเงินล่วงหน้ามาใช้จ่ายก่อน พนักงานจะมีสิทธิ์เบิกได้ไม่เกิน 2,500 บาท และเมื่อทำงานเพิ่มขึ้นอีกวันก็สามารถเบิกได้อีก 250 บาท เป็นต้น

บริการมีตังค์ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้บอกกับเราว่าเพียง 8 วันในการให้บริการมีผู้ใช้งานเบิกเงินล่วงหน้าผ่านฟีเจอร์มีตังค์จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกเงินล่วงหน้าที่ต่ำแต่มีความถี่ในการเบิกสูง

ทั้งนี้ การให้บริการ มีตังค์ นอกเหนือจากการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ 20 บาทต่อการเบิกเงินล่วงหน้า 1,000 บาทแล้ว

จุดมุ่งหมายอื่นๆ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องการคือ

1. ในมุมของแบรนด์

ไทยพาณิชย์สามารถสร้างการรับรู้ในฐานะธนาคารแรกที่มีให้บริการการกู้เงินส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันผ่านแอปพลิเคชัน

2. ในมุมของการต่อยอดบริการสินเชื่อเงินกู้

การให้บริการมีตังค์เป็นหนึ่งในแนวทางการให้บริการสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถขอเงินกู้จากธนาคารได้ ทำให้ธนาคารใช้เป็นโครงการเพื่อทดลองการให้บริการเพื่อศึกษาพฤติกรรมในการใช้เงินและกู้เงินผ่านการเบิกเงินล่วงหน้าของลูกค้ากลุ่มนี้ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจสินเชื่อเงินกู้ในกลุ่มลูกค้ารายย่อยอื่นๆ ที่มีฐานเงินเดือนต่ำ หรือไม่มีเอกสารรับรองเงินเดือนจากบริษัท พร้อมบิสซิเนสโมเดลที่เหมาะสมกับพฤติกรรมลูกค้าที่จะไม่ทำให้ธนาคารเกิดหนี้สูญจากการให้บริการในรูปแบบนี้ได้

3. ในมุมหาลูกค้าใหม่

การสร้างเบเนฟิกในการให้บริการ SCB Payroll Solution ให้องค์กรที่จ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านระบบ Payroll เลือกที่จะใช้บริการ Payroll ของไทยพาณิชย์แทนคู่แข่ง เพราะบริการที่ได้รับจากไทยพาณิชย์มากกว่าธนาคารคู่แข่ง และมีตังค์คือหนึ่งในเบเนฟิกที่ธนาคารใช้สร้างความแตกต่าง

และถ้าองค์กรย้ายการจ่ายเงินเดือนพนักงานมาใช้ SCB Payroll Solution นั่นหมายถึงไทยพาณิชย์สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ของธนาคารได้อย่างรวดเร็ว และส่วนใหญ่บัญชีที่ใช้รับเงินเดือนลูกค้าจะใช้เป็นบัญชีหลักในการทำธุรกรรมต่างๆ ด้วย

ซึ่งเท่ากับว่าธนาคารจะสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ ที่ธนาคารมี เช่น สินเชื่อ ประกัน บัตรเครดิต และบัญชีเงินฝากอื่นๆ เป็นต้น

โดยในปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีลูกค้าที่มีฐานบัญชีเงินเดือนกับธนาคารอยู่ที่ 2 ล้านบัญชี และต้องการเพิ่มฐานบัญชีเงินเดือนอีก 20% หรือ 400,000 บัญชีในปลายปีนี้

 

Marketeer FYI

ตลาดเงินกู้ส่วนบุคคลในระบบโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 5 แสนล้านบาท เป็นตลาดที่หอมหวานสำหรับแบงก์และน็อนแบงก์  จากดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีอัตราตั้งแต่ 5.5%ไปจนถึง 28% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยนิดจนเกือบจะติดดิน

 

โดยประเทศไทยเป็นหนี้อันดับสองในเอเชีย รองจากเกาหลี

เกาหลีใต้ 97.7%

ไทย       78.6%

ฮ่องกง   72.2%

มาเลเซีย 66.3%

สิงคโปร์ 54.7%

จีน        52.6%

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

คนไทยมีหนี้มากขึ้น

2552    377,109 บาท

2561    552,499 บาท

คนเป็นหนี้ส่วนใหญ่อายุน้อย และมีอัตราหนี้เสียสูง

คนไทยอายุ 30 ปี มีหนี้มากที่สุดถึง 50%

และ 1 ใน 5 มีหนี้เสีย

*เฉลี่ยหนี้ทุกประเภทต่อราย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

จากการสำรวจของไทยพาณิชย์พบว่า

70% ที่สำรวจ ใช้เงินเดือนชนเดือน

80% เคยกู้เงินนอกระบบ

88% ยอดเงินกู้ต่ำกว่า 15,000 บาท

และ 59%  ปัญหาหนี้สินทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน