จำนวน ATM ของประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไรของโลก ? พร้อมวิเคราะห์ โครงการ ATM สีขาว

ไทยมีตู้ ATM มากเป็นอันดับ 18 ของโลก มีมากแต่กระจุกแค่บางพื้นที่ แถมคนไทยยังจ่ายค่าธรรมเนียมกระจายอีกต่างหาก แล้วโครงการ ATM สีขาว ที่ระบบธนาคารร่วมกันทำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้มากน้อยแค่ไหน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เผย คนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินได้ทั่วถึง แม้มีเครื่อง ATM ใช้ทั้งประเทศมากติดอันดับ 18 ของโลก ซึ่งมากกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์ ราวสองถึงสามเท่า

เหตุเพราะมีการกระจุกตัวของ จำนวน ATM กว่า 70% ในขณะที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนอยู่ห่างไกลจาก ATM

ข้อมูลล่าสุดจาก IMF พบว่าประเทศไทยมี ATM 115 เครื่องต่อประชากรผู้ใหญ่ 1 แสนคน ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับอังกฤษ เยอรมนี และมากกว่าประเทศสิงคโปร์ 2 เท่า มากกว่ามาเลเซียและเนเธอร์แลนด์ถึง 3 เท่า

สะท้อนว่าประเทศไทยตอบโจทย์ในด้านปริมาณ แต่ในด้านคุณภาพหรือประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จาก ATM ยังไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก

เพราะ ATM ยังไม่กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ จนอาจเกิดการวางทับซ้อน มีภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงและนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

แล้ว จำนวน ATM ทับซ้อนกันอย่างไร

ปัจจุบันระบบธนาคารไทยมี ATM 53,808 เครื่อง พบว่า 68% หรือ 28,672 เครื่องตั้งอยู่ในต่างจังหวัด และอยู่ในกรุงเทพฯ 1.3 หมื่นเครื่อง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่ 70% ของเครื่อง ATM กระจุกตัววางทับซ้อนกัน

พบว่า 70% ของ ATM ทั้งหมดในประเทศมีวางทับซ้อนกันมากกว่า 3 เครื่องในรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงการกระจุกตัว

สำหรับในเขตกรุงเทพฯ พบว่าจุดที่มี ATM ทับซ้อนมากที่สุด คือย่านสยามสแควร์ มี ATM ถึง 150 เครื่อง เรียกได้ว่าแทบเดินชนตู้ ATM

ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด พบว่ามี 18,000 ชุมชน ที่มีประชากร 10 ล้านคน อยู่ห่างจากจุด ATM เกิน 5 กิโลเมตร

กรณีตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนได้แก่ ตำบลแม่อุสุ อ. ท่าสองยาง จ. ตาก มีประชากร 17,000 คน ที่ระยะทางจาก ATM ที่ใกล้ที่สุดคือห่างไปจากที่อยู่อาศัยถึง 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง ไปกลับก็เสียเวลาไปครึ่งวัน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การถูกโกงจากการฝากผู้อื่นไปกดเงินแทน

แล้วโครงการ ATM สีขาวนี้จะช่วยอย่างไร

สำหรับ ATM สีขาว (White Label ATM) หรือโครงการใช้เครื่อง ATM ร่วมกันในระบบธนาคารสามารถตอบโจทย์การกระจายการเข้าถึงบริการการเงินและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

โดย TMB Analytics มองการใช้โมเดลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ

1. สามารถลดค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายถึง 22,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าการซื้อ LTF/RMF ทั้งปีของคนไทยโดยรวม

ซึ่งการที่สามารถลดค่าธรรมเนียมได้ก็เพราะธนาคารจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับ ATM ลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 28,500 ล้านบาท (ประกอบด้วยค่าเช่า 8.5 พันล้านบาท และค่าบริหารจัดการเงินสด 2 หมื่นล้านบาท) ซึ่งธนาคารจะส่งผ่านผลประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนไปยังผู้ใช้บริการได้

2. สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินของคนไทยได้ดีขึ้น โดยสามารถนำเครื่อง ATM ที่วางทับซ้อนไปไว้ในชุมชนที่ยังขาดแคลน ช่วยให้ ATM เข้าถึงทุกพื้นที่ได้มากขึ้น

จากปัจจุบันระยะทางเฉลี่ยจากชุมชนถึงเครื่อง ATM ที่ใกล้ที่สุดคืออยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร ทำให้มีจำนวนชุมชนที่มีระยะห่างจาก ATM เกิน 0.5 กิโลเมตรถึง 42,000 ชุมชน

ซึ่งถ้ามีโครงการ ATM สีขาว จะสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดวาง ATM ในจุดที่ขาดแคลนซึ่งจะช่วยย่นระยะทางเฉลี่ยจากชุมชนถึง ATM เหลือเพียง 300 เมตรหรือเทียบได้กับสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินของคนไทยได้ถึง 10 เท่า และลดจำนวนชุมชนที่มีระยะห่างจาก ATM เกิน 0.5 กิโลเมตร อยู่ที่ 7,000 ชุมชน

  • ATM ทั่วประเทศ มีปริมาณการทำธุรกรรมมากกว่า 2.2 พันล้านครั้ง/ปี
  • คนไทยจ่ายค่าธรรมเนียมรวมแล้วกว่า 22,000 ล้านบาท/ปี

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน