ตลาดธุรกิจประกันชีวิต 2563 โซเซ หรือโอเคอยู่ ? วิเคราะห์ภาพรวมตลาดธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย รวมถึงแนวโน้มที่น่าสนใจ

ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต กำลังเจอกับปัญหาอะไร ทำไม ถึงได้มีการควบรวมกิจการและการซื้อกิจการถี่ขึ้นในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา

ยุคดิจิทัล ที่นอกจากธุรกิจประกันต้องแข่งกันเองแล้ว ยังต้องตามให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องคิดค้นรูปแบบกรมธรรม์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันปัญหาของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็เป็นความท้าทายอย่างมากในการที่จะให้ลูกค้าควักเงินจ่ายค่าประกัน

ตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังตอกย้ำว่า ธุรกิจประกันชีวิตในครึ่งแรกปี 2562 หดตัว-6.1% ต่อปี ซึ่งเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบทศวรรษ

ส่วนคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าปี 2562 นี้ คาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจากธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยไทยทั้งระบบจะอยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท หดตัว 2-3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ดังนั้น ทางออกหนึ่งที่เจ้าของบริษัทเลือกใช้เพื่อความอยู่รอด คือการหาพันธมิตรมาควบรวมกิจการ หรือบางรายยอมขายกิจการก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทมากกว่านี้

5 เหตุผลสำคัญของการควบรวมกิจการ
1. ทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น เข้มแข็งและแข็งแรงยิ่งขึ้นในการทำธุรกิจต่อไป
2. ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วด้วยขนาดของรายได้ที่เพิ่มขึ้นทันที
3. ได้คนที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกัน สร้างธุรกิจให้เหนือคู่แข่งขันในตลาด
4. เอาจุดแข็งมารวมกันเพื่อการตลาดที่สมบูรณ์มากขึ้น
5. สามารถสร้างยุทธศาสตร์การขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้

มาดูกันว่าในวงการประกันช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ใครขายใคร ซื้อใคร ร่วมทุนกับใคร แล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง

ข่าวใหญ่ ตลาดธุรกิจประกันชีวิต 

ร้อนแรงที่สุดแห่งปี คือดีลที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ขายไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หรือ SCB Life ให้ “กลุ่มเอฟดับบลิวดี” ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตระดับเอเชีย ด้วยมูลค่า 92,700 ล้านบาท เป็นดีลการซื้อขายธุรกิจประกันชีวิตที่มีมูลค่าสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว

ไทยพาณิชย์ขายเพราะต้องการโฟกัสธุรกิจที่ตัวเองถนัด และต้องการเงินก้อนใหญ่จากการขายเกือบ 1 แสนล้านบาท เพื่อไปลงทุนในกิจการอื่น ในขณะที่ทรัพย์สินที่ได้มาทำให้ FWD เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นบริษัทประกันชีวิตแถวหน้าของเมืองไทย

การควบรวมบริษัทระหว่าง บมจ. ศรีอยุธยาเจนเนอรัลประกันภัย (SAGI) และบมจ. อลิอันซ์ประกันภัย (AZTH) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. อลิอันซ์อยุธยาประกันภัย (AAGI)
.
ส่งผลให้มีเบี้ยประกันภัยรับรวมมาอยู่ที่ 6,500 ล้านบาท ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิมที่ SAGI จะมีเบี้ยรับประกันภัยรวมที่ 3.5 พันล้านบาท และ AZTH มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 3 พันล้านบาท
.
“โตเกียวมารีน” ควบรวมกิจการ “ประกันคุ้มภัย” เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย” หวังเป็นหนึ่งในผู้นำด้านประกันวินาศภัยไทย ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวม 21,700 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

ที่น่าติดตามอีกดีลคือการที่ อาคเนย์ ประกันภัย ของ ”เจ้าสัวเจริญ” ประกาศเข้าซื้อและควบรวมกับบมจ. ไทยประกันภัย (TIC) ที่มีตระกูล ”ตู้จินดา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ยังต้องรอ ก.ล.ต. อนุมัติ

หลังจากการควบรวมกิจการรายได้ของบริษัทจะมีหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจรถเช่า โดยรายได้หลักจะกลายเป็นมาจากประกันชีวิตแทนที่ประกันภัย
.
นับว่าเป็นความพยายามอีกครั้งของเจ้าสัวที่ต้องการรุกเข้ามาเป็นใหญ่ทางด้านธุรกิจประกัน นอกเหนือจากธุรกิจอื่นๆ มากมายในเครือ

และต้องจับตาดู กลุ่ม คิงไวกรุ๊ป ที่ลอดลายมังกรมาจากประเทศจีน และได้ซื้อบริษัทประกันภัยและประกันชีวิตของไทยไปแล้ว 2 บริษัท
.
ส่วนปี 2563 ใครซื้อใครขาย ใครจับมือกัน ต้องติดตามกันต่อไป ซึ่งต้องมีตามมาอีกแน่นอน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online