นับเป็นก้าวย่างสำคัญด้านเทคโนโลยีเมื่อนวัตกรรม 5G ถูกนำมาใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในไทย ด้วยความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำอย่าง เอไอเอส, เอสซีจี และมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่ได้ร่วมกันพัฒนารถยกต้นแบบผ่านทางไกลบนเครือข่าย เอไอเอส 5G จากเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ-โรงงานของเอสซีจี จ. สระบุรี
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินหลายคนพูดถึง 5G ในบทบาทของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย ช่วยยกระดับการแข่งขันในหลายธุรกิจ ตลอดจนมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยกันอยู่บ่อยๆ ขณะที่เหล่าโอเปอเรเตอร์ต่างก็ประกาศสู้ศึก 5G หวังพาประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างแท้จริง
สำหรับ เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider เบอร์หนึ่งของไทย ตลอดทั้งปี 2562 ที่ผ่านมา ก็ได้ปฏิบัติภารกิจเปิดโลกทัศน์ให้คนไทยทั่วทุกภูมิภาคได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตยุค 5G เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้มากขนาดไหน
ต้นแบบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมรายแรก
ล่าสุด เปิดศักราชใหม่ ปี 2563 เอไอเอส ไม่ใช่เพียงแค่พาคนไทยไปรับชมการทดลองทดสอบ Use Case แต่พามาชมการใช้งาน 5G จริง (Real Case) เป็นครั้งแรก โดยเริ่มต้นที่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งงานนี้ เอไอเอส ผสานเอสซีจี พร้อมด้วย ม.อ. ร่วมกันพัฒนารถยกต้นแบบ (Forklift) ให้สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G ได้สำเร็จ
ภายในงาน มีการไลฟ์สดสาธิตการควบคุมรถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลบนเครือข่าย 5G รถจากเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ–โรงงานของเอสซีจี จ. สระบุรี ที่มีระยะห่างประมาณ 130 กม. โดยผู้ควบคุมรถไม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบ ‘เรียลไทม์’ และ ‘แม่นยำ’
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า “5G คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขีดความสามารถการเชื่อมต่อ IoT และเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียร AIS ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่เสมอ เพื่อเป็นแกนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0”


5G ไปได้สวย ต้องมีพาร์ตเนอร์
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ที่ผ่านมามีเพียงการทดลองทดสอบ 5G เท่านั้น การสาธิตการควบคุมรถ Forklift นี้จึงเป็นถือเป็นก้าวสำคัญของการนำ 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย แต่ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจอย่างเอสซีจี และภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เข้ามาร่วมกับเอไอเอสในการคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต นำโดยเทคโนโลยี 5G ในการทดลองทดสอบบนสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช.
“การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เอไอเอส เองมีพันธมิตรมากมายครบทุกด้านที่พร้อมร่วมมือพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม 5G เราจึงมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรม 5G นี้” นายวสิษฐ์กล่าว
อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “เอสซีจี มุ่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะ 5G ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แพ็กเกจจิ้งและเคมิคอลล์ นอกจากการพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลแล้ว ในอนาคตจะมีการต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจีทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้น เพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างาน”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการ อินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล เราทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อส่งมอบต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งานได้จริง สำหรับงานวิจัยพัฒนานี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก Innovation hub กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำ platform ระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับ ระบบควบคุม latency ต่ำ ผ่านทางไกลบนเครือข่าย 5G AIS นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต”
ในวันนี้ เอไอเอส, เอสซีจี และ ม.อ.ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ สัมผัสถึงประสิทธิภาพของนวัตกรรม 5G ได้ชัดขึ้น จาก Use Case ก้าวสู่ Real Case ที่ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่า 5G ที่มีไม่ใช่แค่ใช้ได้ แต่ต้องอยู่บนเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรด้วย
อนาคตอันใกล้ เอไอเอส บอกกับเราว่าจะได้เห็น Real Case ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น…ถึงตอนนั้นแล้ว Marketeer จะกลับมาเล่าให้ฟัง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



