ซานตาเฟ่ ใต้ชายคา สิงห์ นี่คือบทสรุปของคำถาม ทำไม สิงห์ ต้องซื้อ ซานตาเฟ่ (วิเคราะห์)
หนึ่งใน 6 เสาหลักที่เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอให้กลุ่มบุญรอดคือ “ธุรกิจอาหาร” ที่หวังสร้างเป็นซัปพลายเชนธุรกิจอาหารแบบครบวงจร
ที่แม้กลุ่มบุญรอดอาจจะมาช้ากว่าเจ้าอื่นๆ แต่ตอนนี้บอกได้ว่ากลุ่มบุญรอดให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารมากขึ้น
หากถามว่าธุรกิจอาหารในมือบุญรอดนั้นเป็นสิ่งใหม่หรือไม่นั้น ตอบได้ทันทีว่าไม่ เพราะสิงห์ทำธุรกิจอาหารมาเป็น 10 ปีแล้ว มีทั้ง “EST 33” ร้านอาหารและคราฟเบียร์, “ฟาร์มดีไซน์” ร้านขนมที่เน้นวัตถุดิบจากญี่ปุ่น และสตาร์เชฟมากิแชมป์เปี้ยน นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม “คิตะโอจิ” ด้วย
แต่การสปินออฟออกมาเป็น “ฟู้ด แฟคเตอร์” เพื่อทำให้ภาพของธุรกิจอาหารชัดเจนขึ้นและครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพราะทุกวันนี้การแข่งขันมีสูง การบริหารต้นทุนให้มีต้นทุนที่ต่ำจึงเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ
“กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ทำธุรกิจเบียร์ น้ำ โซดา มา 86 ปี มีโครงข่ายที่มั่นคงแข็งแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเติบโตมั่นคงแบบนี้ตลอดไป ถ้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง” คำพูดของปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด
โดยกลุ่มธุรกิจอาหารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์ (Food Product & Production), กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหาร (Food Network) และกลุ่มร้านอาหาร (Food Retail)
หนึ่งในดีลที่สร้างความฮือฮาในวงการอาหารช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ดีลครั้งใหญ่ของกลุ่มสิงห์ที่ซื้อธุรกิจร้านอาหารดังอย่างซานตาเฟ่ ด้วยงบกว่า 1,500 ล้าน เพื่อถือหุ้น 88% ในบริษัท เคที เรสทัวรองท์ ที่เป็นเจ้าของซานตาเฟ่
อ่าน : สิงห์ เทค ซานตาเฟ่ สเต็ก เพราะอะไร
ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ระบุอีกว่า ใช้ระยะเวลา 9 เดือนในการพูดคุยกับซานตาเฟ่ ที่คุยแล้วมีเคมีตรงกัน ทีมบริหารเดิมยังมีอำนาจบริหารต่ออีก 3 ปี โดยการดีลในครั้งเป็น Synergy ที่สามารถสร้างประโยชน์โนว์ฮาวให้กับกลุ่มธุรกิจอาหารที่มีในเครือ และสร้างความเติบโตให้กันและกัน
ภาพที่ชัดเจนหลังจากนี้คือ
1. เป้าหมายรายได้จากกลุ่มธุรกิจอาหารที่ 4,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า และยังยืนเป้าหมายเดิมที่มีรายได้ธุรกิจอาหารรวมกับธุรกิจซัปพลายเชน 15,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน
ทั้งนี้ ปิติระบุว่า ปัจจุบันรายได้ธุรกิจอาหารและซัปพลายเชนมีรายได้รวมกัน 4,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรายได้กลุ่มบุญรอดฯ
2. สาขาต้องมีเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันซานตาเฟ่มีสาขาทั้งหมด 117 สาขา แบ่งเป็นเจ้าของเองกับแฟรนไชส์ในสัดส่วน 50:50 โดยสุรชัย ชาญอนุเดช ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ระบุว่า เคทีมีแผนขยายสาขาราว 20 สาขาทุกปีอยู่แล้ว
การที่กลุ่มสิงห์เข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ก็จะขยายมากกว่าเดิม โดยจะเข้าไปตามโมเดิร์นเทรดทั้งบิ๊กซี โลตัส โรบินสัน เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ขณะที่ยอดขายโตทุกปีที่ 10% ส่วนกำไรนั้นทรงตัว และตั้งเแาหลังจากอยู่ในเครือบุญรอดฯโต 20%
รายได้ซานตาเฟ่เติบโตทุกปี
2558 929,223,628 บาท กำไร 28,285,512 บาท
2559 1,076,580,840 บาท กำไร 29,138,427 บาท
2560 1,147,763,253 บาท กำไร 48,858,844 บาท
2561 1,158,745,892 บาท กำไร 46,425,699 บาท
หมายเหตุ: รายได้รวม
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 1,850 ล้านบาท
อ่าน : ‘Santa Fe’ สเต็กมูลค่า 2,000 ล้าน กับวิกฤตขาดเงินและทางออกที่มักจะวนมาทุก 5 ปี
นอกจากสาขาที่มีเพิ่มแล้ว โปรดักส์ใหม่ในร้านซานตาเฟ่ ก็จะมีการออกโปรดักส์ใหม่ๆ เช่นกัน โดยในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันแรกที่มีเมนูใหม่ที่มี “ซอสต๊อด” อยู่ในเมนูด้วย
3. นับจากนี้เป้าหมายของฟู้ด แฟคเตอร์คือ การสร้างโปรดักส์ แชมป์เปี้ยน โดยคาดภายใน 5 ปี จะมีโปรดักส์ แชมป์เปี้ยน 25 สาขา และพัฒนากลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ส่วนในธุรกิจอาหารไปด้วยกัน
4. ส่วนแผนอนาคตเพื่อสร้างซัปพลายเชนธุรกิจอาหารให้ครบวงจรนั้น ปิติระบุว่า ศึกษาความเป็นไปในการทำครัวกลาง (Central Kitchen) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การจัดตั้งศูนย์การกระจายสินค้า หลังจากธุรกิจมีมูลค่ามากเพียงพอ
โดยร่วมกับกลุ่มเฮสโก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผลิตอาหาร, กลุ่ม Food innovation Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม, และกลุ่ม Bevchain logistics การบริหารจัดการและการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากขึ้น
- ปัจจุบันกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยมี 6 เสาหลักด้วยกันคือ
1. ธุรกิจเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา
2. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส
3. ธุรกิจระดับภูมิภาค ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง
4. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดย สิงห์เอสเตท
5. ธุรกิจซัปพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน และ 6. ธุรกิจอาหาร โดย ฟู้ด แฟคเตอร์
- สาขาของซานตา เฟ่ ที่มีรายได้สูงสุดคือ สาขาแฟชั่น ไอส์แลนด์ ฟิวเจอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพระราม 2 เดอะมอลล์บางกะปิ
- กลุ่มลูกค้าจองซานตา เฟ่แบ่งเป็น กลุ่มครอบครัว 40%, กลุ่มคนทำงาน 30% และกลุ่มนักเรียน 30%
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ