“สิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องรีบทำคือ สร้างการหาโอกาสเติบโตทางธุรกิจในรูปแบบใหม่โดยเร็ว เพื่อให้ทันกับผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับธนาคาร”

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ได้บอกกับเราถึงการปรับเปลี่ยนหน่วยงาน SCB10X เป็นบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี และจดทะเบียนในรูปบริษัทเมื่อ 7 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยแต่เดิม SCB10X เป็นหน่วยงานภายในธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ธนาคารได้จัดตั้งขึ้นมาในปี 2561 เพื่อค้นหาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัลใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่อง Digital Lending ที่เข้ามาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินเชิงยุทธศาสตร์ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ในอนาคต

ก่อนหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะจัดตั้งหน่วยงาน SCB10X ในปี 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เคยจัดตั้งบริษัทลูกอย่าง Digital Ventures และ SCB ABACUS ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นการสร้างนวัตกรรมการเงินดิจิทัลทั้งสิ้น

 

การจัดตั้งบริษัท เท็นเอกซ์ จำกัด ใช้เงินทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ถือหุ้นโดยธนาคารไทยพาณิชย์ 100%

เมื่อเท็นเอกซ์เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทโฮลดิ้ง จำกัด ทำให้การทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม

อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ได้เปิดเผยว่าจากนี้ต่อไป บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด จะทำหน้าที่

1. ดูแลบริษัทเทคโนโลยีในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งหมด ประกอบด้วย Digital Ventures, SCB Abacus, MONIX

2. เข้าลงทุนพัฒนาในธุรกิจ Tech Startup ทางการเงิน และที่เกี่ยวข้องกับการเงินในช่วงเริ่มต้น

รวมถึงลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อหานวัตกรรมที่เหมาะสมเข้าไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้หลักให้กับธนาคารในอนาคต

เพราะถ้าวันนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่เร่งติดเครื่องใน Tech Startup เพื่อหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ธนาคารอาจจะพลาดพลั้งเสียโอกาสให้กับนอนแบงก์ที่เริ่มเข้ามากินส่วนแบ่งจากธนาคารทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะส่วนแบ่งทางด้านสินเชื่อซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรได้สูงจากดอกเบี้ยของสินเชื่อ

การลงทุนใน Tech Startup ของเอสซีบี เท็นเอกซ์ เป็นเพียงการนำเงินเข้าไปลงทุนส่วนหนึ่งให้กับบริษัท Tech Startup เพื่อให้ Tech Startup สามารถพัฒนาไอเดียและนำไอเดียไประดมทุนเพิ่มจากนักลงทุนอื่นได้

โดย Tech Startup ที่อารักษ์สนใจ ได้แก่

Tech Startup ที่มีประสบการณ์

เช่น ประสบการณ์ในการทำงานบริษัทมาในระยะเวลาหนึ่ง และต้องการก้าวขึ้นมาเป็น Tech Startup จากไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่ขาดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การจัดการ และเงินลงทุน

Zombie Startup ซึ่งเป็น Startup ที่ทุ่มเทให้กับธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่สามารถพาธุรกิจให้เติบโตได้ ทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจที่มีไอเดียที่น่าสนใจ

-คนไทยที่มีความรู้ความสามารถและไอเดีย ที่ต้องทำงานกับบริษัท Tech Company ในต่างประเทศ และไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ เพราะไม่มีตำแหน่งมารองรับ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรกของบริษัท เท็นเอกซ์ จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์จะวางเงินลงทุนในบริษัท เท็นเอกซ์ จำกัด รวม 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนในบริษัท Tech Startup ต่างๆ เป็นเวลา 3 ปี        

นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด จะประกอบด้วย การลงทุน 3 รูปแบบ ได้แก่

1. Venture Builder (VB)

การลงทุนร่วมสร้างธุรกิจประเภท Tech Startup ใหม่ๆ ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นเรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมธนาคาร โดยจะเข้าไปลงทุนในด้านของเงินลงทุน ทีมงาน การเข้าถึงเทคโนโลยี การนำเสนอธุรกิจสู่ตลาด รวมถึงแชร์เซอร์วิสอื่นๆ เช่น ดาต้าเบสของฐานลูกค้าธนาคาร เพื่อให้เจ้าของไอเดียนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นบริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

2. Strategic Investment and Partnership

จับมือกับบริษัท Tech Company ขนาดใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับธนาคารไทยพาณิชย์

3. Venture Capital (VC)

การลงทุนในบริษัท Tech Company และ Startup ทั่วโลก เน้นการลงทุนที่สามารถช่วยบริษัท Tech Company และ Startup เติบโตยิ่งขึ้น 

 

เหตุผลที่ไทยพาณิชย์จำเป็นต้องจับเอสซีบี เท็นเอกซ์ ขึ้นเป็นรูปแบบบริษัทจำกัด แทนหน่วยงานหนึ่งในไทยพาณิชย์ มาจาก

 

1. ด้านการบัญชีธนาคาร

ที่ผ่านมาการที่เอสซีบี เท็นเอกซ์เป็นหน่วยงานในธนาคารไทยพาณิชย์ การให้เงินสนับสนุนหน่วยงานเอสซีบี เท็นเอกซ์ หลักการบัญชีได้ตัดเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งทำให้กระทบกับผลประกอบการของธนาคาร

การที่เอสซีบี เท็นเอกซ์จัดตั้งเป็นรูปแบบบริษัท การลงเงินกับเอสซีบี เท็นเอกซ์ ในรูปแบบนี้ด้านการบัญชีจะตีความเป็นสินทรัพย์จากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจ ในรูปแบบเดียวกับที่ธนาคารไทยพาณิชย์เข้าไปซื้อหุ้น หรือลงทุนในบริษัทต่างๆ ซึ่งจะไม่ทำให้กระทบกับยอดตัวเลขของผลประกอบการ

2. ลดแรงกดดันจากบอร์ดธนาคารเพื่อหาไอเดียที่มีพลัง

การเป็นธนาคารจำกัดมหาชน สิ่งที่ถูกตั้งคำถามเมื่อเสนอโครงการใหม่ๆ คือ กำไร และรายได้ที่จะได้รับกลับมา และถ้าไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างรวดเร็ว เจ้าของโครงการจะโดนกดดันจากบอร์ดธนาคาร และทำให้การคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เกิดหยุดชะงัก

ซึ่งในธุรกิจ Startup จะมองธุรกิจคนละแบบกับธนาคาร ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะยอมขาดทุน เพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต อย่างเช่นในวันนี้ลาซาด้า ช้อปปี้ และอื่นๆ ยังคงขาดทุน แม้จะทำธุรกิจมานานหลายปี เพราะเขาเชื่อว่าหลังจากที่ธุรกิจผ่าน curve ท้องช้างในช่วงการขาดทุนมาแล้วจะเติบโตและสร้างผลกำไรกลับมาอย่างมหาศาลและรวดเร็ว

ทั้งนี้รายได้ของเอสซีบี เท็นเอกซ์จะเกิดขึ้นหลังจากที่ Tech Startup สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการออกมาในรูปแบบคอมเมอร์เชียลได้ เพื่อขายบริการนี้กลับไปให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือบริษัทอื่นๆ ที่สนใจ

 

Marketeer FYI

ชื่อ 10X มีที่มา

  • 10 แทนความหมายของ เลข 1 และ 0 ที่เป็นเลขฐานสองในทางคอมพิวเตอร์ สื่อถึง Tech และ Tech Company 
  • 0X แทนความหมายของ คน (หากมองในแนวนอน)

10X จึงหมายถึงการรวมตัวของเทคโนโลยีและคนเข้าด้วยกัน ซึ่งกลายเป็นที่ที่ทั้งเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนคน และคนช่วยสนับสนุนและสรรค์สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ

และยังแทนความหมายของ Invest in Exponential Opportunities เป็นการตอกย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการลงทุนที่สามารถสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online