ตลาดอาหารพร้อมรับประทาน 2563 การเติบโตที่มาพร้อมกับความท้าทาย (วิเคราะห์)
ปี 2563 ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม น่าจะมีมูลค่าราว 2.46-2.51 ล้านล้านบาท
หนึ่งในเซกเมนต์ที่ดูเหมือนจะไปได้ดีในปีหน้า แต่มีสัดส่วนอยู่ไม่ถึง 1 % ของตลาดรวม คือ “ตลาดอาหารพร้อมรับประทาน” หรือ Ready to eat ที่ในปีหน้าจะ มีมูลค่า 20,200-20,500 ล้านบาท
ซึ่งตลาดอาหารพร้อมรับประทานไม่ได้จะโตสวยหรูอย่างเดียว แต่ยังต้องปรับตัวและเผชิญกับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในบรรดาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม อาหารพร้อมรับประทานยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าตลาดรวม โดยคาดว่าปี 2563 มูลค่าตลาดอาหารพร้อมรับประทานจะอยู่ที่ 20,200-20,500 ล้านบาท ขยายตัว 3-5% (YoY)
ซึ่งมาจากความหลากหลายแปลกใหม่ของสินค้าที่เกิดจากการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ในขณะที่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอาจโตเพียง 2.4-4.4% (YoY)
โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานนั้นมาจาก
– การเพิ่มขึ้นของแหล่งจำหน่ายที่เข้าใกล้ผู้บริโภคอย่าง ร้านสะดวกซื้อ
– ความนิยมในการบริโภคอาหารนอกบ้านที่มีมากขึ้น จากข้อจำกัดบางประการ (อาทิ ไม่มีเวลา ไม่มีพื้นที่ทำอาหาร)
– วิถีชีวิตแบบสังคมเมือง การใช้ชีวิตแบบครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
– รวมถึงการแข่งขันในธุรกิจของผู้ประกอบการอาหารพร้อมรับประทาน ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตอาหารที่ทำให้อาหารพร้อมรับประทานมีคุณลักษณะไม่แตกต่างจากอาหารปรุงสด (ทั้งในเรื่องของรสชาติ เนื้อสัมผัส วัตถุดิบ คุณค่าทางโภชนาการ) มีความหลากหลาย ความแปลกใหม่ของสินค้า และสะดวกกับการบริโภค
แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดอาหารพร้อมรับประทานเติบโตมากมาย แต่ในปี 2563 ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่มีผลต่อกำลังซื้อที่อาจยังอ่อนแรง ตลอดจนทางเลือกที่หลากหลายของผู้บริโภคที่มีต่อการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ อาจทำให้โอกาสของธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ไม่น้อย
เพราะฉะนั้นความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับ ตลาดอาหารพร้อมรับประทาน ปี 2563 คือ
1) ผลของภาวะเศรษฐกิจที่นำไปสู่การปรับพฤติกรรมการกินอยู่ของผู้บริโภค: สะท้อนจากข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรล่าสุดเดือน พ.ย. 2562 ที่พบว่า ผู้มีงานทำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับเดือน พ.ย. 2561 จำนวนผู้มีงานทำลดลงกว่า 5.5 แสนคน
บ่งชี้ถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่อาจอ่อนแรงต่อเนื่อง แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารจะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต แต่ในระยะต่อไปการจับจ่ายของผู้บริโภคคงจะอยู่ภายใต้งบประมาณที่จำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดแรงงาน (ตั้งแต่กลุ่มพนักงานออฟฟิศไปจนถึงผู้ใช้แรงงานในภาคการผลิต) ซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน
ดังนั้น
สิ่งที่น่าจับตาก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เริ่มตั้งแต่เปรียบเทียบด้านราคามากขึ้น ลดการบริโภค หรือเปลี่ยนไปรับประทานอาหารประเภทอื่นที่มีราคาประหยัดและคุ้มค่ากว่า เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้านอาหารข้างทาง (ตักขาย-รถเข็น-แผงลอย) เป็นต้น
2) การชะลอการเติบโตของร้านสะดวกซื้อ: ร้านสะดวกซื้อ คือช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญของกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน แต่ในปี 2563 ยอดขายของร้านสะดวกซื้อ คาดว่าจะให้ภาพการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง สาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดจากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นได้เร็วตาม
และในทางกลับกันต้องเผชิญกับความกดดันด้านกำลังซื้อ ทำให้เกิดการแย่งลูกค้ากันเองในตลาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายและลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากสินค้าค้างสต๊อก (โดยเฉพาะกับกลุ่มสินค้าที่ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน อาทิ อาหารพร้อมรับประทานแบบแช่เย็น) ส่งผลต่อรายได้และกำไรที่ได้รับต่อสาขาที่มีแนวโน้มลดลง
3) ต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น จากราคาวัตถุดิบอาหารและการขึ้นค่าจ้างแรงงาน
นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวการปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นเรื่องทำได้ยาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีการแข่งขันสูงมากอย่างอาหารพร้อมรับประทาน ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลดทอนขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ยากจะหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน อาจจำเป็นต้องพิจารณากลยุทธ์การพัฒนาสินค้าที่สำคัญ ได้แก่
1) การตั้งราคาที่ย่อมเยา ภายใต้การควบคุมคุณภาพอาหารที่เน้นถึงความสะอาดและปลอดภัย สำหรับเจาะกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง (Mass Market) ซึ่งเป็นฐานตลาดที่ใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคาและตัดสินใจเลือกซื้อง่ายขึ้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดนี้อาจเผชิญกับคู่แข่งหลากหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ กลุ่มร้านอาหารในห้าง ร้านอาหารข้างทาง ฟู้ดเดลิเวอรี่ รวมถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
ดังนั้น การกำหนดราคาในระดับที่ผู้บริโภคยอมรับได้ อาจขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบและการตลาดของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่อาหารพร้อมรับประทานรูปแบบพรีเมียม …เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่มีความเต็มใจจ่ายสูง แม้ว่าฐานลูกค้าจะน้อยกว่า แต่กำลังซื้ออาจไม่ได้รับผลกระทบมากจากภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การเจาะตลาดกลุ่มนี้ก็คงต้องเจอกับการแข่งขันของผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานด้วยกันเอง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเน้นไปที่อาหารพร้อมรับประทานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอาหารสุขภาพหรือใช้นวัตกรรมที่โดดเด่นกว่าอาหารพร้อมรับประทานในรูปแบบทั่วไป
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



